ส่อถูกเท? ที่ปรึกษาทีมหาเสียง‘ทรัมป์’บอกยูเครนควรคิดถึงสันติภาพมากกว่าหวังชิงดินแดนคืนจากรัสเซีย
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2567 นสพ.The Guardian ของอังกฤษ รายงานข่าว Trump ally: Ukraine focus is to achieve ‘peace and stop the killing’ อ้างความเห็นของ ไบรอัน ลันซา (Bryan Lanza) ที่ปรึกษาทางการเมืองของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สมัยที่ทรัมป์หาเสียงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2559 ที่ระบุว่า ลำดับความสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับยูเครนคือการบรรลุสันติภาพ มากกว่าการช่วยให้ได้ดินแดนซึ่งถูกรัสเซียยึดครองในช่วงเกือบ 3 ปีของสงครามรัสเซีย-ยูเครนคืนมา
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในทีมโฆษกของทรัมป์ในช่วงรอการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ ได้ชี้แจงว่า ไบรอัน ลันซา ทำงานให้ทรัมป์ในช่วงของการหาเสียง แต่ไม่ได้ทำงานให้ทรัมป์ในช่วงที่เป็นประธานาธิบดี และความเห็นของลันซาก็ไม่ได้พูดแทนทรัมป์ ทั้งนี้ ในช่วงของการหาเสียง ทรัมป์ ซึ่งต้องการกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เคยกล่าวว่า ตนต้องการหยุดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ให้ได้ภายใน 1 ปี แต่ไมได้อธิบายว่าจะดำเนินการอย่างไร
ในฝั่งของรัสเซีย มีรายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2567 ว่า เซอร์เก รีอาบคอฟ (Sergei Ryabkov) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ได้เปิดเผยว่า รัสเซียกับสหรัฐฯ มีการพูดคุยกันในทางลับเกี่ยวกับกูเครน แต่ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันภายใต้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) หรือรัฐบาลของว่าที่ผู้นำคนใหม่อย่างทรัมป์ แต่ความพร้อมของรัสเซีย อยู่ที่ข้อเสนอของทรัมป์ว่าจะเดินไปสู่การยุติปัญหาหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่การอัดฉีดความช่วยเหลือทุกประเภทให้กับยูเครน
ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่กลายเป็นการสู้รบกันของทั้ง 2 ชาติยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นขึ้นในปี 2557 ที่รัสเซียเข้ายึดครองพื้นที่คาบสมุทรไครเมียทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน จากนั้นในเดือน ก.พ. 2565 รัสเซียได้ยกกองทัพเข้ารุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงส่งฝูงโครนบรรทุกระเบิดถล่มกรุงเคียฟและอีกหลายเมืองของยูเครน โดย ไบรอัน ลันซา ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ ได้กล่าวว่า หากยูเครนต้องการได้ไครเมียกลับคืนและหวังให้สหรัฐฯ ส่งกองทัพไปช่วยรบ ก็ต้องบอกว่ายูเครนต้องรับผิดชอบเรื่องนั้นด้วยตนเอง
‘สิ่งที่เราจะพูดกับยูเครนก็คือ คุณเห็นอะไร คุณเห็นวิสัยทัศน์ที่สมจริงสำหรับสันติภาพอย่างไร มันไม่ใช่วิสัยทัศน์สำหรับการชนะ แต่เป็นวิสัยทัศน์สำหรับสันติภาพ และมาเริ่มการสนทนาอย่างจริงใจกันเถอะ’ ลันซา กล่าว
ในเดือน ก.ย. 2567 โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดีของยูเครน เสนอแนะในเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยขอให้สหรัฐฯ ใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซีย แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งนี้ พันธมิตรโลกตะวันตก อันประกอบด้วยสหรัฐฯ และกลุ่มสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) พยายามระมัดระวังท่าทีไม่ให้เข้าข่ายเป็นการเปิดสงครามโดยตรงกับรัสเซีย
มีความกังวลว่า แผนการจบสงครามรัสเซีย-ยูเครนของทรัมป์ คือการบีบให้ยูเครนยอมแพ้รัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ขณะที่ภายหลังทราบข่าว โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เซเลนสกี ได้แสดงความยินดี พร้อมกล่าวว่า ตนจำได้ว่าได้หารือครั้งใหญ่กับประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อเดือน ก.ย. 2567 ได้พูดคุยกันอย่างละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างยูเครนและสหรัฐฯ แผนชัยชนะ และวิธีที่จะยุติการรุกรานของรัสเซีย
สำนักข่าวออนไลน์ในสหรัฐฯ อย่าง Axios รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ว่าทรัมป์และเซเลนสกีได้พูดคุยกัน การสนทนาดังกล่าวซึ่งเซเลนสกีบรรยายว่ายอดเยี่ยมมาก ยังมีอีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีผู้เป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นของทรัมป์ปรากฏตัวอย่างเซอร์ไพรส์ โดยมัสก์เคยให้ดาวเทียม Starlink แก่ยูเครนฟรีในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 บริษัท SpaceX ของมัสก์ได้ป้องกันไม่ให้ดาวเทียมดังกล่าวควบคุมโดรนตรวจการณ์ของยูเครน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของยูเครนไม่พอใจ
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ทรัมป์ได้โจมตี ปธน.เซเลนสกี ของยูเครน ว่าใส่ร้ายตน และเรื่องที่ยูเครนรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ไปมากแล้วแต่ไม่ทำตามข้อตกลง ขณะที่ในเดือน ก.ย. 2567 เซเลนสกี ได้ตั้งคำถามต่อความสามารถของทรัมป์ในการยุติสงคราม โดยกล่าวถึง เจดี แวนซ์ (JD Vance ) ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผู้นำหมายเลข 2 รองจากทรัมป์ ว่า เป็นคนหัวรุนแรงเกินไป
ทำให้ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ทรัมป์ไก้กล่าวถึงผู้นำยูเครนว่า เป็นหนึ่งในนักขายที่เก่งที่สุดที่ตนเคยพบ ทุกครั้งที่เซเลนสกีเข้ามา สหรัฐฯ ก็ให้เงินไป 100,000 ล้านเหรียญ พร้อมกับถามว่าจะมีใครบ้างที่ได้รับเงินมากขนาดนั้นในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าตนไม่อยากช่วย เพราะตนรู้สึกแย่กับคนพวกนั้นมาก ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ควรปล่อยให้สงครามเกิดขึ้น เพราะสงครามนั้นคือผู้แพ้
อนึ่ง ในปี 2562 ระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ทรัมป์เคยถูกร้องเรียนให้เข้าสู่กระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี ในข้อกล่าวหาเรื่องบังคับกดดันผู้นำยูเครนเรื่องการจัดหาอาวุธ แต่ในครั้งนั้นที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สหรัฐฯ ลงมติให้ทรัมป์รอดพ้นจากข้อกล่าวหา
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.theguardian.com/us-news/2024/nov/09/trump-administration-ukraine-policy
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี