บากู (เอพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) - ที่ประชุมแก้ปัญหาโลกร้อน คอป29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน จบลงแล้ววันที่ 24 พ.ย. หลังจากที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างแผนการเงินที่ประเทศร่ำรวยเสนอให้เงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อน แม้หลายฝ่าย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะไม่พอใจ เพราะเห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไป
หลังจากผ่านการเจรจาหารือและต่อรองกันมานานหลายวัน ในที่สุด การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ คอป29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจานก็สามารถหาข้อสรุปลงตัวได้ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 พ.ย. แม้จะต้องล่วงเลยจากกำหนดการปิดการประชุมตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมานานถึง 2 วัน
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พ.ย.ร่างข้อตกลงทางการเงินประชุม คอป29 ดังกล่าว ประเทศร่ำรวยได้เสนอให้เงินทุน 250,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 8.6 ล้านล้านบาท) ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อน แต่ประเทศกำลังพัฒนาไม่พอใจ ระบุว่า เงิน 250,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีที่ประเทศร่ำรวยเสนอมานั้นน้อยเกินไป ทำให้ต้องมีการเจรจาต่อรองยืดเยื้อมาจนถึงวันอาทิตย์ ก่อนที่ทุกฝ่ายจะได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ประเทศร่ำรวยตกลงเพิ่มเงินทุนเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 10.34 ล้านล้านบาท) ต่อปี ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อน ภายในปี 2035 ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนข้อตกลงเดิมที่ประเทศร่ำรวยจะอุดหนุนงบประมาณปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.45 ล้านล้านบาท) ให้กับประเทศยากจนแก้ไขปัญหานี้ในปี 2020 แต่ก็ดำเนินการล่าช้าไป 2 ปีกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต้องรอถึงปี 2022ที่ผ่านมา และข้อตกลงปัจจุบันจะหมดอายุลงไปในปีนี้
สำหรับประเทศที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำในด้านการให้เงินทุนสนับสนุนตามเป้าหมายดังกล่าว มี สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น รวมถึงยังเชิญประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมให้เงินทุนตามเป้าหมายนี้โดยสมัครใจด้วย เช่น จีน บราซิล
ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ในที่ประชุมยังเห็นชอบในอีกประเด็นตั้งแต่เมื่อวานนี้ ในการวางกฎระเบียบโลกสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งผู้ที่สนับสนุนในเรื่องนี้มองว่า จะช่วยสมทบงบประมาณเพิ่มให้กับกองทุนในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ ตั้งแต่การปลูกป่าทดแทนป่าเดิมที่เสื่อมสภาพ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่างๆ
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายก็ยังมองว่าข้อตกลงสนับสนุนเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อนของชาติร่ำรวยนั้นน้อยเกินไป จากข้อเสนอเดิมไปตอนแรกที่ต้องการให้ชาติร่ำรวยร่วมอุดหนุนเม็ดเงิน1,300 ล้านดอลลาร์ต่อปี (กว่า 44.2 ล้านล้านบาท) ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยกลุ่มผู้เจรจาจากแอฟริกา บอกว่าข้อตกลงนี้มาช้าเกินไป และถือว่าน้อยเกินไป ขณะที่ตัวแทนเจรจาจากอินเดียบอกว่า เงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นเหมือนเศษเงินที่จะใช้แก้ไขปัญหาโลกร้อน และแทบจะไม่ช่วยอะไรเลย มีรายงานด้วยว่า ตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกาะบางแห่งเดินออกจากที่ประชุมด้วยความไม่พอใจ
ด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เช่นเดียวกับ อันนาเลนาแบร์บ็อก รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ยอมรับว่ายังมีสิ่งต้องทำอีกมากเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนให้ลุล่วงได้ ขณะที่ เอ็ดมิลิแบนด์ รัฐมนตรีพลังงานของอังกฤษ บอกว่าหลายอย่างอาจไม่เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต้องการ แต่อย่างน้อย ที่ประชุมนี้ก็ยังสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ถือเป็นความคืบหน้าที่น่าพอใจแล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี