11 ธ.ค. 2567 สำนักข่าว Fox News สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Deadly virus samples went missing from lab in ‘major biosecurity breach,’ say authorities ระบุว่า ทางการมลรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ว่า ขวดบรรจุไวรัสติดเชื้อหลายชนิด 323 ขวด ซึ่งรวมถึงไวรัสเฮนดรา (Hendra virus) ไลซาไวรัส (Lyssavirus) และ ฮันตาไวรัส (Hantavirus) หายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขของควีนส์แลนด์ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์
ไวรัสเฮนดราเป็นไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งพบได้เฉพาะในออสเตรเลียเท่านั้น ส่วนฮันตาไวรัสเป็นกลุ่มไวรัสที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยร้ายแรงและเสียชีวิตได้ ขณะที่ไลซาไวรัสเป็นกลุ่มไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งห้องแล็บที่ถูกระบุว่าตัวอย่างเชื้อไวรัสหายไปนั้น ให้บริการวินิจฉัย เฝ้าระวังและวิจัยไวรัส ยุง และเชื้อโรคที่แพร่กระจายผ่านเห็บซึ่งมีความสำคัญทางการแพทย์ ทั้งนี้ ไม่แน่ชัดว่าตัวอย่างเชื้อที่หายไปถูกทำลายหรือถูกโจรกรรม แต่เบื้องต้นยังไม่พบรายงานความเสี่ยงต่อชุมชน โดยทางการได้เริ่มกระบวนการสืบสวนแล้ว
ทิโมธี นิโคลส์ (Timothy Nicholls) รัฐมนตรีแห่งมลรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ด้วยการละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่ร้ายแรงเช่นนี้ และอาจไม่มีตัวอย่างไวรัสติดเชื้อให้เห็นอีก กระทรวงสาธารณสุขแห่งควีนส์แลนด์จำเป็นต้องสืบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก การสืบสวนตามมาตรา 9 จะช่วยให้มั่นใจว่าไม่มีการละเลยใดๆ ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ และตรวจสอบนโยบายและขั้นตอนปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ในห้องปฏิบัติการในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบและพฤติกรรมของพนักงานด้วย
ในแถลงการณ์ของทางการมลรัฐควีนส์แลนด์ นิโคลส์ ระทรวงสาธารณสุขควีนส์แลนด์ได้ใช้ "มาตรการเชิงรุก" รวมถึงการอบรมพนักงานใหม่เกี่ยวกับกฎระเบียบที่จำเป็นและดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดเก็บวัสดุอย่างถูกต้อง ขณะที่ จอห์น เจอราร์ด (John Gerrard) หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมลรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชน
เจอร์ราร์ด อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือตัวอย่างไวรัสจะสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ภายนอกตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำ และจะไม่ติดเชื้อ อีกทั้งมีโอกาสน้อยมากที่ตัวอย่างจะถูกทิ้งเป็นขยะทั่วไป เนื่องจากจะถือว่าอยู่นอกแนวปฏิบัติทั่วไปของห้องปฏิบัติการโดยสิ้นเชิง อนึ่ง ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานผู้ป่วยไวรัสเฮนดราหรือลิสซาไวรัสในมลรัฐควีนส์แลนด์ และไม่มีการยืนยันการติดเชื้อฮันตาไวรัสในประเทศออสเตรเลีย
ขณะที่ แซม สการ์ปิโอ (Sam Scarpino) ผู้อำนวยการด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ ยืนยันว่า สถานการณ์ในออสเตรเลียเป็นข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่สำคัญ และเชื้อก่อโรคที่รายงานว่าหายไปล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งและอาจเป็นภัยคุกคามต่อประชาชน
“เชื้อก่อโรคทั้ง 3 ชนิดนี้มีอัตราการเสียชีวิตในมนุษย์สูงมาก แต่ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่าย ฮันตาไวรัสบางชนิดมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 15% หรือมากกว่า 100 เท่าของโควิด-19 ในขณะที่ไวรัสชนิดอื่นๆ มีความรุนแรงใกล้เคียงกับโควิด-19 มากกว่า นอกจากนี้ สัตว์และปศุสัตว์ยังมีความเสี่ยงสูงจากเชื้อก่อโรคทั้ง 3 ชนิดนี้ด้วย” สการ์ปิโอ กล่าว
สการ์ปิโอ กล่าวต่อไปว่า ไวรัสตระกูล Lyssavirus มีเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งมักจะทำให้คนเสียชีวิตได้เกือบทุกคนหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่เนื่องจากเชื้อโรคเหล่านี้สามารถแพร่จากคนสู่คนได้จำกัด ความเสี่ยงของการระบาดจึงต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ไวรัสเฮนดรา รวมถึงไวรัสฮันตาและไลซาไวรัสบางชนิด อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในมนุษย์และสัตว์ได้
และแม้จะมีความเสี่ยงต่ำ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าตัวอย่างเหล่านี้ไปอยู่ที่ใด เพื่อยืนยันว่าไม่มีความเสี่ยงในการสัมผัสอีกต่อไป ซึ่งแม้ตนจะชื่นชมรัฐบาลออสเตรเลียที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถยอมรับได้ที่เรื่องดังกล่าวใช้เวลานานกว่า 1 ปีจึงจะเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนและความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพของเชื้อโรค
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี