12 ธ.ค. 2567 Asia News Network องค์กรร่วมสื่อมวลชน 24 ชาติในเอเชียซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ รายงานข่าว South Korean President Yoon refuses to resign, defends martial law against ‘monstrous’ opposition ระบุว่า ยูน ซุก ยอล (Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยืนยันจะไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง และปกป้องการตัดสินใจของตนกรณีประกาศกฎอัยการศึก
การประกาศกฎอัยการศึกของยูน ชายวัย 63 ปี ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 ธ.ค. 2567 แต่ถูกต่อต้านจากประชาชนแระสมาชิกรัฐสภา จนต้องประกาศยกเลิกในช่วงเช้ามืดของวันที่ 4 ธ.ค. 2567 ทำให้ขณะนี้ ยูนกำลังเผชิญมรสุมทางการเมือง จากความพยายามของสมาชิกรัฐสภาในการเข้าชื่อเพื่อลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าของวันที่ 12 ธ.ค. 2567 ยูนปรากฎตัวทางโทรทัศน์ ตำหนิการใช้อำนาจในทางที่ผิดของพรรคฝ่ายค้านว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอ้างว่าการใช้อำนาจฝ่ายบริหารของตนอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตนจึงไม่อาจทนต่อไปได้อีกและเริ่มคิดเรื่องประกาศกฎอัยการศึก ส่วนการส่งทหารไปยังรัฐสภาเพื่อใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกนั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้การทำงานของรัฐสภาหยุดชะงัก
“หากผมตั้งใจจะทำให้รัฐสภาหยุดชะงักจริงๆ กฎอัยการศึกจะต้องมีผลบังคับใช้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่ใช่ในวันธรรมดา นอกจากนี้ ผมจะต้องตัดไฟฟ้า ตัดน้ำ และจำกัดการออกอากาศของรัฐสภา แต่ผมไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย การส่งทหารน้อยกว่า 300 นายไปยังรัฐสภา เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าการประกาศกฎอัยการศึกไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมรัฐสภา ผมตั้งใจจะส่งคำเตือนไปยังพรรคฝ่ายค้าน และทำให้ประชาชนตระหนักถึงกิจกรรมต่อต้านรัฐของพรรคเหล่านั้น” ยูน กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ยูนตำหนิพรรคฝ่ายค้านที่ใช้พลังอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อขัดขวางการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่จะเปิดทางให้ลงโทษกิจกรรมจารกรรมของชาวต่างชาติ เข้าข้างเกาหลีเหนือ และเคลื่อนไหวฝ่ายเดียวในการตัดงบประมาณซึ่งเขากล่าวว่ามีความจำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงได้สั่งให้ คิม ยอง-ฮยุน (Kim Yong-hyun) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) ตรวจสอบช่องโหว่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากการโจมตีทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
ผู้นำเกาหลีใต้ ยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ กกต. ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำขอของรัฐบาลในการตรวจสอบระบบภายในเมื่อปี 2566 แม้ว่าหน่วยข่าวกรองแห่งชาติจะเปิดเผยว่ามีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยก็ตาม และยืนยันว่า ตนพร้อมจะเผชิญหน้ากับความพยายามถอดถอนออกจากตำแหน่ง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การที่นักการเมืองฝ่ายค้านเร่งรีบอย่างมากในการถอดถอนตน พร้อมไปกับการยุยงปลุกปั่นประชาชน เนื่องจากคนเหล่านั้นกลัวว่า ลี แจ-เมียง (Lee Jae-myung) หัวหน้าพรรค Democratic Party ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน อาจถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยขณะนี้ ลีกำลังเผชิญกับคดีความจำนวนมาก ซึ่งหากมีคดีใดที่ถูกตัดสินว่าผิดจริงก็อาจถึงขั้นถูกจำคุก นั่นจะทำให้เขาไม่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การถอดถอนประธานาธิบดีอาจทำให้ลีสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้เร็วกว่าการเลือกตั้งตามวาระปกติ ซึ่งครั้งต่อไปจะมีขึ้นภายในเดือน มี.ค. 2570
“ไม่ว่าจะเป็นการถอดถอนหรือการสอบสวนที่อยู่ข้างหน้าผม ผมจะเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ ผมพูดไปแล้วว่าผมจะไม่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายและการเมือง” ยูน กล่าวย้ำ
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี