มอสโก (เอพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์)-รัสเซียประกาศจะตอบโต้อย่างสาสม หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายสงครามยูเครนครั้งสำคัญ ยอมให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่สหรัฐฯ มอบให้ยิงโจมตีในดินแดนรัสเซียได้ จับตาชาติมหาอำนาจยุโรป อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส จะเดินตามรอยสหรัฐฯ หรือไม่
รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งช่วยเหลือด้านอาวุธให้กับยูเครนมากที่สุด ได้กำหนดเงื่อนไขไม่ให้ใช้อาวุธหนักอย่างขีปนาวุธพิสัยไกลยิงโจมตีในดินแดนรัสเซีย จนกระทั่งมีแหล่งข่าวเผยว่า ไบเดน ได้อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลแบบ ATMCMS พิสัยยิงไกลราว 300 กิโลเมตร ที่มอบให้ยูเครนไปใช้โจมตีรัสเซียได้ ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศรัสเซียได้ออกแถลงการณ์ว่า การกระทำเช่นนี้เท่ากับสหรัฐฯ ได้ร่วมในสงครามโดยตรงและรัสเซียจะดำเนินการตอบโต้ที่สาสมและชัดเจน แต่จนถึงขณะนี้ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังคงเงียบอยู่และไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาปูตินเคยเตือนชาติตะวันตกว่า หากยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลต่อรัสเซีย จะเท่ากับว่า ประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงกับสงครามยูเครน-รัสเซีย
ด้าน จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า การตัดสินใจล่าสุดของไบเดนดังกล่าว เป็นไปตามคำเตือนของสหรัฐฯก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐฯ จะตอบโต้การที่เกาหลีเหนือส่งทหารไปรัสเซีย และการที่รัสเซียได้เพิ่มการโจมตีทางอากาศต่อโครงสร้างพื้นฐานทั่วยูเครน
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. เป็นวันครบ 1,000 วัน ที่รัสเซียยกทัพบุกยูเครนและเวลานี้แนวรบที่เผชิญหน้ากันอยู่ต่างหยุดชะงักไปไม่มีใครรุกคืบเพิ่มได้ แต่รัสเซียกำลังเร่งโจมตีมุ่งเน้นทำลายสาธารณูปโภคก่อนที่จะถึงฤดูหนาวอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าขีปนาวุธพิสัยไกลนี้ซึ่งมีพิสัยทำการราว 300 กิโลเมตร น่าจะมีผลมากที่สุดต่อปฏิบัติการของกองทัพยูเครนที่รุกเข้าไปยึดดินแดนในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย ซึ่งเมื่อสามารถใช้ขีปนาวุธในดินแดนนี้ได้ จะทำให้ยูเครนสามารถยึดครองไว้ได้อย่างมั่นคง หากจะมีการเจรจาในอนาคต ก็จะทำให้ยูเครนมีข้อได้เปรียบในการต่อรองเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจให้ใช้ขีปนาวุธได้ คือการที่ทหารเกาหลีเหนือไปช่วยรัสเซียรบในสงคราม โดยประเมินว่า มีจำนวนมากถึง 11,000 นาย ประจำการในภูมิภาคเคิร์สก์ในเวลานี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายให้กับรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับความขัดแย้งให้เลวร้ายขึ้น นอกจากสหรัฐฯ แล้ว จึงมีพันธมิตรตะวันตกอีกหลายประเทศ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส ที่กำลังพิจารณายินยอมให้ยูเครนใช้อาวุธหนักในดินแดนรัสเซียได้เช่นกัน โดยขีปนาวุธ “สตอร์ม แชโดว์” (Storm Shadow) ของอังกฤษและฝรั่งเศส มีพิสัยการยิงไกลเท่ากันกับของสหรัฐฯ แต่จนถึงขณะนี้ทั้งสองประเทศได้ห้ามไม่ให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธประเภทนี้โจมตีรัสเซีย แต่ถ้าหากเกิดเปลี่ยนใจและหันไปดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ก็จะถูกมองว่า เป็นวิธีที่ตะวันตกส่งสัญญาณเตือนผู้นำรัสเซียว่า รัสเซียไม่สามารถจะเอาชนะยูเครนทางการทหารได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี