12 ธ.ค. 2567 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานข่าว Australia to force tech giants to keep paying for news ระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลีย เปิดเผยว่า จะสร้างกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อบังคับให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จ่ายเงินให้กับสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดจากกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ออสเตรเลียผ่านเมื่อปี 2564 ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Meta และ Google จ่ายเงินสำหรับการแสดงข่าวสารบนแพลตฟอร์มของตน
เมื่อต้นปี2567 Meta ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ Instagram ประกาศว่าจะไม่ต่ออายุข้อตกลงการชำระเงินที่ทำไว้กับสำนักข่าวของออสเตรเลีย ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับผู้ร่างกฎหมาย โดยกฎเกณฑ์ใหม่ที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีนี้จะกำหนดให้บริษัทที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 250 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (125 ล้านปอนด์ หรือราว 5.4 พันล้านบาท) ต้องทำข้อตกลงเชิงพาณิชย์กับองค์กรสื่อ มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้น
การออกแบบโครงการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ แต่จะนำไปใช้กับเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Facebook, Google และ TikTok ขณะที่ในแถลงการณ์ Meta กล่าวว่ามีความกังวลว่ารัฐบาลแดนจิงโจ้ กำลังเรียกเก็บเงินจากอุตสาหกรรมหนึ่งเพื่ออุดหนุนอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งจะแตกต่างจากรูปแบบก่อนหน้านี้ เพราะกรอบนโยบายใหม่ที่เรียกว่าแรงจูงใจในการต่อรองข่าว จะกำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีต้องจ่ายเงินแม้ว่าจะไม่ได้ทำข้อตกลงกับสำนักข่าวก็ตาม
สตีเฟน โจนส์ (Stephen Jones) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย กล่าวว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลได้รับประโยชน์ทางการเงินมหาศาลจากออสเตรเลีย แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะต้องมีส่วนสนับสนุนให้ชาวออสเตรเลียเข้าถึงข่าวสารที่มีคุณภาพ
ประมวลกฎหมายการต่อรองสื่อข่าวฉบับก่อนหน้านี้ ระบุว่าองค์กรข่าวเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็ให้คำมั่นกับบริษัทต่างๆ เช่น Facebook และ Google ที่จะลงทุนหลายล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในเนื้อหาดิจิทัลในท้องถิ่น ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่าความไม่สมดุลของอำนาจระหว่างองค์กรสื่อกับบริษัทเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ชดเชยการสูญเสียบางส่วนที่สื่อดั้งเดิมต้องเผชิญเนื่องมาจากการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัล
เมื่อข้อตกลงที่ทำขึ้นภายใต้ข้อตกลงเดิมใกล้หมดอายุลง Meta กล่าวว่า จะไม่ต่ออายุ ส่งผลให้สำนักข่าวในออสเตรเลียสูญเสียรายได้ไปราว 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 4.4 พันล้านบาท) โดย Meta ประกาศว่า จะยุติแท็บข่าวเฉพาะที่เน้นบทความบน Facebook ในออสเตรเลีย และนำเงินไปลงทุนที่อื่น ทั้งนี้ ในแถลงการณ์เมื่อเดือน ก.พ. 2567 ทาง Meta ระบุว่า เราทราบดีว่าผู้คนไม่เข้ามาที่ Facebook เพื่อดูข่าวสารและเนื้อหาทางการเมือง ข่าวสารคิดเป็นไม่ถึงร้อยละ 3 ของสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกเห็นในฟีด Facebook
โดยในเวลานั้น แอนโธนี อัลบานีส (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ตอบโต้ท่าทีของ Meta ว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการละทิ้งความรับผิดชอบของ Meta ที่มีต่อผู้ใช้ในออสเตรเลียโดยพื้นฐาน เช่นเดียวกับ มิเชลล์ โรว์แลนด์ (Michelle Rowland) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร ที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่ข้อมูลที่เป็นเท็จจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากข่าวที่ไม่ปรากฏบนแพลตฟอร์มอีกต่อไป
สำหรับรูปแบบการเก็บภาษีใหม่จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในเดือน ม.ค. 2568 และจะได้รับการรับรองให้เป็นกฎหมายเมื่อรัฐสภากลับมาเปิดประชุมอีกครั้งในเดือน ก.พ. 2568 โดยรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวว่า นโยบายนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้บริษัทเทคโนโลยีจัดหาเงินทุนให้กับสื่อของออสเตรเลียเพื่อแลกกับการชดเชยภาษี ไม่ใช่เพื่อสร้างรายได้จากภาษี
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี