18 ธ.ค. 2567 นสพ.The Star ของมาเลเซีย รายงานข่าว Japan to actively recruit nurses from South-East Asia ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น จะส่งเสริมการสรรหาพยาบาลจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างจริงจังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 เป็นต้นไป เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอาชีพนี้อย่างรุนแรง โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีพยาบาลประมาณ 2.15 ล้านคน แต่คาดว่าจะขาดแคลนประมาณ 250,000 คนในปีงบประมาณ 2569 และประมาณ 570,000 คนในปีงบประมาณ 2583
แผนการของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเนื่องจากแดนอาทิตย์อุทัยกำลังเผชิญกับภาวะสังคมสูงวัยที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้มีผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลมากขึ้น โดยกระทรวงฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ผู้ประกอบการจัดหาพยาบาลและพนักงานดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นต้องเสียไปเมื่อต้องสรรหาพนักงานในภูมิภาคดังกล่าว และจะจัดตั้งโครงการการศึกษาวิชาการพยาบาลในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปี 2568 สัดส่วนชาวญี่ปุ่นที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป จะคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ
ตามข้อมูลของสำนักงานบริการตรวจคนเข้าเมือง ณ สิ้นปี 2566 มีชาวต่างชาติ 28,400 คนเข้ามาในญี่ปุ่นโดยมีสถานะวีซ่าสำหรับคนงานที่มีทักษะที่กำหนดไว้ เพื่อทำงานในอุตสาหกรรมการดูแล ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงมากกว่าร้อยละ 50 ของเป้าหมายของรัฐบาล เบื้องหลังการขาดแคลนนี้คือสงครามระดับโลกเพื่อแย่งชิงบุคลากรในอุตสาหกรรมสวัสดิการ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากประชากรมีอายุมากขึ้น
กระทรวงฯ จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับบริษัทที่ดำเนินการบ้านพักคนชราพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และโรงเรียนอาชีวศึกษาเพื่อฝึกอบรมผู้ดูแล นอกจากนี้ เงินดังกล่าวจะนำไปใช้ในการจัดการบรรยายสรุปที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นและ “ตัวแทนดำเนินการ (dispatch agencies)” ในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนามและเมียนมา
เยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำงานในญี่ปุ่นและเงื่อนไขการจ้างงานที่เสนอให้ นอกจากนี้ ยังจะมีการให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการสัมภาษณ์และกิจกรรมการสรรหาบุคลากรอื่นๆ รัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับจังหวัดของญี่ปุ่น จะจัดสรรเงินรวม 1 ล้านเยน (ราว 2.2 แสนบาท) ต่อบริษัท กระทรวงฯ คาดว่าจะมีธุรกิจมากถึง 100 แห่งเข้าร่วมในปีงบประมาณ 2568 และได้รวมเงินทุนที่เกี่ยวข้องไว้ในงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปีดังกล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจที่จัดทำขึ้นในปีงบประมาณ 2566 โดย Care Work Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว พบว่าสถานดูแลผู้ป่วยและคนชราร้อยละ 60 รายงานว่าขาดแคลนพนักงาน แต่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ยอมรับแรงงานต่างด้าว ขณะที่ โฆษกจากสำนักงานนโยบายวางแผนการสรรหาบุคลากรด้านสวัสดิการของกระทรวงฯ กล่าวว่า ต้องการกระตุ้นให้ผู้คนก้าวไปสู่การจ้างพนักงานต่างชาติเป็นอันดับแรก
ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีความกระตือรือร้นที่จะส่งแรงงานไปต่างประเทศ จะมีการจัดตั้งโครงการ 3 ปีที่เรียกว่า “ไคโก (Kaigo)” ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อฝึกอบรมผู้คนเกี่ยวกับเทคนิคการพยาบาลและการดูแล โดยกระทรวงฯ และหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประกันการดูแลและการดูแลผู้สูงอายุจำนวน 3 คนไปนั่น ซึ่งโครงการไคโก มุ่งเป้าไปที่การฝึกอบรมผู้สอนและเยาวชนที่เรียนในวิทยาลัยพยาบาลของรัฐในท้องถิ่น ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี ได้ดำเนินการสรรหาบุคลากรในอินโดนีเซียแล้ว
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่มีคุณวุฒิด้านผู้ดูแลจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง สามารถเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นได้ โดย ศ.โนริโกะ สึคาดะ (Prof. Noriko Tsukada) ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุและสังคม มหาวิทยาลัยนิฮง กล่าวว่า รัฐบาลควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรับคุณวุฒิและพยายามสร้างสถานที่ทำงานที่สอดคล้องกัน รวมถึงต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อม เช่น เพิ่มค่าจ้าง และดึงดูดชาวต่างชาติให้ทำงานในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี