วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานข่าว Pictures from space show mighty smog choking Lahore ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นพิษในเมืองลาฮอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นปัญจาบของปากีสถานเข้าขั้นวิกฤติ ประชากร 13 ล้านคนต้องหายใจไม่ออกมาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยดัชนีคุณภาพอากาศที่หากมีปริมาณฝุ่นพิษเกิน 300 ถือว่าอันตรายต่อร่างกาย ในเมืองลาฮอร์นั้นตรวจวัดได้เกินระดับ 1,000 ตลอดทั้งสัปดาห์แรกที่ผ่านมาของเดือน พ.ย. 2567
ทางการปากีสถานได้เร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับวิกฤติดังกล่าว ซึ่งปริมาณฝุ่นพิษที่ตรวจวัดได้ถือเป็นระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้จะเป็นเมืองที่ชินชากับการรับมือกับปัญหาฝุ่นพิษในช่วงเวลานี้ของทุกปีก็ตาม สถานศึกษาต้องปิดทำการ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปได้รับคำแนะนำให้อยู่แต่ในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่เรียกว่า “การล็อกดาวน์เพื่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งยังห้ามรถสามล้อถีบ รถบรรทุกหนัก และมอเตอร์ไซค์เข้าไปยังพื้นที่เสี่ยง
สุดสัปดาห์นี้ ศาลสูงเมืองลาฮอร์ ยังออกคำสั่งให้ตลาดทั้งหมดในแคว้นปัญจาบ ปิดทำการภายในเวลา 20.00 น. ของทุกวัน และปิดทำการตลอดทั้งวันในวันอาทิตย์ นอกจากนี้ สวนสาธารณะและสวนสัตว์ยังปิดทำการจนถึงวันที่ 17 พ.ย. 2567 ขณะที่ ภวัน คุปตะ (Pawan Gupta) นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอมริกา (NASA) ระบุว่า ปัญหาอยู่ที่ระดับมลพิษในเมือง ซึ่งโดยปกติจะสูงสุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ดังนั้นนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น วันที่มีมลพิษสูงที่สุดอาจยังรออยู่ข้างหน้า
ภาพถ่ายดาวเทียมของ NASA ยังเผยให้เห็นฝุ่นพิษปกคลุมหนาทึบเหนือท้องฟ้าของเมืองลาฮอร์ นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นทั้งชั้นหมอกควันหนาทึบและความเข้มข้นของไฟป่าหลายระดับในภูมิภาคระหว่างกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย และเมืองลาฮอร์ของปากีสถาน ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน จะเห็นท้องฟ้าแจ่มใส และที่สำคัญคือ ไฟป่าไม่ได้มากเท่าปัจจุบัน โดยสาเหตุสำคัญของวิกฤติฝุ่นพิษ มาจากไฟป่าที่เกิดจากการเผาในที่โล่งโดยเกษตรกรทั้งในอินเดียและปากีสถาน ซึ่งเป็นวิธีที่รวดเร็วในการเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป
หิเร็น เจตวา (Hiren Jethva) นักวิจัยอาวุโสจาก Goddard Space Flight Center และ Morgan State University ของ NASA กล่าวว่า ในปี 2567 น่าจะเกิดไฟไหม้ประมาณ 15,500-18,500 ครั้ง ขณะที่หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของปากีสถาน ระบุว่า หมอกควันประมาณร้อยละ 30 ของเมืองลาฮอร์ข้ามพรมแดนมาจากอินเดีย ซึ่งในปี 2567 รัฐบาลอินเดียงัดยาแรงเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเพิ่มค่าปรับเป็น 2 เท่าสำหรับเกษตรกรที่ถูกจับได้ว่าลักลอบเผาตอซังข้าว
อย่างไรก็ตาม มลพิษทางอากาศของเมืองลาฮอร์ส่วนใหญ่มาจากมอเตอร์ไซค์ 5 ล้านคันและไอเสียของยานพาหนะอื่นๆ อีกหลายล้านคัน โดยคำวินิจฉัยของศาลสูงเมืองลาฮอร์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ระบุว่า มลพิษจากการจราจรที่หนาแน่นเป็นสาเหตุหลักของฝุ่นพิษในเมือง อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมในเขตชานเมือง เช่น เตาเผาอิฐที่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง และในช่วงเดือนสุดท้ายของปียังมีลมหนาวที่พัดลงมาจากทิเบต ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงขึ้น
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ตามหลักเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ระบุวา หากอยู่ที่ 50 หรือต่ำกว่าแสดงว่าคุณภาพอากาศดี ในขณะที่ค่าที่สูงกว่า 300 แสดงว่าเป็นอันตราย ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ระดับความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 ควรต่ำกว่า 5 แต่ข้อมูลจาก อาบิด โอมาร์ (Abid Omar) ผู้ก่อตั้งโครงการคุณภาพอากาศของปากีสถาน ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ 143 แห่งทั่วประเทศ กล่าวว่าค่าที่อ่านได้ในลาฮอร์ สูงเกินดัชนีทุกวันในเดือนพฤศจิกายน
โดยบางพื้นที่ในลาฮอร์เกิน 1,000 และในวันที่ 7 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา พบค่าที่อ่านได้สูงถึง 1,917 บนมาตรา AQI ขณะที่ในวันที่ 5 พ.ย. 2567 มีรายงานพบผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเมืองลาฮอร์กว่า 900 รายด้วยอาการหายใจลำบาก ซึ่ง อิรฟาน มาลิค (Irfan Malik) แพทย์โรคปอดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลาฮอร์ เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยมีอาการหอบหืด คันคอและไอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เสียงสะท้อนจากชาวเมือง อาทิ ซาเดีย คาชิฟ (Sadia Kashif) กล่าวว่า ตนเห็นลูกๆ มีอาการไอและหายใจลำบากในช่วงนี้ ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจอันเจ็บปวดว่าอากาศเป็นพิษอย่างมาก และในฐานะแม่ ตนก็อยากเห็นลูกๆ วิ่งเล่นโดยไม่ต้องกลัวมลพิษ และตนก็ไม่ประทับใจมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล เพราะรัฐบาลสามารถปิดโรงเรียนได้ง่ายกว่าที่จะดำเนินมาตรการจริงจังเพื่อแก้ไขวิกฤต
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า เป็นเวลาหลายปีที่ทางการพยายามหาทางแก้ไขปัญหามลพิษของเมืองลาฮอร์ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าการแก้ปัญหาในระยะสั้นจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ แต่การแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ จำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ มาร์ยัม นาวาซ (Maryam Nawaz) หัวหน้าคณะผู้บริหารแคว้นปัญจาบของปากีสถาน เปิดเผยว่า ตนตั้งใจจะเขียนจดหมายถึงหัวหน้าคณะผู้บริหารรัฐปัญจาบของอินเดีย เพื่อเชิญชวนให้ใช้ "การทูตด้านสภาพอากาศ" เนื่องจากส่งผลกระทบต่อทั้งสองภูมิภาค แต่ทางอินเดียกล่าวว่า ยังไม่ได้รับคำตอบจากปากีสถานเกี่ยวกับปัญหานี้
ถึงกระนั้น อาบิด โอมาร์ (Abid Omar) ผู้ก่อตั้งโครงการคุณภาพอากาศของปากีสถาน ชี้ว่า มลพิษทางอากาศไม่ใช่ปัญหาตามฤดูกาล แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่ามันแย่ลงเรื่อยๆ โดยเดือน ต.ค. 2567 พบว่า ระดับมลพิษเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ดังนั้นรัฐบาลทั้งสองฝั่งของชายแดนต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อจัดการกับปัญหานี้
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.bbc.com/news/articles/cm20k76d5xno
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี