23 พ.ย. 2567 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอรายงานพิเศษ Soldier students: Job training gives hope to Myanmar’s military defectors ว่าด้วยอดีตทหารและตำรวจชาวเมียนมา ที่ไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองและการปราบปรามประชาชน ตัดสินใจทิ้งแผ่นดินเกิด ข้ามชายแดนเข้าไปลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งที่นั่นพวกเขาได้ฝึกวิชาชีพช่างแขนงต่างๆ โดยหวังว่าจะได้กลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมียนมา ในวันที่ไฟสงครามดับมอดลง
สื่อกาตาร์บอกเล่าถึงเมืองชายแดนแห่งหนึ่งในฝั่งไทย ซึ่งไม่เปิดเผยว่าเป็นที่ใดเพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว ที่นั่นมีอดีตทหารและตำรวจชาวเมียนมาราว 10 คน มารวมตัวกันที่ร้านกาแฟเพื่อฝึกอบรมการซ่อมโทรศัพท์มือถือ โดยครูที่มาสอนก็เคยเป็นอดีตนายทหารยศร้อยเอกในกองทัพเมียนมาเช่นกัน โดย Ko Aye หนึ่งในผู้เรียน กล่าวว่า หากวันหนึ่งแผ่นดินเมียนมามีสันติภาพ ตนจะกลับไปเปิดร้านซ่อมมือถือที่นั่น และพูดอย่างติดตลกว่า แต่คงต้องเริ่มจากการซ่อมของที่พังแล้วที่บ้านของตนเองก่อน ซึ่งเจ้าตัวยังสวมเสื้อมัดย้อมที่ตัดเย็บด้วยตนเอง เป็นอีกทักษะหนึ่งที่มีด้วย
Ko Aye นั้นเป็นชายข้ามเพศ หรือบุคคลที่เพศกำเนิดเป็นหญิงแต่ผ่านกระบวนการแปลงเพศเป็นชาย เคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสนามบินในเมียนมา และมักถูกเพื่อนร่วมงานล้อเลียนเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศอยู่เสมอ จนกระทั่งเมื่อกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 จึงตัดสินใจหลบหนี โดยในช่วงแรกได้เข้าไปร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของชาวเมียนมาฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ได้รับการฝึกทักษะด้านการเป็นแพทย์สนาม และได้เห็นเหตุการณ์ที่กองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาโจมตีพลเรือนฝ่ายต่อต้านทางอากาศ
แต่แล้วท้ายที่สุด Ko Aye ในวัย 31 ปี ตัดสินใจหนีเข้าประเทศไทย ทั้งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจ ปัจจุบัน Ko Aye เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกจากโครงการฝึกอาชีพที่จัดทำโดย People’s Goal ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออดีตเจ้าหน้าที่เมียนมาที่หลบหนีจากทางการ นอกจากการซ่อมโทรศัพท์มือถือแล้ว โครงการนี้ยังเปิดสอนการซ่อมจักรยาน จักรยานไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถช่วยสร้างเส้นทางใหม่ให้กับผู้ที่ชีวิตอยู่แต่กับสงครามมาอย่างยาวนาน
ทหาร-ตำรวจหนีทัพเหล่านี้ต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อปกปิดตัวตนในการใช้ชีวิตในประเทศไทย ด้านหนึ่งเพราะกลัวถูกทางการไทยผลักดันกลับเมียนมา ซึ่งหมายถึงการต้องเผชิญบทลงโทษที่ทารุณโหดร้ายไปจนถึงการถูกประหารชีวิต อีกด้านหนึ่งก็ต้องระวังชาวเมียนมาด้วยกันที่อาจเป็นสายลับของฝ่ายรัฐบาลทหารจะแทรกซึมเข้ามาในกลุ่ม ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยนอกจากของตนเองแล้วยังรวมถึงคนในครอบครัวที่ยังอยู่ในเมียนมาด้วย
Naung Yoe ชายวัย 40 ปี อดีตนายทหารชั้นยศนายพันในกองทัพเมียนมา ก่อนจะมาร่วมก่อตั้งกลุ่ม People’s Goal กล่าวว่า เป้าหมายหลักของเราคือการให้ความหวังแก่ผู้ที่ต้องการแปรพักตร์ โดย People’s Goal ยังให้ที่พักที่ปลอดภัย การให้คำปรึกษา และการศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแก่อดีตสมาชิกกองทัพอีกด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรการฝึกอบรมยังทำหน้าที่เป็นประภาคารสำหรับทหารที่กำลังคิดจะแปรพักตร์ เนื่องจากสมาชิกกองกำลังติดอาวุธมักกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่รอพวกเขาและครอบครัวอยู่นอกโลกที่ปิดกั้นของกองทัพ
อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมียนมาจะครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารปี 2564 หรือใกล้ล่วงเข้าสู่ปีที่ 4 ที่ประเทศต้องเผชิญกับสภาวะสงครามกลางเมือง เมื่อกองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนภายหลัง อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) และใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาประท้วง ตามรายงานของผู้สืบสวนของสหประชาชาติ รายงานการทรมาน การข่มขืนหมู่ และการทารุณกรรมเด็กที่เป็นระบบได้ทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้การปกครองของกองทัพ และในทั้งสองฝ่ายของความขัดแย้งในเมียนมา เยาวชนหลายพันคนถูกหล่อหลอมจากความโหดร้าย
“คนรุ่นหนึ่งได้รับบาดแผลทางจิตใจและความรู้สึกไวต่อความรุนแรง การศึกษาของพวกเขาถูกรบกวน และยังเข้าถึงอาวุธได้ง่าย นำมาซึ่งความท้าทายอย่างใหญ่หลวงสำหรับการกลับคืนสู่ชีวิตพลเรือน” รายงานของอัลจาซีรา ระบุ
Naung Yoe ประมาณการว่า ภายในเดือน ธ.ค. 2566 มีทหาร 3,900 นาย และตำรวจ 1 หมื่นนาย หนีทัพหรือยอมจำนนหลังสถานการณ์รัฐประหาร 2564 แต่โดยความเห็นส่วนตัว ตนเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่า 15,000 คน แม้จะไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แน่นอนได้ก็ตาม อย่างไรก็ตาม กลุ่ม People’s Goal ยอมรับว่า ไม่สามารถตรวจสอบประวัติอดีตทหาร-ตำรวจหนีทัพ ว่าในช่วงที่ยังประจำการอยู่เคยกระทำสิ่งที่เป็นอาชญากรรมสงครามหรือไม่ รวมถึงไม่สามารถลงโทษได้ด้วย
“โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ก่ออาชญากรรมสงครามมักจะไม่แปรพักตร์ พวกเขาไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่นอกกองทัพ อย่างไรก็ตาม หากอดีตทหารสารภาพว่าก่ออาชญากรรม องค์กรจะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังผู้สืบสวนจากศาลระหว่างประเทศที่กำลังแสวงหาหลักฐานเกี่ยวกับอาชญากรรมดังกล่าวที่ก่อโดยกองทัพเมียนมา การแปรพักตร์ทำให้ระบอบการปกครองอ่อนแอลง และหลังการปฏิวัติ ทุกคนที่ก่ออาชญากรรมจะต้องเผชิญกับความยุติธรรม” Naung Yoe กล่าว
อดีตทหารและนักวิเคราะห์ระบุว่า กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงกับทหาร โดยปลูกฝังให้ทหารเชื่อว่าการกระทำอันนองเลือดของพวกเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและสื่อสังคมออนไลน์ทำให้การปลูกฝังดังกล่าวเจือจางลง Naung Yoe อธิบายว่า ทหารซึ่งได้รับการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดจากผู้บังคับบัญชา มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ แต่พวกเขาก็ยังตระหนักดีว่ากองทัพกำลังสังหารพลเรือน แต่ผู้บางคนยังมีช่องว่างในความรู้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราจัดการฝึกอบรมประชาธิปไตยและทำงานร่วมกับองค์กรพลเรือนเพื่อช่วยให้พวกเขาเรียนรู้
Thet Oo ชายวัย 30 ปี อดีตนายทหารยศร้อยเอกในกองทัพเมียนมา ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นครูสอนวิชาช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าการฝึกวิชาชีพช่างจะสามารถส่งเสริมให้ผู้ที่คิดจะแปรพักตร์ได้หรือไม่ แม้ว่าตนเต็มใจที่จะสอนทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หนีทัพช้ากว่าคนอื่นๆ แต่ตนก็มีเวลาไม่มากนักสำหรับผู้ที่ไม่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน และยังคงอยู่ในกองทัพ
“ผมกำลังฝึกอบรมนี้เพื่อช่วยให้ผู้แปรพักตร์สามารถดูแลตัวเองและปรับปรุงชีวิตของพวกเขา เวลาผ่านไปมากพอแล้วสำหรับผู้คนที่จะแปรพักตร์หรือไม่ ตอนนี้มีเพียงอำนาจและแรงกดดันทางทหารเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแปรพักตร์และการยอมแพ้มากขึ้น” Thet Oo กล่าว
ในตรอกซอกซอยที่มีเสียงนกหวีด เสียงพูดคุยในร้านน้ำชา และเสียงโลหะกระทบกัน ราวกับที่นี่คือย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมาซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกประมาณ 420 กิโลเมตร (260 ไมล์) ผู้แปรพักตร์ 3 คนกำลังซ่อมจักรยานไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ Zaw Gyi ชายวัย 46 ปี อดีตนายทหารสัญญาบัตรซึ่งเคยอยู่ในกองทัพมานานถึง 21 ปี ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้เข้าเรียนหลักสูตรช่างยนต์สัปดาห์ละ 6 วัน
Zaw Gyi ตัดสินใจหลบหนีเข้าประเทศไทยเมื่อเดือน พ.ค. 2565 และดำรงชีพด้วยการเป็นแรงงานก่อสร้าง เขาเล่าว่า ตนไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากภาวนาให้ได้โอกาสนี้ เพราะทางโครงการคัดเลือกผู้สมัครจำนวนมาก และแม้ว่าจะไม่ไว้วางใจ แต่ผู้คนก็ยังคงช่วยเหลือผู้แปรพักตร์ ดังนั้น เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ที่มองเราด้วยความสงสัย ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้
รายงานของสื่อกาตาร์ ทิ้งท้ายด้วยการกลับไปดูชีวิตของอดีตตำรวจอย่าง Ko Aye ซึ่งเจ้าตัวกล่าวว่า นอกจากจะได้มีวิชาติดตัวไปประกอบอาชีพแล้ว การมาเรียนซ่อมโทรศัพท์มือถือ ยังทำให้ได้พบกับมิตรภาพใหม่ๆ Ko Aye เล่าว่า ตนเคยมีพี่ชายอยู่คนหนึ่งที่เป็นทหาร แต่ถูกกองทัพจับได้ก่อนที่จะหลบหนีและไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ก็มองว่าการที่พี่ชายเลือกเส้นทางทหารหนีทัพเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
“ในฐานะตำรวจ เราควรเป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่คุกคามหรือเข่นฆ่าประชาชน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา” Ko Aye กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณเรื่องและภาพจาก
https://www.aljazeera.com/features/2024/11/23/soldier-students-job-training-gives-hope-to-myanmars-military-defectors
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี