รวมกันเราอยู่! 3 ค่ายรถญี่ปุ่นประกาศจับมือสู้กระแสยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน
25 ธ.ค. 2567 เว็บไซต์ global.honda ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของ “ฮอนด้า” ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ Nissan, Honda, and Mitsubishi Motors sign MOU on collaborative considerations เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ระบุว่า ฮอนด้า ร่วมกับค่ายรถยนต์แดนซามูไรอีก 2 เจ้า คือ “นิสสัน” และ “มิตซูบิชิ” ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการมีส่วนร่วม ความเกี่ยวข้อง และการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการธุรกิจ ผ่านการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงที่ลงนามระหว่างนิสสันและฮอนด้า
นิสสัน ฮอนด้า และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้บรรลุข้อตกลงพื้นฐานในการดำเนินการหารือตามกรอบข้อตกลงที่จัดทำขึ้นในบันทึกความเข้าใจที่ลงนามโดยนิสสันและฮอนด้าเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 เกี่ยวกับการเริ่มต้นความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่เน้นด้านปัญญาประดิษฐ์และการใช้ไฟฟ้า มิตซูบิชิ มอเตอร์สได้เข้าร่วมในกรอบข้อตกลงนี้ และทั้ง 3 บริษัทได้ดำเนินการหารือแล้ว
หลังจากข้อตกลงระหว่างนิสสันและฮอนด้าในการเริ่มพิจารณาการบูรณาการทางธุรกิจผ่านการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองบริษัทและอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัททั้ง 3 ได้ตกลงที่จะสำรวจความเป็นไปได้ในการบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันในระดับที่สูงขึ้นผ่านการมีส่วนร่วมหรือการมีส่วนร่วมในการบูรณาการทางธุรกิจของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์สตั้งเป้าที่จะบรรลุผลสรุปภายในสิ้นเดือน ม.ค. 2568 เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม หรือการมีส่วนร่วมในการบูรณาการทางธุรกิจระหว่างนิสสันและฮอนด้า
โทชิฮิโระ มิเบะ (Toshihiro Mibe) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮอนด้า กล่าวว่า ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งกล่าวกันว่าเกิดขึ้นทุก 100 ปี เราหวังว่าการมีส่วนร่วมของมิตซูบิชิ ในการหารือการบูรณาการธุรกิจระหว่างนิสสันและฮอนด้า จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป และเราจะสามารถกลายเป็นบริษัทชั้นนำในการสร้างคุณค่าใหม่ในด้านการเคลื่อนที่ผ่านการบูรณาการธุรกิจได้
“นิสสันและฮอนด้าจะเริ่มการหารือตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แจงถึงความเป็นไปได้ในการบูรณาการธุรกิจภายในราวๆ สิ้นเดือน ม.ค. 2568 ตามแนวทางที่มิตซูบิชิพิจารณา” มิเบะ กล่าว
มาโกโตะ อุชิดะ (Makoto Uchida) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนิสสัน กล่าวว่า ฮอนด้าและนิสสันได้เริ่มพิจารณาการบูรณาการธุรกิจแล้ว และจะศึกษาการสร้างความร่วมมือที่สำคัญระหว่างทั้งสองบริษัทในหลากหลายสาขา และเป็นเรื่องสำคัญที่มิตซูบิชิซึ่งเป็นพันธมิตรของนิสสัน เข้ามามีส่วนร่วมในการหารือครั้งนี้ด้วย
“เราคาดว่าหากการบูรณาการนี้เกิดขึ้นจริง เราจะสามารถส่งมอบคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าให้กับฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นได้” อุชิดะ กล่าว
ทาคาโอะ ซาโต้ (Takao Kato) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส กล่าวว่า ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ การศึกษาเกี่ยวกับการบูรณาการธุรกิจระหว่างนิสสันกับฮอนด้าจะช่วยเร่งให้เกิดผลสูงสุดจากการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจที่ร่วมมือกับมิตซูบิชิด้วย
“เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราจะศึกษารูปแบบความร่วมมือที่ดีที่สุดด้วย” ซาโต้ กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Honda, Nissan aim to merge by 2026 in historic pivot เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ระบุว่า การเจรจากันระหว่างฮอนด้ากับนิสสัน เรื่องการควบรวมกิจการภายในปี 2569 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ฉายภาพการมองผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนเป็นภัยคุกคามสำคัญของต่อแดนซามูไร ซึ่งเป็นชาติผู้ผลิตรถยนต์ที่ครองตลาดโลกมาอย่างยาวนาน
หากการควบรวมนี้เกิดขึ้นจริง ขนาดของบริษัทจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หากนับตามยอดขาย โดยเป็นรองเพียง “โตโยต้า” อีกค่ายรถยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น และ “โฟล์คสวาเกน” แบรนด์รถยนต์สัญชาติเยอรมนี นอกจากนี้ ยังจะทำให้ทั้งนิสสันและฮอนด้ามีการขยายขนาดและมีโอกาสแบ่งปันทรัพยากรเมื่อเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากค่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดังทั้งของจีนอย่าง “บีวายดี” และของสหรัฐอเมริกาอย่าง “เทสลา”
การควบรวมกิจการระหว่าง 2 ค่ายรถญี่ปุ่นอย่างฮอนด้ากับนิสสัน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ในอุตสาหกรรมยานยนต์แดนซามูไร ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในวงการยานยนต์ของโลก นับตั้งแต่เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ และพีเอสเอ ควบรวมกิจการในปี 2564 เพื่อก่อตั้งสเตลแลนติส (STLAM.MI) นับเป็นข้อตกลงมูลค่า 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส อีกค่ายรถญี่ปุ่นซึ่งนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด กำลังพิจารณาเข้าร่วมด้วย และจะตัดสินใจภายในสิ้นเดือน ม.ค. 2568
ในการแถลงข่าวร่วมกันของฮอนด้า นิสสันและมิตซูบิชิ ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น โทชิฮิโระ มิเบะ ซีอีโอของฮอนด้า กล่าวว่า การเติบโตของผู้ผลิตรถยนต์จีนและผู้เล่นหน้าใหม่ได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ไปมากทีเดียว ดังนั้นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ได้ภายในปี 2573 ไม่เช่นนั้นก็จะแพ้ โดยอ้างถึงแนวโน้มทางเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ
ทั้งนี้ ฮอนด้าและนิสสันมีเป้าหมายยอดขายรวมกัน 30 ล้านล้านเยน (1.91 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) และกำไรจากการดำเนินงานมากกว่า 3 ล้านล้านเยนผ่านการควบรวมกิจการที่อาจเกิดขึ้น ทั้ง 2 บริษัทมุ่งหวังที่จะสรุปการเจรจากันในเดือน มิ.ย. 2568 ก่อนที่จะตั้งบริษัทโฮลดิ้งภายในเดือน ส.ค. 2569 เมื่อหุ้นของทั้งสองบริษัทจะถูกเพิกถอนออกจากการจดทะเบียน และฮอนด้าซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดมากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่านิสสันประมาณ 4 เท่า จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารส่วนใหญ่ของบริษัท
การควบรวมกิจการกับมิตซูบิชิ จะทำให้ยอดขายทั่วโลกของกลุ่มทุนยานยนต์ญี่ปุ่นมีมากกว่า 8 ล้านคัน ขณะที่อันดับ 3 ในปัจจุบันคือกลุ่มทุนยานยนต์ของเกาหลีใต้อย่างฮุนไดและเกีย โดยรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฮอนด้าและนิสสันกำลังสำรวจวิธีต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือ รวมถึงการควบรวมกิจการ ขณะที่ย้อนไปในเดือน มี.ค. 2567 ทั้ง 2 บริษัทกล่าวว่ากำลังพิจารณาความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบไฟฟ้าและซอฟต์แวร์ และขยายความร่วมมือไปยังมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน
ในเดือน พ.ย. 2567 นิสสันประกาศแผนที่จะเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คนและกำลังการผลิตทั่วโลกร้อยละ 20 หลังจากยอดขายในตลาดสำคัญอย่างจีนและสหรัฐฯ ลดลง ส่วนฮอนด้ารายงานรายได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เนื่องจากยอดขายในประเทศจีนตกต่ำ แม้ว่าธุรกิจมอเตอร์ไซค์และรถยนต์แบบไฮบริดที่มั่นคงจะช่วยให้ฮอนด้ามีฐานการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงก็ตาม ถึงกระนั้น มิเบะ ซีอีโอฮอนด้า ให้ความเห็นว่า นี่ไม่ใช่การกอบกู้นิสสัน และเสริมว่าการพลิกฟื้นธุรกิจของนิสสันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการควบรวมกิจการ
เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายอื่นๆ ฮอนด้าและนิสสันก็เสียพื้นที่ในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนให้กับบีวายดี และแบรนด์อื่นๆ ของแดนมังกร ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดซึ่งเต็มไปด้วยนวัตกรรมซอฟต์แวร์ แต่อีกด้านหนึ่ง คาร์ลอส โกส์น (Carlos Ghosn) อดีตผู้บริหารนิสสัน ซึ่งถูกทางการญี่ปุ่นออกหมายจับและหลบหนีไปอยู่ในประเทศเลบานอน ให้ความเห็นทางออนไลน์ ว่า ความร่วมมือระหว่างฮอนด้าและนิสสันไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทไม่ได้เสริมซึ่งกันและกัน
สำหรับ “เรโนลด์” ค่ายรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของนิสสัน แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า จะมีการหารือกับนิสสันและพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมด ขณะที่ยังมีรายงานอีกว่า “ฟ็อกซ์คอนน์” บริษัทชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน ต้องการขยายธุรกิจรับจ้างผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยพยายามเสนอไปทางนิสสัน แต่ถูกค่ายรถญี่ปุ่นปฏิเสธ ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ความพยายามของฟ็อกซ์คอนน์หยุดลงเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 เมื่อส่งคณะผู้แทนบริษัทไปหารือกับเรโนลด์ที่ฝรั่งเศส
ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 มาโกโตะ อุชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนิสสัน ปฏิเสธมุมมองที่ว่าการเคลื่อนไหวของฟ็อกซ์คอนน์กระตุ้นให้เกิดการเจรจาควบรวมกิจการกับฮอนด้า และนิสสันยังคงทำงานกับเรโนลด์ในรูปแบบโครงการ เช่นเดียวกับทางฮอนด้า ซึ่ง มิเบะ ระบุว่า จะไม่เปลี่ยนความสัมพันธ์กับ “เจเนรัลมอเตอร์” ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ
ขอบคุณเรื่องจาก https://global.honda/en/newsroom/news/2024/c241223ceng.html
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี