25 พ.ย. 2567 สำนักข่าว Firstpost ของอินเดีย รายงานข่าว What is the new law that UK is considering on drink spiking? Why now? ระบุว่า ฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2567 ว่า จะบัญญัติความผิดฐานใส่ยาหรือสารบางอย่างลงไปในเครื่องดื่มไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพื่อป้องปรามการกระทำผิดที่มุ่งเป้าหมายไปที่เหยื่อซึ่งเป็นผู้หญิง
โดยแถลงการณ์ของนายกฯ เมืองผู้ดี วันที่ 24 พ.ย. 2567 ระบุว่า รัฐบาลได้รับการเลือกตั้งมาโดยมีคำมั่นสัญญาว่าจะนำท้องถนนที่สงบสุขกลับคืนมา แต่จะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายนั้นได้หากผู้หญิงยังไม่รู้สึกปลอดภัยในเวลากลางคืน จากนั้นในวันที่ 25 พ.ย. 2567 นายกฯ จะหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานตำรวจ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านขนส่ง ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืน
“เหยื่อของอาชญากรรมนี้ประสบความยากลำบากในการออกมาเปิดเผยตัว และการดำเนินคดีก็ยากยิ่งกว่า เราต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อนำผู้กระทำความผิดที่กระทำการอันขี้ขลาดนี้มาลงโทษ ซึ่งโดยปกติแล้วเหยื่อจะเกิดกับหญิงสาวและมักกระทำความผิดทางเพศ ฐานความผิดใหม่นี้จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่านี่คืออาชญากรรม และผู้กระทำความผิดควรรู้สึกถึงความเข้มงวดของกฎหมาย” นายกฯ สตาร์เมอร์ กล่าว
แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่ากฎหมายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังเร่งผลักดันกฎหมายให้ออกมาโดยเร็วที่สุด โดยบางคนหวังว่ากฎหมายนี้จะกลายเป็นจริงภายในเดือน ธ.ค. 2567 ซึ่ง อีเว็ตต์ คูเปอร์ (Yvette Cooper) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ คุณหญิง ไดอานา จอห์นสัน (Dame Diana Johnson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการตำรวจ ต่างก็ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้
กฎหมายที่เสนอนี้ยังจัดสรรเงิน 250,000 ปอนด์ (2.64 ล้านรูปี หรือราว 11 ล้านบาท) เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมพนักงานในอุตสาหกรรมการบริการ 10,000 คน ในการเฝ้าระวังการแอบใส่ยาในเครื่องดื่มและจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่ง เคท นิโคลส์ (Kate Nicholls) ซีอีโอของ UKHospitality สมาคมผู้ประกอบธุรกิจบริการในอังกฤษ กล่าวว่า การฝึกอบรมจะรวมถึงการทำให้พนักงานตระหนักถึงอันตรายจากการใส่ยา เพื่อให้เมื่อมีคนมาที่คลับ ผับ หรือบาร์ในขณะที่มีอาการเมา
“พนักงานจะตระหนักถึงสัญญาณเตือน และสามารถซักถามอย่างเป็นส่วนตัวและเหมาะสมเพื่อระบุจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ พนักงานจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมและนำไปยังพื้นที่ปลอดภัยภายในคลับ บาร์ หรือผับ โดยไม่แยกจากเพื่อน และหากจำเป็น จะต้องติดต่อตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ” นิโคลส์ กล่าว
อีเว็ตต์ คูเปอร์ รมว.มหาดไทยของอังกฤษ กล่าวว่า การแอบใส่ยาเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและน่าวิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงและยาวนานต่อเหยื่อ ผู้คนไม่ควรต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องดื่มในคืนที่ออกไปเที่ยวกลางคืน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีขึ้นเพื่อให้เหยื่อมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะออกมาเปิดเผยตัว และเพื่อให้แน่ใจว่าตำรวจจะตอบสนองอย่างแข็งกร้าวทุกครั้งที่เกิดอาชญากรรมที่น่าสยดสยองนี้ขึ้น
ทางการอังกฤษพบรายงานพฤติกรรมการแอบใส่ยาหรือสารบางอย่างในเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือเรื่องนี้ไม่ค่อยมีการรายงานเข้ามามากนัก ตามข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2566มีการรายงานพฤติกรรมการลอบวางยา 6,732 กรณี และในจำนวนนี้ 957 กรณี ผู้ก่อเหตุใช้เข็มฉีดยาเป็นเครื่องมือ นอกจากนั้น ร้อยละ 80 ของสถานที่เกิดเหตุวางยาหรือแอบใส่ยาในเครื่องดื่ม เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่ผู้คนนิยมไปสังสรรค์ยามค่ำคืน
ผลการศึกษาวิจัยโดย Drinkaware Monitor ซึ่งเป็นแบบสำรวจตัวแทนทั่วสหราชอาณาจักรที่ศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับการดื่ม เผยให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 2.2 รายงานว่าเครื่องดื่มของตนถูกใส่สารเสพติดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ประมาณ 1.2 ล้านคนต่อปีในสหราชอาณาจักร ผลการศึกษาเดียวกันนี้ยังพบอีกว่าร้อยละ 90 ของผู้คนไม่แจ้งตำรวจหลังจากถูกใส่สารเสพติด โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าเป็นเพราะไม่เห็นเป็นประเด็น
จากการวิเคราะห์ของ Channel 4 พบว่ามีรายงานการใส่สารเสพติด 20,000 รายการระหว่างปี 2561-2565 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตกตะลึงยิ่งกว่าคือการขาดการดำเนินคดี อัตราการสืบสวนและดำเนินคดีลดลงจาก 1 ใน 25 ในปี 2561 เหลือ 1 ใน 400 ในปี 2565 โดยมีเพียง 54 กรณีที่ผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมและส่งตัวไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถึงชั้นอัยการ
แม้กฎหมายใหม่ที่รัฐบาลอังกฤษพยายามผลักดันจะพุ่งเป้าไปที่การปกป้องผู้หญิง แต่ผู้ชายเองก็อาจตกเป็นเหยื่อการแอบใส่ยาในเครื่องดื่มหรือฉีดยาได้เช่นกัน ดังกรณีของ สตีเฟน ฮาร์ท (Stephen Hart) ทูตประจำกรุงลอนดอนขององค์กรการกุศล Stamp Out Spiking เล่าว่า ตนออกไปเที่ยวกับเพื่อนที่บาร์แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน เป็นคืนธรรมดาๆ และเพื่อนของตนต้องออกจากบาร์ก่อนเวลาเพราะแฟนสาวของเขาโทรมา ขณะที่ตนอยู่ดื่มจนหมดแก้วและไม่สนใจเรื่องส่วนตัวของตนเอง ต่อมาตนรู้สึกเวียนหัวและสับสน ก่อนที่จะตื่นขึ้นมาอีกครั้งเพราะแสงแดดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง ในสภาพที่เสื้อผ้าเปื้อนเลือด และที่เคราะห์ร้ายคือกลายเป็นผู้ติดเชื้อ HIV (เอดส์)
หลายคนที่เคยตกเป็นเหยื่อแบบเดียวกัน บอกว่า การถูกลอบวางยาในเครื่องดื่มทำให้พฤติกรรมของตนเองเปลี่ยนไป โดยบางคนถึงกับหวาดระแวงต่อการดื่มในที่สาธารณะ นักรณรงค์และนักเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ทางการรวมถึงตำรวจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางยาในเครื่องดื่มมากขึ้น นอกจากนี้ การฝึกอบรมยังมีความจำเป็นสำหรับพนักงานในสถานบันเทิงและพนักงานระบบขนส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สามารถจดจำอาการและดำเนินการได้ และเพื่อนๆ ที่ไปเที่ยวกลางคืนด้วยกันก็ควรดูแลซึ่งกันและกันด้วย
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.firstpost.com/explainers/uk-drink-spiking-new-law-keir-starmer-13838612.html
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี