15 ม.ค. 2568 เว็บไซต์ news.un.org ซึ่งเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่ข่าว US: UN rights expert welcomes court ruling reaffirming sex-based protections in education ระบุว่า รีม อัลซาเล็ม (Reem Alsalem) ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิ แสดงความยินดีกับคำวินิจฉัยของศาลในมลรัฐเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2568 ที่ชี้ว่า การแก้ไขกฎหมายที่เรียกว่า “Title IX” โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กฎหมาย Title IX ถูกบังคับใช้เป็นครั้งแรกในปี 2515 เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศในโครงการหรือกิจกรรมทางการศึกษาที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จนกระทั่งในเดือน เม.ย. 2567 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงนักเรียนข้ามเพศ (Transgender) และผู้ที่ไม่ระบุเพศ (Non-Binary) เป็นต้น โดยพิจารณาจากอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) และรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation)
ในคำวินิจฉัย ศาลได้อธิบายว่า ระเบียบข้อบังคับซึ่งกำหนดขอบเขตใหม่ของการเลือกปฏิบัติทางเพศภายใต้ Title IX ให้รวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศนั้นเกินขอบเขตอำนาจตามกฎหมายและละเมิดการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการปกป้องสิทธิของผู้หญิงในการไม่เลือกปฏิบัติโดยพิจารณาจากเพศของตน และยืนยันพันธกรณีของสหรัฐอเมริกาในการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนี้
อัลซาเล็ม กล่าวเพิ่มเติมว่า คำตัดสินนี้ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่า เมื่อพิจารณา Title IX โดยรวม จะชัดเจนมากว่าการเลือกปฏิบัติโดยพิจารณาจากเพศหมายถึงการเลือกปฏิบัติโดยพิจารณาจากความเป็นชายและหญิง ซึ่ง Title IX ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในระบบการศึกษาของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ในอดีต โดยเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ตนเขียนจดหมายถึงรัฐบาลสหรัฐฯ โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการเปลี่ยนแปลงที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
“ศาลได้ฟื้นฟูความชัดเจนของข้อเท็จจริงและสามัญสำนึกในการออกแบบนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงโดยรักษาเจตนารมณ์เดิมของ Title IX และยืนยันสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาภายใต้เงื่อนไขของศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม และความปลอดภัย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจอย่างรอบคอบและยืนยันความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” อัลซาเล็ม กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ได้แต่งตั้งผู้รายงานพิเศษเพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ในประเทศเฉพาะหรือประเด็นเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ โดยทำงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ และไม่ได้รับค่าตอบแทนสำหรับงานของพวกเขา
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Biden protections for transgender students struck down by US judge ระบุว่า กฎหมาย Title IX ฉบับปี 2515 อนุญาตให้มีห้องน้ำ หอพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่แยกตามเพศ แต่ความพยายามแก้ไขครั้งล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ คือห้ามการแบ่งแยกใดๆ ตามเพศโดยไม่เหมาะสม ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการบังคับให้สถานศึกษาต้องอนุญาตให้นักเรียนที่เป็น “หญิงข้ามเพศ” (สาวประเภทสอง) หมายถึงมีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศหญิง ใช้ห้องน้ำและห้องล็อกเกอร์ของนักเรียนที่เป็นหญิงแท้ได้
แดนนี รีฟส์ (Danny Reeves) ผู้พิพากษาศาลแขวงของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในเมืองเล็กซิงตัน มลรัฐเคนตักกี้ ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยคว่ำการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อธิบายว่า การขยายความหมายของคำว่า “บนพื้นฐานของเพศ (on the basis of sex)' ให้รวมถึง “อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity)” ทำให้กฎหมาย Title IX มีลักษณะกลับหัวกลับหาง โดยกฎดังกล่าวจะละเมิดสิทธิเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพทางศาสนาของนักการศึกษาภายใต้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 โดยกำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาต้องใช้คำสรรพนามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของนักเรียน ไม่ใช่ “เพศทางชีววิทยา (Biological Sex)” หรือเพศกำเนิด
ในวันเดียวกับที่ศาลมีคำวินิจฉัย โจนาธาน สเครเมตติ (Jonathan Skrmetti) อัยการสูงสุดของรัฐเทนเนสซี ให้ความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วทั้งสหรัฐฯ และเป็นการปฏิเสธต่อความพยายามอย่างไม่ลดละของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ในการบังคับใช้อุดมการณ์ทางเพศที่รุนแรงผ่านการออกกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมาย
ขอบคุณเรื่องจาก
https://news.un.org/en/story/2025/01/1159011
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี