21 ต.ค. 2567 สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Elon Musk’s daily $1 million giveaway to registered voters could be illegal, experts say ระบุว่า อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีอย่าง SpaceX และเทสลา รวมถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ X ประกาศเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 ว่า ตนจะมอบเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 33 ล้านบาท) ต่อวัน ให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐที่มีการแข่งขันสูงระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต
มัสก์ ซึ่งประกาศจุดยืนสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ขณะนี้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน โดยทรัมป์หวังจะชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2567 เพื่อกลับมานั่งเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาวสมัยที่ 2 โดยในคำกล่าวของมัสก์ อ้างถึงคำร้องที่เปิดตัวโดยคณะกรรมการดำเนินการทางการเมืองของเขา ซึ่งยืนยันการสนับสนุนสิทธิในการพูดและพกอาวุธ เว็บไซต์ซึ่งเปิดตัวก่อนกำหนดเส้นตายการลงทะเบียนไม่นาน ระบุว่า เฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐเพนซิลเวเนีย จอร์เจีย เนวาดา แอริโซนา มิชิแกน วิสคอนซิน และนอร์ทแคโรไลนาเท่านั้น
“เราต้องการพยายามให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่าหนึ่งล้านคน หรืออาจจะ 2 ล้านคนในรัฐสมรภูมิต่างๆ ลงนามในคำร้องเพื่อสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เราจะมอบเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบบสุ่มให้กับผู้ที่ลงนามในคำร้องทุกวัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันเลือกตั้ง” มัสก์ กล่าว
มัสก์ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้บริจาคเงินมากกว่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.4 พันล้านบาท ให้กับองค์กรหรือคณะบุคคลที่ที่สนับสนุนการหาเสียงของทรัมป์ และกล่าวว่า ตนหวังว่าการจับสลากจะช่วยเพิ่มการลงทะเบียนในหมู่ผู้ลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์ได้ เมื่อไม่นานนี้ มัสก์ได้เริ่มหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยจัดงานที่สนับสนุนทรัมป์ โปรโมตคำร้องของเขา และเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2563
“นี่เป็นการขอเพียงครั้งเดียว แค่ไปที่นั่นและพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว คนรู้จัก และคนที่คุณพบตามท้องถนน และ … โน้มน้าวพวกเขาให้ลงคะแนนเสียง แน่นอนว่าคุณต้องลงทะเบียน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาลงทะเบียนแล้ว และ … ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาลงคะแนนเสียง” มัสก์ กล่าวย้ำ
รางวัล 1 ล้านเหรียญแรก ถูกมอบไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 โดยมัสก์มอบเช็คขนาดใหญ่ให้กับผู้สนับสนุนทรัมป์ในงานของเขาที่เมืองแฮร์ริสเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ตามด้วยล้านที่สองในวันที่ 20 ต.ค. 2567 แจกกันที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งในวันเดียวกัน เริ่มมีเสียงทักท้วงจาก จอช ชาพิโร่ (Josh Shapiro) ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าการกระทำของอีลอน มัสก์นั้นน่ากังวล
ตามกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่า “ผู้ใดจ่าย หรือเสนอที่จะจ่าย หรือยอมรับเงิน เพื่อลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี” ซึ่ง ดีเร็ค มุลเลอร์ (Derek Muller) อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายนอร์เทอดาม (Notre Dame Law School) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์เทอดาม รัฐอินเดียนา ตั้งข้อสังเกตว่า การจำกัดรางวัลหรือของแจกให้เฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ลงทะเบียนแล้วหรือเฉพาะผู้ที่ลงคะแนนเสียงแล้วเท่านั้น เป็นที่มาของความกังวลเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
ในการให้สัมภาษณ์กับ CNN มุลเลอร์ ให้ความเห็นว่า การเสนอเงินให้กับผู้ที่ลงทะเบียนแล้วก่อนที่จะมีการประกาศรางวัลเงินสดอาจถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐบาลกลาง แต่การเสนอเงินดังกล่าวอาจรวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนด้วย และแรงจูงใจที่อาจเกิดขึ้นในการมีผู้ลงทะเบียนใหม่นั้นเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่ามาก ทั้งนี้ รัฐส่วนใหญ่ถือว่าการจ่ายเงินให้ผู้คนมาลงคะแนนเสียงเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญา อย่างไรก็ตาม อัยการของรัฐบาลกลางไม่ค่อยฟ้องคดีสินบนในช่วงเลือกตั้ง และศาลฎีกาได้จำกัดขอบเขตของกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินบนให้แคบลง
เดวิด เบ็คเกอร์ (David Becker) อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมที่รับผิดชอบคดีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการเลือกตั้งซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด กล่าวว่า นี่ไม่ใช่คดีที่สูสีกันมากนัก นี่คือสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อทำให้การกระทำดังกล่าวกลายเป็นอาชญากรรม ข้อเท็จจริงที่ว่ารางวัลดังกล่าวมีให้เฉพาะกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนแล้ว ใน 1 ใน 7 รัฐสำคัญที่อาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ามัสก์ตั้งใจที่จะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายได้
“ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดเส้นตายการลงทะเบียนบางส่วน ซึ่งช่วยยืนยันภาพลักษณ์ที่ว่ารางวัลเงินสดได้รับการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้มีการลงทะเบียนมากขึ้น” เบ็คเกอร์ กล่าว
ริค ฮาเซน (Rick Hasen) อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) รัฐแคลิฟอร์เนีย ฟันธงว่าการกระทำของอีลอน มัสก์ ผิดอย่างชัดเจน โดยมัสก์นั้นใช้วิธีจับสลากลุ้นรางวัล ซึ่งคู่มืออาชญากรรมการเลือกตั้งของกระทรวงยุติธรรมระบุโดยเฉพาะว่าการเสนอการเสี่ยงโชคที่มีจุดประสงค์เพื่อจูงใจหรือให้รางวัล ที่มีผลต่อลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
โจเซลิน เบนสัน (Jocelyn Benson) เลขาธิการรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเดโมแครต คู่แข่งกับพรรครีพับลิกันของทรัมป์ กล่าวเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 ว่า อีลอน มัสก์ เผยแพร่ข้อความที่เป็นอันตราย เกี่ยวกับความถูกต้องของรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หลังจากที่มัสก์อ้างเท็จว่ามีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่าพลเมืองในรัฐ
-/-/-/-//-/-/-/-/-/--/-//-/-/-/--//-/-
ขอบคุณเรื่องจาก :
https://edition.cnn.com/2024/10/20/politics/elon-musk-voter-giveaway-legal-questions/index.html
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี