จีนพบอัตรารอดชีวิตจาก 'มะเร็ง' เพิ่มขึ้น มุ่งลดความเหลื่อมล้ำของการรักษา
21 พ.ย.67 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ศูนย์มะเร็งแห่งชาติจีนรายงานว่า อัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็ง ระยะ 5 ปี ของจีนพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งได้นานอย่างน้อย 5 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40.5 ในปี 2015 เป็นร้อยละ 43.7 ในปี 2022 แต่ยังคงมีความท้าทายในการจัดการความเหลื่อมล้ำระดับภูมิภาคในการเข้าถึงการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งอย่างมีคุณภาพ
กลุ่มหน่วยงานสาธารณสุขของจีนกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งอย่างเป็นทางการ (ปี 2023-2030) ซึ่งระบุเป้าหมายอัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็ง ระยะ 5 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 46.6 ภายในปี 2030 ขณะจีนพัฒนาต้นแบบการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อยกระดับการป้องกันและช่วยตรวจพบและรักษาได้เร็ว
ข้อมูลการเฝ้าติดตามระหว่างปี 2000-2018 พบว่าอัตราอุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งพบมากในหมู่ประชากรชาวจีน ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นผลจากการปรับใช้ระบบตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทางเดินอาหารส่วนบนเพิ่มขึ้น
ด้านมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพของผู้หญิงในจีน โดยจำนวนผู้หญิงที่ได้รับประโยชน์จากโครงการตรวจคัดกรองทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นโครงการดังกล่าวในปี 2009
ข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนระบุว่า มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในจีนมากกว่า 280 ล้านครั้ง ส่งผลให้ตรวจพบโรคมะเร็งและรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง 9.02 แสนราย
อย่างไรก็ดี การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งยังคงเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการเข้าถึงที่ไม่เท่าเทียมกันและคุณภาพการตรวจคัดกรองต่ำกว่ามาตรฐาน โดยแพทย์บางส่วนตามโรงพยาบาลชุมชนและคลินิกชนบทขาดการฝึกอบรมเฉพาะทางในการวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะแรก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงวินิจฉัยผิดพลาดและตกหล่นการรักษา
ศูนย์มะเร็งแห่งชาติจึงมุ่งพัฒนาแนวปฏิบัติการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะแรก 7 ชนิด ซึ่งรวมถึงมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยแนวปฏิบัติเหล่านี้มุ่งปรับปรุงการตรวจคัดกรองและการแทรกแซงโรคระยะแรก พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ
สำหรับการลดอุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งต้องอาศัยการป้องกันอันมีประสิทธิภาพและการรักษาที่ได้มาตรฐาน โดยแม้โรงพยาบาลระดับอำเภอบางแห่งเพิ่มแผนกมะเร็งวิทยาและการฉายรังสีรักษา แต่ยังคงไม่ได้มาตรฐานการวินิจฉัยและรักษาที่จำเป็น
หลิวจินเฟิง รองหัวหน้าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน กล่าวว่าการลดความเหลื่อมล้ำต้องเสริมสร้างขีดความสามารถรักษามะเร็งในสถาบันดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิผ่านการสนับสนุนทางเทคนิค การพัฒนาผู้มีความรู้ความสามารถ และการปรึกษาหารือทางไกล เพื่อช่วยให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรทางการแพทย์
เฉินจู๋ นักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เน้นย้ำความสำคัญของการยกระดับการวิจัยโรคมะเร็ง เรียกร้องความพยายามเร่งสร้างความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีหลักและสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง
อนึ่ง จีนสร้างความก้าวหน้าอันมีนัยสำคัญในการรักษาโรคมะเร็ง พัฒนายาต้านโรคมะเร็ง และสร้างอุปกรณ์วินิจฉัยและรักษาที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น โดยจำนวนยาต้านโรคมะเร็งตัวใหม่ที่ได้รับอนุมัติในจีนตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 208 รายการ ซึ่งยาที่พัฒนาในประเทศครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ในปี 2024
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนเสริมว่าจีนจะจัดตั้งทีมงานเพื่อแก้ไขปัญหาหลักเกี่ยวกับกลไกภูมิคุ้มกันโรคมะเร็ง วิถีเมแทบอลิซึม และความท้าทายสำคัญอื่นๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี