16 ม.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Israel, Hamas reach ceasefire deal to end 15 months of war in Gaza ระบุว่า หลังจากต่อสู้กันมายาวนานถึง 15 เดือน ในที่สุดอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสก็บรรลุข้อตกลงหยุดยิง โดยข้อตกลงแบบแบ่งระยะที่ซับซ้อนนี้ระบุถึงการหยุดยิงเบื้องต้นเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งฝ่ายอิสราเอลจะค่อยๆ ถอนกำลังทหารออกจากดินแดนฉนวนกาซา ขณะที่ฝ่ายฮามาสจะปล่อยตัวประกันที่ควบคุมตัวไว้ โดยแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในการควบคุมตัวของอิสราเอล
ที่กรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล ธานี ()Sheikh Mohammed bin Abdulrahman Al Thani) นายกรัฐมนตรีของกาตาร์ กล่าวในการแถลงข่าว ระบุข้อตกลงหยุดยิงนี้จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 19 ม.ค. 2568 โดยผู้เจรจากำลังดำเนินการร่วมกับทั้งอิสราเอลและฮามาส ขณะที่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะยุติการสู้รบในฉนวนกาซา เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพลเรือนชาวปาเลสไตน์ และช่วยให้ตัวประกันได้กลับไปอยู่กับครอบครัว หลังต้องพลัดพรากยาวนานถึง 15 เดือน
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน การโจมตีฉนวนกาซาโดยกองทัพอิสราเอลยังคงเกิดขึ้น ตามรายงานล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 15 ม.ค. 2568 ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ การโจมตีในฉนวนกาซาและทางตอนเหนือของฉนวนกาซาทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 32 คน และนับตั้งแต่เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส มีผู้เสียชีวิตในดินแดนฉนวนกาซาแล้วกว่า 46,000 ราย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์ที่ใกล้ชิดกับการเจรจา เปิดเผยว่า ผู้ไกล่เกลี่ยกำลังพยายามให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบก่อนที่การหยุดยิงตามข้อตกลงจะเริ่มขึ้น
ชาวปาเลสไตน์ตอบรับข่าวข้อตกลงดังกล่าวด้วยการเฉลิมฉลองบนท้องถนนในฉนวนกาซา ซึ่งพวกเขาเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำ ที่พักพิง และเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง ในเมืองคานยูนิส ฝูงชนแออัดยัดเยียดบนท้องถนนท่ามกลางเสียงแตรรถที่โห่ร้อง โบกธงปาเลสไตน์ และเต้นรำ เช่นเดียวกับที่เมืองเทลอาวีฟของอิสราเอล ครอบครัวของตัวประกันชาวอิสราเอลและเพื่อนๆ ของพวกเขาก็แสดงความยินดีกับข่าวนี้
ทางการอิสราเอล ระบุว่า การยอมรับข้อตกลงของอิสราเอลจะยังไม่เป็นทางการจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลของประเทศ โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนเสียงในวันที่ 16 ม.ค. 2568 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติ แม้จะมีการคัดค้านจากกลุ่มหัวรุนแรงบางส่วนในรัฐบาลผสมของอิสราเอล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เบซาเลล สโมทริช (Bezalel Smotrich) ซึ่งกล่าวย้ำถึงการประณามข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568
สำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เปิดเผยว่า นายกฯ เนทันยาฮู โทรศัพท์ไปหาผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน รวมถึงว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไปอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เพื่อขอบคุณ และกล่าวว่าจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ ด้านกลุ่มฮามาส เผยแพร่แถลงการณ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเรียกข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนและเป็นจุดเปลี่ยน
หากประสบความสำเร็จ การหยุดยิงจะช่วยยุติการสู้รบที่ทำลายเมืองใหญ่ในฉนวนกาซาไปจำนวนมาก จนทำให้ประชากร 2.3 ล้านคนในฉนวนกาซาซึ่งเคยอยู่อาศัยก่อนสงครามต้องอพยพออกจากพื้นที่ดังกล่าว และจะช่วยลดความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ ซึ่งสงครามได้จุดชนวนความขัดแย้งในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง ตามด้วยอีกหลายประเทศ เช่น เลบานอน ซีเรีย เยเมน และอิรัก และยังทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีสงครามเต็มรูปแบบระหว่าง 2 ชาติคู่ปรับในภูมิภาคนี้อย่างอิสราเอลกับอิหร่าน
ข้อตกลงระยะที่หนึ่งประกอบด้วยการปล่อยตัวตัวประกันชาวอิสราเอล 33 คน ซึ่งรวมถึงผู้หญิง เด็ก และผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า ตัวประกันชาวอเมริกัน 2 คน ได้แก่ คีธ ซีเกล (Keith Siegel) และซากี เดเคล-เชน (Sagui Dekel-Chen) อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับการปล่อยตัวในระยะแรก ข้อตกลงดังกล่าวเรียกร้องให้มีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กาซาเพิ่มขึ้น และ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้เน้นย้ำว่า ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการบรรเทาความทุกข์ยากอันใหญ่หลวงที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว
ทั้งสหประชาชาติและคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กำลังเตรียมขยายขอบเขตการช่วยเหลืออย่างมหาศาล ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่การเจรจาที่ยุ่งยากและต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือนดำเนินการโดยผู้ไกล่เกลี่ยจากอียิปต์และกาตาร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และเกิดขึ้นก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2568
บนแลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ Truth ของทรัมป์ ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะไม่เกิดขึ้นหากตนไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐในเดือน พ.ค. 2567 สตีฟ วิทคอฟฟ์ (Steve Witkoff) ผู้แทนพิเศษประจำตะวันออกกลางของทรัมป์ อยู่ที่กาตาร์พร้อมกับผู้แทนทำเนียบขาวเพื่อร่วมการเจรจา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไบเดนกล่าวว่าการปรากฏตัวของวิทคอฟฟ์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุข้อตกลง หลังจากการเจรจาที่เข้มข้นเป็นเวลา 96 ชั่วโมง ไบเดนกล่าวว่าทั้งสองทีม "พูดคุยกันเป็นหนึ่งเดียว" แม้ว่ารัฐบาลของทรัมป์จะเป็นผู้ดำเนินการตามข้อตกลงเป็นส่วนใหญ่
อับเดล ฟัตตาห์ อัลซิซี (Abdel Fattah El-Sisi) ประธานาธิบดีของอียิปต์ แสดงความยินดีกับข้อตกลงดังกล่าวในโพสต์บน X เช่นเดียวกับผู้นำและเจ้าหน้าที่จากตุรกี อังกฤษ สหประชาชาติ จอร์แดน เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เส้นทางข้างหน้ามีความซับซ้อนและมีแนวโน้มว่าจะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ครอบครัวตัวประกันชาวอิสราเอลแสดงความกังวลว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเต็มที่ และอาจมีตัวประกันบางส่วนถูกทิ้งไว้ในฉนวนกาซา
การเจรจาเพื่อดำเนินการตามข้อตกลงระยะที่ 2 จะเริ่มขึ้นภายในวันที่ 16 ของระยะที่ 1 โดยคาดว่าระยะนี้จะรวมถึงการปล่อยตัวตัวประกันที่เหลือทั้งหมด การหยุดยิงถาวร และการถอนกำลังของอิสราเอลออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด คาดว่าระยะที่ 3 จะครอบคลุมถึงการส่งศพที่เหลือทั้งหมดกลับคืน และการเริ่มต้นการฟื้นฟูฉนวนกาซาภายใต้การกำกับดูแลของอียิปต์ กาตาร์ และสหประชาชาติ
ทรัมป์ กล่าวว่า ตนจะใช้ข้อตกลงหยุดยิงเป็นแรงผลักดันในการขยายข้อตกลงอับราฮัม ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนประเทศอาหรับหลายประเทศในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกในช่วงปี 2560-2564 โดยข้อตกลงดังกล่าวช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับหลายประเทศ หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น ปาเลสไตน์ กลุ่มรัฐอาหรับ และอิสราเอลยังต้องตกลงกันในวิสัยทัศน์ของฉนวนกาซาหลังสงคราม ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยสำหรับอิสราเอล และการลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการฟื้นฟู
รายงานข่าวทิ้งท้ายไว้ที่คำถามว่า ใครจะเป็นผู้บริหารฉนวนกาซาหลังสงคราม? ซึ่งยังไม่มีคำตอบ สำหรับอิสราเอลนั้นปฏิเสธการมีส่วนร่วมของกลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2550 และประกาศว่าจะทำลายอิสราเอล แต่อีกด้านก็คัดค้านการปกครองโดยทางการปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลงสันติภาพชั่วคราวออสโลเมื่อสามทศวรรษก่อน ซึ่งจำกัดอำนาจการปกครองในเขตเวสต์แบงก์
อิสราเอลส่งกองทัพบุกโจมตีฉนวนกาซา หลังจากแนวร่วมกลุ่มฮามาสพร้อมอาวุธครบมือฝ่าด่านตรวจความมั่นคงและบุกเข้าไปในชุมชนบริเวณชายแดนของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ส่งผลให้ทหารและพลเรือนเสียชีวิต 1,200 ราย และลักพาตัวตัวประกันชาวต่างชาติและชาวอิสราเอลมากกว่า 250 คน ตามรายงานของทางการอิสราเอล นับตั้งแต่นั้นมา สงครามทางอากาศและทางบกของอิสราเอลในฉนวนกาซาได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 46,000 ราย ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของฉนวนกาซา โดยผู้พลัดถิ่นหลายแสนคนต้องดิ้นรนฝ่าความหนาวเย็นในเต็นท์และที่พักชั่วคราว
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี