11 ธ.ค. 2567 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานข่าว Coffee price surges to highest on record ระบุว่า ราคาเมล็ดกาแฟอาราบิกา ซึ่งเป็นผลผลิตส่วนใหญ่ของโลก พุ่งแตะระดับ 3.44 เหรียญสหรัฐ (ราว 117 บาท) ต่อปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) โดยพุ่งขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2567 ในขณะเดียวกัน ราคาเมล็ดกาแฟโรบัสตาก็พุ่งแตะระดับสูงสุดอีกครั้งในเดือน ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ประเทศผู้ปลูกกาแฟรายใหญ่อย่างบราซิลและเวียดนาม ผลผลิตกาแฟลลงเนื่องจากปัญหาด้านสภาพอากาศ สวนทางกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
Vinh Nguyen ซ๊อีโอของ Tuan Loc Commodities บริษัทผลิตกาแฟของเวียดนาม กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้แปรรุปกาแฟรายใหญ่สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องขึ้นราคาเพื่อรักษาความพึงพอใจของลูกค้าและรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งนั้นกำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากแบรนด์กาแฟต่างๆ ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น และหลายเจ้าก็มีแผนจะปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตช่วงไตรมาสแรกของปี 2568
Lavazza แบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ของอิตาลี ให้ข้อมูลกับ BBC ว่า บริษัทได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาดและไม่ส่งต่อต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นให้กับลูกค้า แต่ในที่สุดราคาของกาแฟที่พุ่งสูงขึ้นก็บีบบังคับให้ต้องตัดสินใจ เพราะคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นรากฐานของสัญญาแห่งความไว้วางใจระหว่างบริษัทกับผู้บริโภคมาโดยตลอด นั่นหมายความว่าบิรษัทต้องรับมือกับต้นทุนที่สูงมากต่อไป จึงจำเป็นต้องปรับราคา
ในงานสัมมนาสำหรับนักลงทุนเมื่อเดือน พ.ย. 2567 เดวิด เรนนี (David Rennie) หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์กาแฟ ในเครือเนสท์เล แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมกาแฟกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยยอมรับว่าบริษัทจำเป็นต้องปรับราคาและขนาดบรรจุภัณฑ์ ราคาของกาแฟก็ไม่สามารถรอดพ้นจากผลกระทบดังกล่าวได้
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า สถิติสูงสุดครั้งสุดท้ายสำหรับราคากาแฟเกิดขึ้นในปี 2520 หลังจากหิมะตกผิดปกติจนทำให้ไร่กาแฟในบราซิลได้รับความเสียหาย โดย โอเล แฮนเซน (Ole Hansen) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ของธนาคาร Saxo ในเดนมาร์ก กล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับผลผลิตในปี 2568 ของบราซิลเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากบราซิลประสบภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปีในเดือน ส.ค. – ก.ย. 2567 ตามมาด้วยฝนตกหนักในเดือน ต.ค. 2567 ทำให้เกิดความกลัวว่าผลผลิตกาแฟที่ออกดอกจะล้มเหลว
ไม่เพียงแต่กาแฟของบราซิลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้าย ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเมล็ดกาแฟอาราบิกา แต่ปริมาณกาแฟโรบัสตาก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน หลังจากที่ไร่กาแฟในเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟพันธุ์นี้รายใหญ่ที่สุด เผชิญกับทั้งภัยแล้งและฝนตกหนัก โดยกาแฟเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากน้ำมันดิบ และกาแฟก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การบริโภคในจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
เฟอร์นันดา โอกาดะ (Fernanda Okada) นักวิเคราะห์ราคากาแฟจาก S&P Global Commodity Insights กล่าวว่า ความต้องการบริโภคกาแฟยังคงสูง ในขณะที่ปริมาณกาแฟในคลังของผู้ผลิตและผู้แปรรูปมีอยู่ในระดับต่ำ จึงคาดว่าราคากาแฟจะมีแนวโน้มขาขึ้นต่อไปอีกสักระยะ
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.bbc.com/news/articles/c36pgrrjllyo
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี