27 พ.ย. 2567 สถานีโทรทัศน์ Euronews ของฝรั่งเศส รายงานข่าว ‘Pressing need’ for social media influencers to receive fact-checking training, UNESCO says ระบุว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก-UNESCO) เผยแพร่ผลการศึกษาที่ทำร่วมกับนักวิจัยของ Bowling Green State University มหาวิทยาลัยในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า บรรดาผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโลกออนไลน์ หรือ “อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)” มากกว่าร้อยละ 60 ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือความถูกต้องของข้อมูลก่อนเผยแพร่
ผู้วิจัยได้ขอให้ผู้มีอิทธิพล 500 คนใน 45 ประเทศกรอกแบบสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับแรงจูงใจ ทักษะ การปฏิบัติ และความท้าทายของพวกเขา โดยทำแบบสำรวจร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีอิทธิพล 20 คน ซึ่งยังพบด้วยว่า ผู้ผลิตเนื้อหาบนโลกออนไลน์ยังประสบปัญหาในการหาแนวทางที่ดีที่สุดในการประเมินข้อมูลที่พวกเขาเห็นทางออนไลน์ โดยร้อยละ 42 ระบุว่า ตัดสินข้อมูลโดยพิจารณาจากจำนวนการกดถูกใจและการแชร์ที่โพสต์ได้รับ และอีกร้อยละ 19 กล่าวว่า ใช้การอาศัยชื่อเสียงของผู้เขียนหรือผู้จัดพิมพ์ต้นฉบับเพื่อตัดสินว่าข้อมูลนั้นมีประโยชน์หรือไม่
นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 5 ยังระบุว่าจะแชร์เนื้อหาที่จัดทำโดยเพื่อนหรือบุคคลที่ตนเองไว้วางใจ ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลัก หรือสำนักข่าว-องค์กรสื่อแบบดั้งเดิม ก็ไม่ใช่แหล่งข้อมูลที่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์เลือกใช้ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 37 ที่เลือกอ้างอิงข้อมูลจากสื่อมวลชน ขณะที่แหล่งข้อมูล 2 อันดับแรกสำหรับเนื้อหาคือประสบการณ์ส่วนตัวกับการค้นคว้าและการสัมภาษณ์ของตนเอง ถึงกระนั้น เมื่อถามต่อสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 73 ระบุว่า ต้องการเรียนรู้เทคนิคการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก กล่าวว่า ผู้ผลิตเนื้อหาเผยแพร่ทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศข้อมูล โดยดึงดูดผู้คนหลายล้านคนด้วยข่าวสารทางวัฒนธรรม สังคม หรือการเมือง แต่หลายคนยังคงดิ้นรนเมื่อเผชิญกับข้อมูลเท็จและคำพูดที่แสดงความเกลียดชังทางออนไลน์ และเรียกร้องให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติม
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ยูเนสโกได้ประกาศเปิดตัวโปรแกรมการฝึกอบรมระยะเวลา 1 เดือนควบคู่ไปกับผลการสำรวจสำหรับผู้สร้างเนื้อหาที่สนใจในการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือน หลักสูตรที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและข้อมูลจะส่งเสริมให้ผู้สร้างเนื้อหาสามารถจัดการกับข้อมูลบิดเบือนและคำพูดแสดงความเกลียดชัง และให้ความรู้พื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับ "มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลกทั้งในด้านเสรีภาพในการแสดงออกและข้อมูล โดยในระหว่างหลักสูตร ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล และหักล้างและรายงานข้อมูลบิดเบือนและคำพูดแสดงความเกลียดชัง
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.euronews.com/next/2024/11/27/pressing-need-for-social-media-influencers-to-receive-fact-checking-training-unesco-says
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี