สื่อนอกจับตา"ไทย-กัมพูชา" ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนขุมทรัพย์ทางทะเลอีกครั้งในรอบ 50 ปี "ไทย"เล็งใช้ประโยชน์แหล่งก๊าซ 3 แสนล้านเหรียญฯ ที่หยุดชะงักมานานเนื่องด้วยข้อพิพาทกับกัมพูชา
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ในสหรัฐฯ รายงานว่า นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เผยว่า การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันคือ 1 ใน 10 เป้าหมายเร่งด่วนของรัฐบาล เนื่องจากไทยต้องการเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองที่กำลังลดลง และเพื่อควบคุมค่าไฟฟ้าและค่านำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงที่กำลังเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นพ้องกันเพื่อหารือวิธีการนำทรัพยากรจากพื้นที่ทับซ้อนขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติราว 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรลมาขึ้นมาใช้ร่วมกัน แต่การเจรจาก็ไม่ง่าย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีประเด็นพิพาททางการทูต และประเด็นความอ่อนไหวต่อทั้งสองประเทศเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ส่งผลให้การเจรจาชะงักลงตั้งแต่ปี 2001 เมื่อทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่าการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตจะต้องหารือควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน
อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางคนในไทยมองว่า ความเร่งด่วนของแหล่งพลังงานสำรองและการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลง และการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต จะช่วยให้การเจรจาก้าวหน้า จนทั้งสองประเทศเริ่มเดินหน้าสำรวจได้ทันที และแก้ไขปัญหาเรื่องอาณาเขตในภายหลัง
พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย กล่าวในสภาเมื่อเดือนที่แล้วว่า ทั้งสองประเทศไม่จำเป็นต้องแก้ไขเรื่องความเห็นเรื่องเขตแดนที่แตกต่างกัน แค่ต้องพูดคุยกันอย่างในฐานะเพื่อนบ้าน และพยายามใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค
ขณะที่ เปญ โบนา โฆษกรัฐบาลกัมพูชา เผยกับบลูมเบิร์ก ว่า กัมพูชาพร้อมจะหารือเรื่องนี้กับไทยหากรัฐบาลใหม่ของไทยพร้อม กัมพูชาก็พร้อมจะเจรจาต่อทันที
ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานที่รองรับความต้องการใช้พลังงานของไทยถึงร้อยละ 60 โดยการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานดังกล่าว และในอัตราการบริโภคในปัจจุบันนี้ ก๊าซธรรมชาติของไทยอาจหมดลงภายใน 5-10 ปี ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของไทยในการตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น เนื่องจากไทย ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และการท่องเที่ยว พยายามดึงดูดการลงทุนด้านศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาก
คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเผยว่า หากเร่งไม่ลงมือทำ ไทยจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากกว่านี้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าแหล่งพลังงานที่ยังไม่ได้สำรวจนี้ จะช่วยขยายอุปทานก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของไทยไปได้อีกอย่างน้อย 20 ปีการแบ่งปันผลประโยชน์
พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเผยว่า ทั้งไทยและกัมพูชาริเริ่มโมเดลพื้นที่ทับซ้อนซึ่งมีแหล่งพลังงานมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านล้านบาท หากการเจรจาประสบความสำเร็จจะเป็นประโยชน์กับหลายบริษัท อาทิ เชฟรอน เชลล์ และปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ได้สัมปทานในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ยังไม่สามารถลงมือสำรวจในพื้นที่พิพาท ส่วน ConocoPhillips และ TotalEnergies SE ก็มีรายงานจากสื่อท้องถิ่นว่าได้รับสัมปทานในกัมพูชา แม้ว่ากัมพูชาจะต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศแทบทั้งหมด แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่งเข้าสู่การเจรจา กัมพูชายังขาดอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แข็งแกร่ง และยังต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านในการนำเข้าพลังงานและเชื้อเพลิง ซึ่งต่างกับประเทศไทย
รายงานเมื่อปีที่แล้วของบริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ระบุว่า ไม่ว่ารูปแบบการแบ่งรายได้จะเป็นอย่างไร ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยจะต้องทำงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อน และบริษัทไทยก็จะเป็นผู้ชนะรายใหญ่
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านๆ มาเคยมีการสำรวจร่วมกัน เช่น ในปี 1979 ไทยตกลงกับมาเลเซียเกี่ยวกับเขตแดนร่วมกันในอ่าวไทยตอนล่าง โดยกำหนดให้พื้นที่ 7,250 ตารางกิโลเมตรเป็นโครงการพัฒนาร่วมกัน ส่วนข้อพิพาทกับกัมพูชานั้น โฆษกรัฐบาลไทยเผยว่า การเจรจาคือเรื่องที่นายกฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่ปฏิเสธที่จะระบุกรอบเวลาในการเจรจา
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ไทยควรหาทางแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนก่อน เหมือนที่ทำกับมาเลเซีย แล้วจึงหารือถึงผลประโยชน์ร่วมกันของการสำรวจเชิงพาณิชย์ โดย สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเผยว่า หากยังเดินหน้าต่อ แทนที่การเจรจาจะจบลง จะเป็นรัฐบาลเสียเองที่จะจบสิ้น การประนีประนอมใดๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของไทยมีแต่จะทำให้สาธารณชนไม่พอใจรัฐบาล จึงเห็นว่า ไทยต้องเจรจาเรื่องการกำหนดเขตแดนก่อน เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะลดความไม่พอใจของประชาชน
ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.bangkokpost.com/business/general/2881272/thailand-eyes-300bn-gas-field-frozen-by-cambodia-dispute
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี