13 มกราคม 2568 คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนเปิดเผยการค้นพบแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ จำนวน 2 แห่ง ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งหนึ่งแห่งเป็นแหล่งฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod) ขนาดเล็กที่สุดในโลกที่มีอายุกว่า 166 ล้านปี
รายงานระบุว่าทีมนักธรณีวิทยาค้นพบร่องรอยลักษณะคล้ายสัตว์เลื้อยคลานบนพื้นที่ริมถนนของหมู่บ้านเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 จึงประสานงานกับคณะนักบรรพชีวินวิทยาเพื่อวิเคราะห์เชิงลึกจนสามารถระบุว่าเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดและกลุ่มเทโรพอด (Theropod) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อจากยุคจูราสสิกกลาง
อนึ่ง วารสารฮิสทอรริคัล ไบโอโลจี (Historical Biology) เผยแพร่ผลการศึกษานี้ทางออนไลน์เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2024
การศึกษาพบว่าหนึ่งแห่งมีร่องรอยการเดินของไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน 3 รอย แต่ละรอยยาวราว 42 เซนติเมตร คาดว่าเป็นของกลุ่มฟอสซิลรอยเท้ายูบรอนเตส (Eubrontes) ซึ่งพบไม่บ่อยในบันทึกรอยเท้าไดโนเสาร์ยุคจูราสสิกของทิเบต โดยรอยเท้าเหล่านี้บ่งชี้ว่าภูมิภาคนี้เคยเป็นที่อยู่ของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางที่อาจยาวถึง 6 เมตร
(ภาพจากสิงลี่ต๋า รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) : ฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ที่พบในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบตทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน (ซ้าย) พร้อมภาพ 3 มิติ)
ขณะอีกหนึ่งแห่งมีรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดขนาดเล็กที่อยู่กระจัดกระจาย ขนาด 8.8-15.5 เซนติเมตร คาดว่าเป็นของไดโนเสาร์มากกว่า 6 ตัว ซึ่งมีลำตัวยาวไม่เกิน 2 เมตร โดยสิงลี่ต๋า รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) เผยว่าการพบรอยเท้าซอโรพอดขนาดเล็กเช่นนี้ถือว่าหายาก
สิง ผู้เขียนหลักของการศึกษานี้ กล่าวว่าการวิจัยก่อนหน้านี้บอกว่ามีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด ขนาด 12.2 เซนติเมตร ในเกาหลีใต้ และขนาด 11.5-13 เซนติเมตร ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน
การค้นพบครั้งนี้ในทิเบตช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดในพื้นที่เมืองชางตู รวมถึงบ่งชี้ว่าอาจเคยมีไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดขนาดเล็กกว่าอยู่ในภูมิภาคนี้ หรือไดโนเสาร์เหล่านี้มีการแยกกลุ่มตามอายุและมีพัฒนาการอันดีตั้งแต่แรกเกิด
ไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดวัยเยาว์กับวัยโตเต็มวัยนั้นมีขนาดตัวแตกต่างกันมาก โดยไดโนเสาร์กลุ่มนี้ที่โตเต็มวัยอาจมีลำตัวยาว 20-30 เมตร แต่ลูกซอโรพอดฟักออกจากไข่มาใหม่จะตัวยาวไม่ถึงครึ่งเมตร ซึ่งความแตกต่างนี้นำสู่รูปแบบการเคลื่อนไหวและแหล่งอาหารที่แตกต่างกันตามอายุ นำสู่การแบ่งกลุ่มตามอายุของไดโนเสาร์ซอโรพอดสายพันธุ์ต่างๆ
(ภาพจากสิงลี่ต๋า รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) : ภาพจำลองไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดที่อ้างอิงจากฟอสซิลรอยเท้าที่ค้นพบในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบตทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)
แม้ภูมิภาคทิเบตอยู่ห่างไกลและตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก แต่คณะนักวิทยาศาสตร์ได้เดินทางสำรวจพื้นที่นี้เป็นประจำตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ทำให้ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ยุคจูราสสิกตอนต้นและตอนกลางจำนวนมาก โดยทีมของสิงค้นพบฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดยุคจูราสสิกใกล้ทางหลวงสาย 214 ในเมืองชางตูเมื่อปี 2011
คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าสำหรับภูมิภาคอย่างเมืองชางตู การตกตะกอนทางทะเล (marine sedimentation) ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในยุคจูราสสิกตอนต้น ก่อนจะแปรสภาพเป็นแอ่งแผ่นดินห่างไกลทะเลในยุคจูราสสิกตอนกลาง โดยชั้นหินยุคจูราสสิกที่ลึกที่สุดมีความลึกมากกว่า 4,800 เมตร ช่วยให้เกิดการค้นพบฟอสซิลจำนวนมาก
สิงกล่าวว่าการค้นพบเหล่านี้ตอกย้ำศักยภาพมหาศาลของการวิจัยไดโนเสาร์ในทิเบต และการศึกษาเพิ่มเติมจะมีส่วนส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาของสาธารณชนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี