12 ม.ค. 2568 สำนักข่าว Anadolu Agency ของตุรกี เสนอรายงานพิเศษ Collapsed Syrian economy requires international assistance for recovery ระบุว่า แม้จะสิ้นสุยุคสมัยที่ยาวนานหลายสิบปีของรัฐบาลเผด็จการตระกูลอัสซาด เมื่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านสามารถเข้ายึดกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียได้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2567 แต่สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลอัสซาดกับฝ่ายต่อต้านที่กินเวลาถึง 13 ปี ก็สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของซีเรีย และทำให้ประเทศแห่งนี้ต้องการการลงทุนอย่างมากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ความขัดแย้งได้ทำลายบ้านเรือน ธุรกิจ สถานศึกษา และระบบไฟฟ้า ขณะที่มีชาวซีเรียพลัดถิ่นสูงถึง 6 ล้านคนทั่วโลกและอีก 7 ล้านคนภายในประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การประเมินระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมดถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่เน้นย้ำถึงความจำเป็นของความพยายามระดับนานาชาติในการฟื้นฟู โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติเน้นย้ำถึงความต้องการที่ชัดเจน ในการลงทุนเพื่อความมั่นคงในระยะยาวของซีเรีย รวมไปถึงการสร้างบริการที่จำเป็นขึ้นมาใหม่ เช่น การเข้าถึงไฟฟ้า และการช่วยเหลือประชาชนให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ที่เผยแพร่เมื่อกลางปี 2567 ชาวซีเรียประมาณร้อยละ 69 อาศัยอยู่ในความยากจน โดยความยากจนขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 จากระดับที่ไม่มีนัยสำคัญในปี 2552 สงครามได้ผลักดันให้ประชากรมากกว่า 1 ใน 4 อยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง ซึ่งหมายถึงการดำรงชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐ (ราว 70 บาท) ต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ค่าเฉลี่ยประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของซีเรียหดตัวมากกว่าร้อยละ 85 ตั้งแต่ปี 2554 - 2566 เหลือ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะหดตัวอีกร้อยละ 1.5 ในปี 2568
การผลิตน้ำมันลดลงจาก 383,000 บาร์เรลต่อวันก่อนเกิดความขัดแย้ง เหลือเพียง 90,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2566 ซึ่งประเทศแห่งนี้เคยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก แต่ปัจจุบันเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน โดยพึ่งพาการขนส่งจากอิหร่านเป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 การนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการบริโภคน้ำมันในประเทศ
ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน โดยเกษตรกรต้องอพยพออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและระบบชลประทานได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ผลผลิตพืชผลลดลง ส่วนการค้าต่างประเทศก็อยู่ในภาวะวิกฤติ โดยผลผลิตทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศที่ลดลง ทำให้ซีเรียต้องพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น
ด้านค่าเงิน พบว่า เงินสกุลปอนด์ซีเรียได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยมูลค่าลดลงหลายพันเปอร์เซ็นต์ รวมถึงการลดลงถึงร้อยละ 141 ในปี 2566 เพียงปีเดียว การล่มสลายของสกุลเงินนี้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นระหว่างร้อยละ 60 ถึงร้อยละ 200 ในช่วง 5 ปีล่าสุด นอกจากนี้ ความเสียหายต่อสนามบินที่เกี่ยวข้องกับสงคราม การระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ การยุติการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศที่หยุดชะงัก ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ทุนสำรองที่หมดลง และความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจที่ถูกทำลายไป ก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม หลังจากกองกำลังฝ่ายต่อต้านซึ่งนำโดยกลุ่ม HTS เข้ายึดอำนาจการปกครองและจัดตั้งรัฐบาลรักษาการได้สำเร็จ ดูเหมือนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบางส่วนจะดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีความช่วยเหลือต่างประเทศ เช่น ในกรณีของตุรกี มีความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ทำให้ความต้องการพื้นฐานของชาวซีเรีย เช่น อาหาร ได้รับการตอบสนอง ขณะที่กาตาร์กลายเป็นผู้บริจาครายใหญ่ โดยส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำนวนมาก และคาดว่าจะช่วยระดมทุนสำหรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐในซีเรียได้
ในสัปดาห์นี้ โอมาร์ โบลัต (Omer Bolat) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของตุรกี ได้พบปะกับผู้นำภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมของตุรกี เพื่อหารือเกี่ยวกับการฟื้นฟูซีเรียและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยกระทรงพาณิชย์ของตุรกี แสดงการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อความร่วมมือในการสร้างซีเรียขึ้นใหม่เพื่อสร้างโครงสร้างของรัฐ สันติภาพ และความมั่นคงที่ยั่งยืน
รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ประกาศผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรซีเรียเป็นเวลา 6 เดือน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก็ถือเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร การกลับเข้าสู่ระบบธนาคารโลก และการเข้าถึงกองทุนระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของซีเรีย หากไม่มีมาตรการเหล่านี้ การผลิต การค้า และการฟื้นฟูตลาดยังคงเป็นไปไม่ได้
มาเฮอร์ มาร์วาน (Maher Marwan) ผู้ว่าการกรุงดามัสกัส กล่าวเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ว่า ความสามัคคีในชาติและการดึงดูดการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำคนใหม่ โดยย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาล การติดตามสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความไว้วางใจ
รัฐบาลใหม่ของซีเรียได้ให้คำมั่นว่าจะมุ่งเน้นความพยายามในการฟื้นฟูโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น แหล่งน้ำมันและที่ดินเกษตรกรรม ขณะเดียวกันก็ขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การลงทุนจากต่างประเทศ และการสนับสนุนทางการเมืองเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตร โดยรัฐบาลรักษาการได้เน้นย้ำถึงความพร้อมที่จะฟื้นฟูสถานการณ์ปกติในซีเรีย และเรียกร้องความช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูองค์รวม
ขอบคุณภากจากรอยเตอร์
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี