หนุงหนิง : ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน พูดคุยผ่านล่ามกับประธานาธิบดีวลาดีมีร์ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ ที่เมืองคาซานประเทศรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. ซึ่งในที่ประชุม มีการเปิดเผยว่า มีประเทศต่างๆ 13 ประเทศ ถูกเพิ่มเป็นพันธมิตรในฐานะประเทศหุ้นส่วน
คาซาน/จาการ์ตา (เอพี/รอยเตอร์ส) -4 ประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน รวมถึงไทย สมัครเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์ แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและกระจายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์โลก
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และประเทศไทย 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน กลายเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ บริกส์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่จะมาถ่วงดุลกับชาติตะวันตก ในการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์วันสุดท้าย ที่เมืองคาซานของรัสเซีย โดยบัญชี X อย่างเป็นทางการของการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ครั้งนี้ เปิดเผยว่า มีประเทศต่างๆ 13 ประเทศ ถูกเพิ่มเป็นพันธมิตรในฐานะประเทศหุ้นส่วน นอกจาก 4 ชาติสมาชิกอาเซียนแล้ว อีก 9 ประเทศที่เหลือ ได้แก่ แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา และอุซเบกิสถาน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 13 ประเทศ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของกลุ่มบริกส์ที่ตั้งขึ้นในปี 2549 ซึ่งประเทศสมาชิกเริ่มต้นประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ต่อมามีแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2553 ขณะที่อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่านและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือยูเออี เข้าเป็นสมาชิกในปีนี้ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่มบริกส์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 28 ของเศรษฐกิจโลก
โมฮัมหมัด ฮาซาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกล่าวว่า ขณะนี้มาเลเซียพอใจกับโอกาสทางการค้าที่ดียิ่งขึ้นเนื่องจากกลุ่มบริกส์มีประชากรรวมกันกว่า3,200 ล้านคน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอันวาร์ อิบราฮิม ยืนยันเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า มาเลเซียได้สมัครเพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์แล้ว
กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ว่า อินโดนีเซียแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ บริกส์ ซึ่งจะเป็นหนทางในการเสริมสร้างแข็งแกร่งให้กับประเทศเหล่านี้ร่วมกัน บริกส์ เข้ากันได้พอดีกับโครงการหลักของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การขจัดความยากจนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ในส่วนของประเทศไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม ขณะที่เวียดนาม มีนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิญ เป็นตัวแทนเข้าร่วม
นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมืองอิสระ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอของสิงคโปร์ว่า มีความเป็นไปได้ที่สมาชิกอาเซียนทั้ง 4 ประเทศ ต้องการเพิ่มโอกาสทางการค้าและกระจายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวต่อที่ประชุมที่จัดขึ้นระหว่างระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคมว่า มีประเทศมากกว่า 30 ชาติแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจะขยายเพิ่มสมาชิกอย่างไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี