4 ม.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Alcohol cancer risk warning may face tough road with Trump อ้างความเห็นของ วิเวก มูร์ธี (Vivek Murthy) นายแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกประกาศให้ต้องระบุข้อความ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ” อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการประเมินขีดจำกัดแนวทางการบริโภคแอลกอฮอล์ใหม่เพื่อคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เนื่องจากในสหรัฐฯ มีผู้ป่วยมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 100,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 20,000 รายต่อปี
แต่ข้อเสนอแนะของ มูร์ธี ซึ่งกำลังจะพ้นจากตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่สหรัฐฯ พร้อมกับรัฐบาลปัจจุบันของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 อาจไม่สามารถผ่านออกมาบังคับใช้ได้โดยง่าย เนื่องจากพรรครีพับลิกัน ต้นสังกัดของทรัมป์ ยึดถือค่านิยมเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล อีกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลต่อการเมืองสหรัฐฯ
ไบรอัน ดาร์ลิง (Brian Darling) นักยุทธศาสตร์ของพรรครีพับลิกันและอดีตผู้ช่วยอาวุโสของแรนด์ พอล (Rand Paul) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่เชื่อว่ารัฐสภาชุดใหม่ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากจะทำตัวเหมือน “รัฐพี่เลี้ยงเด็ก” ด้วยการอนุมัติให้เพิ่มข้อความเรื่องความเสี่ยงโรคมะเร็งบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะดูไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิงกับเสรีภาพและทุกสิ่งที่พรรคยืนหยัด
โดยส่วนตัวแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ เคยบอกว่าตนเองไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสูญเสียพี่ชายไปจากโรคพิษสุราเรื้อรัง อีกทั้งยังพูดถึงผลเสียของน้ำเมาอยู่หลายครั้ง แต่ธุรกิจของครอบครัวซึ่งปัจจุบันบริหารโดยลูกชายของเขาทำเงินได้เป็นล้านในเศรษฐกิจภาคบริการ ส่วนใหญ่มาจากสนามกอล์ฟและโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของทั่วโลก รวมถึงยังเป็นเจ้าของโรงกลั่นไวน์ขนาด 1,300 เอเคอร์ใกล้เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนียอีกด้วย
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะลดกฎระเบียบของรัฐบาลที่อ้างว่าขัดขวางการเติบโต ซึ่ง ดาร์ลิง อธิบายว่า แม้ทรัมป์จะต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ก็สนับสนุนเสรีภาพ และเหตุผลอย่างหนึ่งของคนที่ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ก็เพราะเบื่อหน่ายกับการที่รัฐบาลกลางชอบบอกประชาชนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา ชุดใหม่ ที่เพิ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2568 ยังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอของมูร์ธีจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางหรือไม่
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ตามข้อมูลจาก OpenSecrets ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ติดตามเรื่องการใช้จ่ายเงินในการเมืองสหรัฐฯ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเบียร์ ไวน์และสุรา มีบทบาทสำคัญ โดยมีส่วนสนับสนุน 24.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 871 ล้านบาท) ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2567 มากกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อย หรือร้อยละ 50.3 อยู่ที่พรรครีพับลิกัน และอีกร้อยละ 48.7 อยู่ที่พรรคเดโมแครต แต่ที่น่าสนใจคือ ทรัมป์ได้รับเงินบริจาคจากกลุ่มทุนน้ำเมาประมาณ 306,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 10.7 ล้านบาท) น้อยกว่า กมลา แฮรริส (Kamala Harris) คู่แข่งของทรัมป์จากพรรคเดโมแครต ที่ในช่วงปี 2566-2567 ได้รับถึง 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 38.5 ล้านบาท)
ผู้ผลิตสุราชั้นนำของสหรัฐฯ อยู่ในรัฐอนุรักษ์นิยมที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก เช่น เคนตักกี เทนเนสซี และเท็กซัส รัฐเหล่านี้ลงคะแนนให้ทรัมป์เป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานผู้ว่าการรัฐไม่ได้ตอบกลับคำขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำแนะนำของมูร์ธี ขณะที่ ออสการ์ บร็อค (Oscar Brock) สมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าชาวอเมริกันจะพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากแอลกอฮอล์ในลักษณะเดียวกับที่พวกเขาจัดการกับยาสูบเมื่อหลายปีก่อน
บร็อค ขยายความประเด็นนี้ว่า แม้จะทราบถึงพิษภัยจากยาสูบ แต่กว่าสหรัฐฯ จะมีนโยบายให้ติดคำเตือนบนฉลากก็ต้องใช้เวลาอยู่นานหลายปี และสหรัฐฯ จะไม่มีทางกลับไปเป็นแบบยุคที่มีกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน นอกจากนั้น ในกรณีของรัฐเทนเนสซี ซึ่งมีโรงกลั่นวิสกี้จำนวนมาก ล็อบบี้ยิสต์ หรือนักวิ่งเต้นที่ทำงานร่วมกับธุรกิจน้ำเมาอาจเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมาก โดยได้รับแรงหนุนจากเงินทุนจากผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าปลีก
เช่นเดียวกับรัฐเท็กซัส แหล่งผลิตที่สำคัญของวอดก้าและเตกิลา ในปี 2564 ได้ผ่านกฎหมายขยายยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย เกร็ก แอบบ็อต (Greg Abbott) ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน โพสต์ข้อความ “อย่าหยุดดื่มนะเพื่อน (Stay thirsty, my friends)” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อแสดงความยินดีหลังทราบข่าวการผ่านกฏหมายดังกล่าว
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ (Robert F. Kennedy Jr.) ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยเปิดเผยว่า ตนเคยติดสุราและยาเสพติดจนต้องเข้ารับการบำบัดจนกระทั่งเลิกได้อย่างเด็ดขาด จะทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ในบทบาทคณะรัฐมนตรี และอยู่ในตำแหน่งที่จะมีอิทธิพลต่อการเขียนแนวทางปฏิบัติด้านโภชนาการสำหรับชาวอเมริกันใหม่ รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
รายงานข่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่คาดว่าจะมารับตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่สหรัฐฯ คนต่อไปคือ จาเน็ตต์ เนเชวัต (Janette Nesheiwat) ผู้อำนวยการของเครือข่ายคลินิกดูแลฉุกเฉินในนิวยอร์ก ตามการแต่งตั้งของทรัมป์ ซึ่งจะรับตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อได้รับการรับรองจาก สว. ชุดใหม่เสียก่อน โดย เนเชวัต เคยให้ความเห็นว่า ตนสนับสนุนให้จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ และยกย่องคนหนุ่ม-สาวชาวอเมริกันที่ดื่มน้อยกว่าประชากรที่อายุมากกว่า
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี