ชาวญี่ปุ่นฟ้อง‘เมตา’ หลังปล่อยโฆษณาหลอกลงทุนเกลื่อนเฟซบุ๊ก ทำตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์
31 ต.ค. 2567 นสพ.Asahi Shimbun ของญี่ปุ่น รายงานข่าว Meta hit with false ad lawsuit by investment fraud victims ระบุว่า ผู้เสียหายเป็นบุคคล 29 ราย และนิติบุคคล 1 แห่ง ในพื้นที่มหานครโตเกียวและภูมิภาคคันไซ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “เมตา (Meta)” บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์อย่าง “เฟซบุ๊ก (Facebook)” และบริษัทลูกในญี่ปุ่น เนื่องจากปล่อยปละละเลยให้มีโฆษณาแอบอ้างบุคคลผู้มีชื่อเสียงเพื่อหลอกลวงให้ลงทุน
คดีนี้มีการยื่นฟ้องพร้อมกันในศาลแขวง 5 แห่ง ได้แก่ โอซากา โกเบ โยโกฮามา ชิบะ และไซตามะ เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 430 ล้านเยน หรือ 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 95 ล้านบาท) โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2567 ทีมทนายพร้อมตัวแทนโจทก์ 8 ราย แถลงข่าวเรื่องนี้ที่ จ.โอซากา โดยผู้เสียหายเปิดเผยว่า พวกตนเห็นโฆษณาบนเฟซบุ๊ก มีการอ้างชื่อและรูปภาพของนักธุรกิจชื่อดังในแดนอาทิตย์อุทัย อาทิ ทาคาฟูมิ โฮริเอะ (Takafumi Horie) ผู้ก่อตั้ง Livedoor ธุรกิจออกแบบเว็บไซต์ ยูซากุ มาเอซาวา (Yusaku Maezawa) ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ Zozotown
ซึ่งเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อและติดต่อไปยังเพจที่โฆษณาดังกล่าว ก็ถูกชักชวนให้ติดต่อผ่านแอปพลิเคชั่นสนทนาอย่าง “ไลน์ (Line)” และถูกหลอกให้โอนเงินในที่สุด โดยความเสียหายสูงสุดต่อรายอยู่ที่ประมาณ 106 ล้านเยน (ราว 24 ล้านบาท) ขณะที่ทีมทนายความชี้ให้เห็นว่ามีการตระหนักรู้ของสาธารณชนอยู่แล้วท่ามกลางการแพร่กระจายของแผนการที่คล้ายคลึงกันซึ่งใช้ชื่อของคนดังโดยหลอกลวง อย่างไรก็ตาม เมตา ในฐานะผู้ดูแลแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ต้องมีส่วนในการเยียวยาความเสียหายด้วย
ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาของญี่ปุ่น เคยมีคำพิพากษาระบุว่า “หากมีสถานการณ์พิเศษที่ทำให้ผู้รับเผยแพร่โฆษณาสงสัยว่าโฆษณานั้นเป็นความจริงหรือไม่ และหากสามารถคาดการณ์ถึงความเสียหายได้ ผู้รับเผยแพร่โฆษณามีหน้าที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาและไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาที่เป็นเท็จ” อนึ่ง คดีนี้ไม่ใช่การฟ้องครั้งแรก ย้อนไปในเดือน เม.ย. 2567 เคยมีการยิ่นฟ้องแบบเดียวกันที่ศาลแขวงโกเบมาแล้ว
ในการสู้คดีเมื่อเดือน เม.ย. 2567 ฝ่ายกฎหมายของเมตา บริษัทแม่จากสหรัฐอเมริกา อ้างว่า ภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ไม่มีหน้าที่ต้องตรวจจับโฆษณาการลงทุนที่มีปัญหาอย่างละเอียดถี่ถ้วน หรือตรวจสอบและยืนยันความจริงของเนื้อหา นอกจากนั้น ผู้เสียหายยังได้ติดต่อกับมิจฉาชีพผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์เป็นเวลานานหลังจากเห็นโฆษณาที่เป็นเท็จ ดังนั้นความเสียหายของโจทก์จึงเกิดจากการสื่อสารผ่านไลน์ และไม่เกี่ยวข้องกับการไม่ดำเนินการใดๆ ของเมตา ดังนั้นโฆษณาที่ Meta ละเลย จึงไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของความเสียหายในคดีฉ้อโกง
ในเดือน ส.ค. 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า พบเหตุหลอกลวงให้ลงทุนโดยใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ถึง 4,639 คดี เพิ่มขึ้น 4.4 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับมูลค่าความเสียหายที่เพิ่มขึ้น 5.6 เท่า เป็นจำนวนเงินสูงถึง 64,100 ล้านเยน (เกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท)
ทั้งนี้ การจัดการข้อมูลเท็จและทำให้เข้าใจผิด รวมถึงการโฆษณาที่เป็นเท็จ ถือเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เช่น เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ และเครื่องมือค้นหา ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการสื่อสารของญี่ปุ่น ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมหารือเพื่อยกร่างกฎหมายเพื่อคัดกรองการโฆษณา โดยหวังว่าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติได้ภายในปี 2568
ขอบคุณเรื่องจาก www.asahi.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี