ในฐานะที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมงานประชุมอินเทอร์เน็ตโลก Wuzhen Summit 2024 ณ เมืองอูเจิ้น มณฑลเจ้อเจียง จีนในปีนี้ด้วยตนเอง ความรู้สึกที่ได้สัมผัสจากงานประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ความตื่นตาตื่นใจจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ยังเป็นการเห็นภาพรวมของวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนจากประเทศจีนในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถือเป็นเทรนด์สำคัญในโลกยุคปัจจุบัน ภายใต้ธีม “มุ่งสู่อนาคตดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์และ AI เพื่อประโยชน์ของสังคม – สร้างชุมชนแห่งอนาคตร่วมกันในโลกไซเบอร์” จีนไม่เพียงแต่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประเทศตนเอง แต่ยังมุ่งมั่นที่จะนำความก้าวหน้าเหล่านี้ไปสู่การสร้างอนาคตที่ดีกว่าในระดับโลก
ในการเปิดงานประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอ โดยผมได้นั่งอยู่ในพิธีเปิดในฐานะ Guest ผมได้รับฟังวิสัยทัศน์จากผู้นำจีน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า จีนตระหนักถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลในหลายด้านของสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของ AI ที่กำลังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
โดยผู้นำจีน ย้ำว่า เทคโนโลยีดิจิทัลไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแนวคิดใหม่ โมเดลใหม่ ที่สามารถสร้างอารยธรรมร่วมกันทั่วโลก และสิ่งนี้ไม่สามารถทำได้หากไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในธีมของงาน "ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" ที่จีนยืนยันว่าโลกในอนาคตจะต้องพัฒนาไปในทิศทางที่เอื้อให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการเติบโตและก้าวไปข้างหน้าไปด้วยกัน
การที่จีนมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ภายในประเทศจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากย้อนกลับไปในช่วงสงครามการค้าจีน-อเมริกา สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เราจะเห็นได้ชัดว่า ปัญหาในการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่เกิดขึ้น ซึ่งจีนต้องเผชิญกับการกดดันทางเศรษฐกิจจากการที่เทคโนโลยีและสินค้าจากตะวันตกถูกตัดขาด ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาตนเองในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้าน 5G และ AI ที่จีนถือว่าเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้จีนสามารถยืนหยัดในเวทีการแข่งขันของโลก แต่ยังช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
สิ่งที่จีนมองคือ หากไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เอง การพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะกีดขวางการพัฒนาของประเทศ ดังนั้น จีนจึงทุ่มเททรัพยากรและความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเอง เพื่อให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านนี้ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศ รวมถึงการช่วยส่งเสริมการเติบโตของประเทศอื่นๆ ผ่านการร่วมมือในระดับโลก
ในงานนี้ จีนได้เผยรายงานการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศในปี 2024 ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จีนได้กล่าวถึง คือ การที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมจีน โดยเฉพาะในด้านการผลิตที่มีการนำ AI และเทคโนโลยี Digital Twin หรือ ฝาแฝดดิจิทัลไปใช้ในโรงงานเกือบ 10,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง 421 แห่งในจำนวนนี้ได้รับการบ่มเพาะให้เป็นโรงงานผลิตอัจฉริยะระดับชาติที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่มาจาก AI และระบบดิจิทัล จีนได้ยื่นขอสิทธิบัตรด้าน AI มากกว่า 38,000 ฉบับระหว่างปี 2014 ถึง 2023 โดยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ อิเล็กทรอนิกส์ และการขนส่ง ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเก่าให้ทันสมัยขึ้น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา AI ของจีนไม่ได้จำกัดแค่การใช้งานในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลก โดยจีนตั้งเป้าหมายในการให้การค้าบริการดิจิทัลมีสัดส่วนเกิน 45% ของการค้าบริการทั้งหมดในปี 2029 และเพิ่มเป็น 50% ในปี 2035 โดยจะมีกลไกการจัดระเบียบดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จีนจะยกระดับการเปิดตลาดดิจิทัลและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในภาคดิจิทัล เช่น อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
ขณะที่ในรายงานการวิจัยการแข่งขันอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่เผยแพร่ในงานประชุมนี้ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่สอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ไทยจะมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรม แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจที่เอื้อต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างเต็มที่ ขณะที่จีนและประเทศในอาเซียนเช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่หนึ่ง ซึ่งหมายความว่ามีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมดิจิทัล
สิ่งที่น่าสนใจจากการประชุมครั้งนี้คือ การที่จีนมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงดิจิทัลกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยในการร่วมมือกับจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี จีนมีความตั้งใจที่จะช่วยสนับสนุนและลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศที่กำลังพัฒนา และอาเซียนคือหนึ่งในภูมิภาคที่จีนมองเห็นศักยภาพในการเติบโตในอนาคต
ด้วยการที่จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI และเทคโนโลยีดิจิทัลในมิติที่ครอบคลุม ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เราจึงเห็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ หากไทยสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการค้าดิจิทัลได้ เราก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาคได้ โดยใช้สิ่งที่จีนมี และสามารถดูจีนเป็นตัวอย่าง คือ “เรียนรู้และพัฒนา” ไม่ใช่เพียงแค่ รับมาใช้ อย่างเดียว
การเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ได้เปิดมุมมองใหม่ให้กับผมในการมองเห็นภาพของอนาคตดิจิทัลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนา AI และเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันคือการสร้างอนาคตร่วมกันที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
โดย ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี