14 ม.ค. 2568 สถานีโทรทัศน์ KPVI สื่อท้องถิ่นในเมืองโพคาเทลโล รัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Japanese tourist hotspot Kyoto to hike hotel taxes ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2567 จะทำลายสถิติมากกว่า 35 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีกับข่าวนี้ โดยเฉพาะในเกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่ยังคงหลงเหลือประเพณีดั้งเดิม ซึ่งมีชื่อเสียงจากนักแสดงเกอิชาในชุดกิโมโนและวัดของศาสนาพุทธ
ล่าสุดในวันที่ 14 ม.ค. 2568 ฝ่ายบริหารของเมืองเกียวโต ได้เปิดเผยแผนปรับขึ้นภาษีโรงแรมครั้งใหญ่ เนื่องจากเมืองโบราณอันงดงามแห่งนี้ต้องการบรรเทาความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกิน โดยสำหรับห้องพักในเกียวโตที่มีราคา 20,000-50,000 เยน (127-317 เหรียญสหรัฐ หรือราว 4,400-11,000 บาท) ต่อคืน นักท่องเที่ยวจะต้องเสียภาษีเพิ่มเป็นสองเท่า โดยเพิ่มเป็น 1,000 เยน (6.35 เหรียญสหรัฐ หรือราว 222 บาท) ต่อคนต่อคืน ขณะที่ห้องพักที่มีราคาเกิน 100,000 เยน (ราว 22,000 บาท) ต่อคืน ภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าเป็น 10,000 เยน (ราว 2,200 บาท)
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติของเมืองเสียก่อน หากผ่านออกมาเป็นกฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 ซึ่งฝ่ายบริหารของเมืองเกียวโต ชี้แจงว่า การขึ้นภาษีที่พักครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยความพอใจระดับสูงทั้งกับประชาชน นักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ในหลายเมืองของญี่ปุ่น ตั้งแต่กรุงโตเกียวไปจนถึงเมืองโอซากาและฟุกุโอกะ ต่างเรียกเก็บค่าที่พักจากนักท่องเที่ยวเป็นเงินหลายร้อยเยนต่อคืนแล้ว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ชาวเมืองเกียวโตบ่นว่านักท่องเที่ยวคอยรังควานเกอิชาเหมือนปาปารัสซี่ที่คอยถ่ายรูปให้ผู้ติดตามอินสตาแกรมของตนดูตื่นตาตื่นใจ ความตึงเครียดสูงสุดเกิดขึ้นในย่านกิออน ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านน้ำชาที่ “เกอิโกะ” ซึ่งเป็นชื่อท้องถิ่นของเกอิชา และ “ไมโกะ” ซึ่งเป็นลูกศิษย์จะเต้นรำแบบดั้งเดิมและเล่นเครื่องดนตรี โดยในปี 2567 ทางการได้เคลื่อนไหวเพื่อห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปในตรอกซอกซอยส่วนตัวแคบๆ บางแห่งในกิออน หลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากสภาผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น
ก่อนหน้านี้ สมาชิกในชุมชนคนหนึ่งได้บอกกับสื่อญี่ปุ่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กิโมโนของไมโกะฉีกขาด และอีกคนหนึ่งถูกก้นบุหรี่เสียบอยู่ที่คอของชุดที่ดูสะอาดสะอ้านของเธอ กระทั่งในปี 2562 สภาเขตกิออนได้ติดป้ายเตือนว่า "ห้ามถ่ายรูปบนถนนส่วนตัว" ซึ่งอาจต้องเสียค่าปรับสูงสุด 10,000 เยน (ราว 2,200 บาท) และตามการสำรวจล่าสุด พบว่าชาวเกียวโตไม่พอใจกับปัญหาการจราจรติดขัดและการประพฤติตัวไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวแห่ไปญี่ปุ่นตั้งแต่ที่ยกเลิกข้อจำกัดการระบาดใหญ่ โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม ธรรมชาติ และเงินเยนที่อ่อนค่าลง ซึ่งนอกจากที่เกียวโต ทางการญี่ปุ่นยังมีมาตรการควบคุมการเข้าไปของนักท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมและกำหนดจำนวนนักปีนเขาที่ปีนภูเขาไฟฟูจิอันโด่งดังในแต่ละวัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้ผล โดยตัวเลขเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าจำนวนนักปีนเขาลดลงร้อยละ 14 ในช่วงฤดูปีนเขาฤดูร้อนระหว่างเดือน ก.ค. – ก.ย. 2567
ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีการสร้างกำแพงกั้นชั่วคราวหน้าร้านสะดวกซื้อที่มองเห็นวิวภูเขาไฟฟูจิอันตระการตา ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยากถ่ายภาพ และในเดือน ธ.ค. 2567 กินซันออนเซ็น เมืองน้ำพุร้อนของญี่ปุ่นซึ่งได้รับความนิยมจากทิวทัศน์หิมะที่สวยงามน่าถ่ายภาพ ได้เริ่มโครงการทดลองจำกัดการเข้าเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบไปเช้า-เย็นกลับ โดยเฉพาะผู้เข้าพักในโรงแรมในท้องถิ่นเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองได้หลัง 20.00 น. ในขณะที่ผู้ที่ต้องการเข้าชมระหว่าง 17.00 น. - 20.00 น. จะต้องจองก่อน
ขอบคุณเรื่องและภาพจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี