12 ม.ค. 2568 สำนักข่าว Hong Kong Free Press ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ Families of Hongkongers trapped in Myanmar ‘scam farms’ plead for their return after Chinese actor’s rescue ว่าด้วยการช่วยเหลือนักแสดงหนุ่มชาวจีนที่ถูกล่อลวงอ้างว่าจะให้มาทำงานในประเทศไทยก่อนจะถูกนำตัวข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนปัญหา “ทางผ่านของอาชญากรรมข้ามชาติ” ของไทย ในการถูกใช้โฆษณาชวนเชื่อกับคนทั่วโลกว่า “มีการดีๆ ให้ทำ” ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” มิจฉาชีพออนไลน์ ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่อีกฝั่งของชายแดน
รายงานข่าวเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของชาวฮ่องกงรายหนึ่ง ในฤดูร้อนของปี 2567 เห็นโฆษณาหางานที่ระบุว่า รับสมัครงานเจ้าหน้าที่จัดซื้อที่ขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อตัดสินใจเดินทางมาตามประกาศ กลับถูกยึดเอกสารประจำตัวและถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมา และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ญาติของเหยื่อที่ขอใช้ชื่อว่า “เคลวิน (Kelvin)” ได้รับสายโทรศัพท์ที่อีกฝ่ายใช้ภาษาจีนกลาง บอกว่าขณะนี้ชาวฮ่องกงคนดังกล่าวถูกบังคับให้ทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่หากอยากได้ตัวคืนต้องหาเงินจ่ายเป็นค่าไถ่ 5 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 17.5 ล้านบาท) แต่ก็ไม่รู้จะหาเงินมากขนาดนั้นมาได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ข่าวการช่วยเหลือ หวังซิง (Wang Xing) นักแสดงหนุ่มจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งหายตัวไปเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2568 บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเมื่อมีการประสานข้อมูลกันระหว่างทางการไทยกับจีน ทำให้ เคลวิน มีความหวัง โดยการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 เคลวินได้เรียกร้องให้ทางการฮ่องกงทำงานกับทางการจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นในเรื่องนี้ เพราะเรื่องการทูตเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลกลาง
“การช่วยเหลือ (หวัง) ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันนับตั้งแต่มีการรายงานกรณีของเขา ฉันไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นเพราะว่าเขามีชื่อเสียงและได้รับความสนใจมาก แต่สมาชิกในครอบครัวของฉันเป็นพลเมืองธรรมดาที่ไม่มีใครสังเกตเห็น ฉันหวังว่ารัฐบาลไทยจะช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวของฉันและช่วยเหลือพวกเขาโดยเร็วที่สุด” เคลวิน กล่าว
คดีการค้ามนุษย์ชาวฮ่องกงไปยังเมียนมาเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่มีการรายงานอย่างกว้างขวางในปี 2565 นอกเหนือจากรูปแบบอื่นๆ ของอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ยังเพิ่มขึ้นตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ในปี 2564 ทำให้สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมาระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์รุนแรงขึ้น นับจากนั้น เมียนมาได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อาชญากรรมข้ามชาติชั้นนำของโลก ตามดัชนีอาชญากรรมที่จัดตั้งขึ้นทั่วโลก
“เวนดี (Wendy)” ซึ่งสมาชิกในครอบครัวถูกควบคุมตัวอยู่ที่เมียนมาเช่นกัน ได้แบ่งปันความผิดหวังเช่นเดียวกับเคลวิน โดยกล่าวว่า ในฐานะประชาชนทั่วไป เราประสบเวลาเกือบครึ่งปีโดยที่ไม่สามารถช่วยชีวิตสมาชิกในครอบครัวของเราไว้ได้ และเราไม่มีทางช่วยเหลือตนเองได้เลยจริงๆ เป็นเรื่องดีที่บางคนได้รับการช่วยเหลือ แต่ในฐานะสมาชิกในครอบครัว ยิ่งเราเห็นกรณีที่ประสบความสำเร็จมากเท่าใด เราก็ยิ่งรู้สึกไร้หนทางมากขึ้นเท่านั้น
แอนดี หยู (Andy Yu) อดีตสมาชิกสภาเขตของฮ่องกง กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 ว่า มิจฉาชีพจะหลอกลวงเหยื่อเรื่องการรับสมัครงาน ผ่านการโฆษณาบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ หรือส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่น หรือบ้างก็มีการแนะนำกันปากต่อปากในกลุ่มเพื่อน ซึ่งตนก็ไม่มั่นใจว่าคนที่แนะนำนั้นรู้หรือไม่ว่ากำลังส่งเสริมขบวนการค้ามนุษย์ และมีข้อสังเกตว่า มิจฉาชีพจะอ้างว่าสถานที่ทำงานอยู่ในไต้หวันหรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการพักผ่อนของชาวฮ่องกง โดยหวังว่าเหยื่อจะลดความระมัดระวังลง
กรณีของเวนดี ญาติที่ถูกลักพาตัวนั้นใช้ชื่อว่า “เอส” ซึ่งทั้ง 2 คนขอใช้นามสมมติเพราะกลัวมิจฉาชีพจะระบุตัวตนได้ จากการติดตามสัญญาณโทรศัพท์ เอสเดินทางไปยังประเทศไทยก่อนข้ามชายแดนไปยังเมียนมา และอยู่ที่นั่นมาแล้วกว่า 4 เดือน ซึ่งเมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ เวนดีเล่าว่าตนสัมผัสถึง “ความกลัว” ได้จากน้ำเสียงของเอส จากบันทึกข้อความที่พบในเครื่องคอมพิวเตอร์ เวนดีปะติดปะต่อได้ว่า เอสเชื่อว่าจะได้ทำงานเป็นตัวแทนจัดซื้อ โดยได้รับมอบหมายให้บินไปรับพัสดุที่เมืองไทยเพื่อนำไปส่งที่ญี่ปุ่น
จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567 มีรายงานผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 26 รายต่อทางการฮ่องกง โดย 13 รายเดินทางกลับฮ่องกงแล้ว ตามข้อมูลของสำนักงานความมั่นคง คริส ถัง (Chris Tang) หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของฮ่องกง กล่าวกับสมาชิกสภาเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ว่าทางการจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่เพื่อนำเหยื่อกลับบ้าน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะทำอย่างไร
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานความมั่นคงฮ่องกง พบว่า ในปี 2565 ชาวฮ่องกง 46 คนได้ขอความช่วยเหลือจากทางการหลังจากที่ถูกหลอกไปเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในเดือน พ.ย. 2565 มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้กลับบ้าน แต่เวนตีมองว่า ตัวเลขเหล่านี้ไมได้สร้างความเชื่อมั่น เพราะทางการฮ่องกงไม่ได้ระบุว่าผู้ที่ได้กลับบ้านได้รับอิสรภาพผ่านช่องทางการทูตหรือการจ่ายค่าไถ่ตามที่ขบวนการค้ามนุษย์เรียกร้อง และเช่นเดียวกับเคลวิน เอสถูกเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 5 แสนเหรียญสหรัฐ ซึ่งเวนดีก็ไม่มีเงินขนาดนั้นเช่นกัน หรือแม้จะมีแต่ก็ไม่มั่นใจว่าจ่ายไปแล้วจะได้ตัวญาติของตนกลับคืนมาจริงๆ หรือไม่
ภาพถ่ายดาวเทียมของ KK Park หนึ่งในฐานปฏิบัติการมิจฉาชีพออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 (ซ้าย) และวันที่ 20 ก.พ. 2567 (ขวา) รูปภาพ: Google Earth/Hong Kong Free Press
เหยื่อค้ามนุษย์อาจถูกควบคุมตัวอยู่ในบริเวณต่างๆ หลายแห่งตามแนวชายแดนทางใต้ของเมียนมา รวมถึงโครงการ เคเค ปาร์ค (KK Park) , เขตตงเหม่ย (Dongmei Zone) และโครงการเมืองใหม่ ชเวก๊กโก (Shwe Kokko) ขณะที่กองกำลังป้องกันชายแดนกะเหรี่ยง ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ดูเหมือนจะพยายามแยกตัวจากกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาที่เคยเป็นพันธมิตรด้วย ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับทั้ง 3 พื้นที่
ตามรายงานของกลุ่มนักเคลื่อนไหว Justice for Myanmar ชี้ว่า ฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเขตอิทธิพลของ KNA มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรชาวจีน ขณะที่เอกสารการยื่นฟ้องของบริษัทต่างๆ ในเมียนมาที่เปิดเผยโดย Distributed Denial of Secrets ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลที่ไม่แสวงหากำไรเมื่อปี 2567 ยังเผยให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกงในโครงการดังกล่าวด้วย
ตามข้อมูลของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า จนถึงเดือน เม.ย. 2567 มีเหยื่อค้ามนุษย์ราว 45,000 คนได้กลับบ้าน ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ จนทำให้ฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทางภาคเหนือของเมียนมา ต้องยอมปล่อยตัวเหยื่อค้ามนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน แต่เวนดียังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนใดๆ เลยตั้งแต่เธอแจ้งคดีของเอสให้ตำรวจและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทราบ ซึ่งแม้ ตม. จะประสานกับตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) รวมถึงทางการไทยและเมียนมา แต่ปัญหาคือทางการฮ่องกงไม่มีอำนาจทางการทูต โดยเรื่องนี้เป็นอำนาจของทางการจีนแผ่นดินใหญ่
เมื่อสิ้นความหวังในกระบวนการของรัฐ เวนดีตัดสินใจมองหาสิ่งที่ดูคล้ายกับ “ทหารรับจ้าง (Vigilante-Style)” จากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมในจีนอย่าง WeChat และ Xiaohongshu ซึ่งพบว่า มีกลุ่มคนที่อ้างว่าสามารถช่วยเหยื่อค้ามนุษย์หลบหนีจากฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาได้ พร้อมกับโพสต์ภาพที่ดูเหมือนเป็นชายชาวจีนถือสิ่งดูคล้ายกับปืนไรเฟิล แต่เคลวินลังเลที่จะจ้างกลุ่มคนเหล่านี้ เนื่องจากบางคนที่อ้างว่ารับงานดังกล่าว ขอมัดจำล่วงหน้าเป็นเงิน 2 แสน – 1 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 9 แสน – 4.5 ล้านบาท)
รายงานข่าวทิ้งท้ายด้วยความเห็นของ เด็บบี ชาน (Debby Chan) อาจารย์ประจำโรงเรียนนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่กล่าวว่า ทางการจีนแผ่นดินใหญ่สามารถใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ได้กับทั้งรัฐบาลทหารและกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา หลักฐานเชิงประจักษ์คือชาวจีนที่ถูกล่อลวงไปร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาเป็นจำนวนมากถูกส่งกลับ นั่นคืออิทธิพลที่ทางการจีนมี
‘ปักกิ่งสามารถดึงเชือกเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ได้ แม้ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ไม่แน่นอนในเมียนมา’ ชาน กล่าว
ขอบคุณเรื่องและภาพจาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/local/851745 เปิดคำให้การ'ซิงซิง'โดนชาวจีนด้วยกันหลอกรับงาน รู้ตัวหลังถูกพาข้ามแดน แต่ไม่กล้าขัดขืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี