เซินเจิ้น, 23 ธ.ค. (ซินหัว) -- หุ่นยนต์ฉลามวาฬขนาดใหญ่ ความยาว 5 เมตร และหนักกว่า 500 กิโลกรัม ในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ของเสี่ยวเหมยซา ซีเวิลด์ (Xiaomeisha Sea World) พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในนครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน สามารถแหวกว่ายสายน้ำ หมุนตัว ลอยตัว และดำน้ำได้ด้วยครีบกล และเลียนแบบการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของฉลามจริง ซึ่งสร้างความฮือฮาและเรียกกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งจุดชนวนถกเถียงว่าการใช้ปลาเทียมในพื้นที่จัดแสดงสัตว์น้ำนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่
เมื่อมองจากระยะไกล ฉลามวาฬตัวนี้ดูเหมือนปลาทั่วไปที่ว่ายน้ำไปมา แต่เมื่อมองในระยะใกล้จะสามารถมองเห็นรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งหุ่นยนต์ใต้น้ำตัวนี้ประกอบด้วยชิ้นส่วน 13,000 ชิ้น พร้อมติดตั้งเซ็นเซอร์ 156 ตัว และมอเตอร์ไฟฟ้า 14 ตัว
ฉลามวาฬจักรกลตัวนี้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม และได้รับความสนใจในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็วหลังจากผู้เยี่ยมชมพบว่ามันไม่ใช่ปลาจริง บางคนรู้สึกทึ่งกับความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยี แต่บางคนกลับรู้สึกไม่พอใจ โดยโต้แย้งว่าการดูฉลามปลอมจะทำให้เสน่ห์อันหายากเฉพาะตัวของสัตว์ทะเลลดน้อยลง
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นบนเตี่ยนผิง (Dianping) แพลตฟอร์มรีวิวที่ได้รับความนิยมในจีน โดยระบุว่าตนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้เพื่อดูสัตว์ทะเลที่มีชีวิตจริง หากเพียงแค่สนใจหุ่นยนต์ปลาตนก็จะดูไปที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่ามาที่นี่
ขณะเดียวกัน ผู้เยี่ยมชมจำนวนมากยังบ่นในช่องทางออนไลน์ว่าพวกเขาได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนก่อนมาเข้าชมว่านิทรรศการฉลามนี้จะเป็นเพียงการจำลองเสมือนจริง แม้พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจะระบุว่าก่อนหน้านี้ว่าได้เผยแพร่ข่าวในบัญชีผู้ใช้บนวีแชท (WeChat) แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี ประชาคมวิทยาศาสตร์ของจีนชื่นชมฉลามวาฬชีวจักรกล (bionic) ตัวนี้ เพราะอาจมีส่วนช่วยอนุรักษ์ฉลามวาฬที่มีชีวิตไม่ให้ถูกกักขัง และทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการศึกษาที่สามารถช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทางทะเลได้
อวี้จื่อหนิว นักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์ทะเลจีนใต้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน สนับสนุนการใช้หุ่นยนต์ปลาอย่างเต็มที่ โดยอวี้บอกเล่ากับสำนักข่าวซินหัวว่าจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องสิ่งมีชีวิตทางทะเล และบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดในการจับฉลามที่มีชีวิต โดยหุ่นยนต์เสมือนจริงไม่เพียงแต่จะมอบประสบการณ์ที่น่าดึงดูดใจให้กับผู้เยี่ยมชมเท่านั้น แต่ยังหลีกเลี่ยงการจับและขนย้ายตัวอย่างที่มีชีวิตอีกด้วย ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ทะเลสายพันธุ์หายาก
อวี้ระบุว่าฉลามวาฬเป็นหนึ่งในปลาขนาดใหญ่ที่สุดของโลก สามารถเติบโตและยาวได้ถึง 20 เมตร และแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ฉลามวาฬกลับเป็นสัตว์ที่อ่อนโยนและสามารถมีอายุถึง 70-100 ปี โดยกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศส่งผลให้ประชากรฉลามวาฬในธรรมชาติลดลง ซึ่งในจีนมีเพียงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแห่งที่จะสามารถเลี้ยงฉลามวาฬได้ และการเพาะพันธุ์พวกมันยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
หลี่เจี้ยนผิง ผู้อำนวยการสถาบันมหาสมุทรแห่งอนาคตของมหาวิทยาลัยสมุทรศาสตร์ของจีน ระบุว่าสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่เลี้ยงไว้ในสถานที่เลี้ยงดูนั้นมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 5 ปี เนื่องจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหลายแห่งเผชิญปัญหาในการจัดสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิตที่ใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน
เสี่ยวเหมยซา ซีเวิลด์ เปิดเผยกับซินหัวว่าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯ คำนึงถึงการอนุรักษ์ทางทะเลก่อนที่จะตัดสินใจใช้ฉลามวาฬจักรกลแทนฉลามวาฬที่มีชีวิตจริง พร้อมคาดว่าหุ่นยนต์ปลาขนาดใหญ่ตัวนี้จะได้รับความนิยมควบคู่ไปกับสัตว์ดาวเด่นชนิดอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์
อนึ่ง ปัจจุบันฉลามวาฬจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และอยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองระดับสองของจีน
สวนน้ำหลายแห่งในจีนเริ่มจัดแสดงฉลามวาฬชีวจักรกลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 หุ่นยนต์ฉลามที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในมหานครเซี่ยงไฮ้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ขณะที่เมื่อปี 2023 รีสอร์ตริมทะเลแห่งหนึ่งในนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ได้เปิดตัวสัตว์ทะเลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งรวมถึงหุ่นยนต์ฉลามวาฬ
ไต้ปิน หัวหน้าสถาบันการท่องเที่ยวจีน เชื่อว่าการนำเทคโนโลยีชีวจักรกลดิจิทัลและเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ มาใช้กับแหล่งท่องเที่ยวนั้นถือเป็นกระแสที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่หลินฮ่วนเจี๋ย หัวหน้าสถาบันเพื่อการศึกษาสวนสนุกของจีน ระบุว่าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหลายแห่งควรแจ้งให้ผู้เยี่ยมชมทราบอย่างชัดเจนล่วงหน้าเกี่ยวกับหุ่นยนต์ปลา แทนที่จะปล่อยให้พวกเขามาเจอด้วยตนเอง
หลินระบุว่าในอนาคตการแสดงสัตว์จะลดลงอย่างมาก และอาจนำไปสู่การยกเลิกทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจะต้องเพิ่มความหลากหลายในการจัดแสดง รวมทั้งค้นหาวิธีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม
ทั้งนี้ หลังจากมีการเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดขนาดใหญ่ องค์กรวิจัยและบริษัทต่างๆ ของจีนหลายแห่งจึงหันมาพัฒนาหุ่นยนต์ปลาชีวจักรกล พร้อมสร้างต้นแบบปลาชีวจักรกลหลายชนิด อาทิ ปลาอะโรวานาทอง (golden arowana) และโลมาหัวบาตรหลังเรียบ
บรรดานักวิทยาศาสตร์ระบุว่านอกเหนือจากการให้ความบันเทิงและการศึกษาวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสัตว์ทะเลแล้ว หุ่นยนต์ปลายังช่วยส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในมหาสมุทรได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์สามารถส่งเสริมการเรียนรู้กลไกการว่ายน้ำของปลา ตลอดจนทำหน้าที่ต่างๆ อาทิ การตรวจสอบคุณภาพน้ำ การสำรวจทางโบราณคดี การทำแผนที่ทางทะเล ไปจนถึงการตรวจจับน้ำแข็งติดไฟ (combustible-ice)
ด้านอวี้เผยความคาดหวังว่าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหลายแห่งจะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นความสนใจเกี่ยวกับชีวิตทางทะเลและวิทยาศาสตร์ในหมู่สาธารณชน พร้อมเพิ่มความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศของโลก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี