21 ม.ค. 2568 สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Mexican border town declares state of emergency as Trump pledges mass deportations ระบุว่า ที่เมืองติฮัวนาของเม็กซิโก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐอเมริกา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเตรียมการไว้ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากหวั่นเกรงว่าหาก โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ แล้วดำเนินนโยบายเนรเทศบุคคลต่างด้าวออกจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากตามที่ลั่นวาจาไว้ เมืองแห่งนี้อาจได้รับผลกระทบได้
อิสมาเอล เบอร์เกโญ รูอิซ (Ismael Burgueno Ruiz) นายกเทศมนตรีเมืองติฮัวนา ชี้แจงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า เมืองติฮัวนา ไม่ตื่นตระหนก เพียงแต่ที่ใช้มาตรการนี้เพราะเป็นการป้องกันในกรณีที่ทรัมป์ทำอย่างที่พูดไว้จริงๆ โดยเมืองได้เตรียมพื้นที่ไว้แล้วในกรณีที่มีผู้ถูกเนรเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ศูนย์พักพิงผู้อพยพในเมืองติฮัวนาซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามชายแดนจากเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังเตรียมรับมือกับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพที่อาจเกิดขึ้น
ศูนย์พักพิงกว่า 30 แห่งเปิดให้บริการในเมืองชายแดนเม็กซิโกซึ่งตั้งอยู่ในรัฐบาฮากาลิฟอร์เนีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโก ซึ่งผู้สื่อข่าวของ CNN ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ ได้ข้อมูลว่า การขาดพื้นที่ ทรัพยากร และความไม่แน่นอนโดยรวมเป็นหนึ่งในปัญหาที่ศูนย์พักพิงเหล่านี้ต้องเผชิญ ขณะที่ ซี เจมี มาริน (C Jamie Marín) ผู้อำนวยการศูนย์พักพิง Jardin de las Mariposas กล่าวว่า การเนรเทศผู้อพยพจำนวนมากอาจก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับบริการสำหรับผู้อพยพทั้งที่กำลังเดินทางไปยังสหรัฐฯ และที่ถูกเนรเทศออกมา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แพต เมอร์ฟีย์ (Pat Murphy) ผู้บริหารศูนย์พักพิง Casa del Migrante ยอมรับว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับศูนย์พักพิง คือการไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และตนกำลังเตรียมใจอยู่ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 เมื่อทรัมป์เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ได้กล่าวย้ำอีกครั้งว่า จะเริ่มกระบวนการส่งตัวคนต่างด้าวที่ก่ออาชญากรรมหลายล้านคนกลับไปยังสถานที่ที่คนเหล่านั้นจากมา
อย่างไรก็ตาม เมอร์ฟีย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ Casa del Migrante ตั้งแต่ปี 2556 กล่าวว่า พื้นที่ไม่ใช่ปัญหาเดียว เพราะการต้องดูแลผู้อพยพ คำถามคือใครจะเป็นผู้จัดโปรแกรมและการฝึกอบรม และเชื่อว่าหน่วยงานท้องถิ่นควรทำงานร่วมกับศูนย์พักพิงอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อบรรเทาวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ อัลเบอร์ตินา พอลเล็ตติ (Albertina Pauletti) จากศูนย์พักพิง Madre Assunta ที่กล่าวว่า ไม่ใช่แค่การจัดหาที่นอนและอาหาร แต่ต้องสร้างพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้คนทั้งทางจิตใจและจิตวิญญาณ
ขณะที่ มาริน กล่าวว่า ศูนย์พักพิงต้องการทรัพยากรทางเศรษฐกิจสำหรับอาหาร บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือโครงการส่งตัวกลับถิ่นฐานโดยสมัครใจ โครงการเพิ่มเติมที่ส่งเสริมการบูรณาการและศักดิ์ศรีผ่านการจ้างงาน ความเอาใจใส่ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น
ยังไม่ชัดเจนว่าปัจจุบันมีผู้อพยพจำนวนเท่าใดในเมืองติฮัวนา ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่าตั้งแต่เดือน ม.ค. – ส.ค. 2567 มีผู้อพยพมากกว่า 30,000 คนอยู่ในเมืองในช่วงเวลาหนึ่ง ด้านรัฐบาลกลางของเม็กซิโกกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพ โดยประกาศสร้างศูนย์พักพิงแห่งใหม่ในเมืองชายแดนและคาราวานที่เข้าร่วม โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2568 คลอเดีย เชนบาม (Claudia Sheinbaum) ประธานาธิบดีเม็กซิโก กล่าวว่า ผู้อพยพจำนวนมากตัดสินใจกลับประเทศต้นทางในขณะที่พวกเขากำลังเดิน
รายงานของ CNN ทิ้งท้ายว่า เมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ศูนย์พักพิงยังคงมุ่งมั่นในภารกิจของตน โดย พอลเล็ตติ กล่าวว่า ด้วยการเนรเทศจำนวนมากที่อาจเกิดขึ้น เรากำลังดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ในด้านจิตใจและจิตวิญญาณ และสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนติฮัวนา ผู้ที่ไม่ต้องการกลับไปยังบ้านเกิดของตน
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Trump launches sweeping border crackdown, mass deportation push ระบุว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ทรัมป์ได้เริ่มดำเนินการปราบปรามผู้อพยพข้ามประเทศ โดยมอบหมายให้กองทัพสหรัฐฯ ช่วยเหลือด้านการรักษาความปลอดภัยชายแดน ออกกฎห้ามการขอสถานะผู้ลี้ภัยในวงกว้าง และดำเนินการเพื่อจำกัดสิทธิการเป็นพลเมืองของเด็กที่เกิดบนผืนแผ่นดินสหรัฐฯ
ทรัมป์ประกาศให้การอพยพข้ามประเทศอย่างผิดกฎหมายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ โดยสั่งให้กระทรวงกลาโหมให้การสนับสนุนการก่อสร้างกำแพงชายแดน พื้นที่กักขัง และการขนส่งผู้อพยพระหว่างประเทศ และให้รัฐมนตรีกลาโหมมีอำนาจในการส่งทหารไปยังชายแดนตามความจำเป็น รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาดำเนินโครงการ “อยู่ในเม็กซิโก” อีกครั้ง ซึ่งบังคับให้ผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวเม็กซิกันต้องรอในเม็กซิโกเพื่อรอการแก้ไขกรณีของพวกเขาในสหรัฐฯ
ทรัมป์ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน สามารถยึดทำเนียบขาวคืนมาได้หลังจากสัญญาว่าจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยชายแดนและเนรเทศผู้อพยพจำนวนมาก เขาวิพากษ์วิจารณ์ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าจากพรรคเดโมแครต ว่า มีการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง กระทั่งเมื่อปี 2567 ที่ไบเดนเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงเม็กซิโกก็เพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย จำนวนผู้อพยพที่ถูกจับขณะข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายก็ลดลงอย่างมาก
พรรครีพับลิกัน กล่าวว่า การเนรเทศครั้งใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น หลังจากผู้อพยพหลายล้านคนข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในช่วงที่ไบเดนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มีผู้อพยพประมาณ 11 ล้านคนที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายหรือมีสถานะชั่วคราวในช่วงต้นปี 2565 ตามการประมาณการของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่าจำนวนที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ 13 - 14 ล้านคน ขณะที่การกล่าวสุนทรพจน์ในการเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ทรัมป์ ระบุในตอนหนึ่งว่า ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตนไม่มีความรับผิดชอบใดๆ สูงไปกว่าการปกป้องประเทศของเราจากภัยคุกคามและการรุกราน และนั่นคือสิ่งที่ตนจะทำ
ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์และผู้ที่สนับสนุนผู้อพยพ กล่าวว่า การเนรเทศจำนวนมากอาจก่อกวนธุรกิจ ครอบครัวแตกแยก และทำให้ผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ สูญเสียเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันกล่าวในการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ว่าการตัดสินใจของทรัมป์ที่จะยุติโครงการ CBP One นั้นเป็นการปิดช่องทางเดียวในการขอสถานะผู้ลี้ภัยที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ซึ่งเป็นการเปิดฉากของกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อต่อสู้กับวาระของทรัมป์ในศาล
การสำรวจของ Reuters/Ipsos ในเดือน ธ.ค. 2567 พบว่า ชาวอเมริกันไม่ต้อนรับผู้อพยพที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายมากขึ้นตั้งแต่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่ยังคงระมัดระวังมาตรการที่รุนแรง เช่น การใช้ค่ายกักกัน ขณะที่ชายแดนฝั่งเม็กซิโก ผู้ย้ายถิ่นฐานพบว่าการนัดหมายผ่านแอป CBP One ของไบเดนถูกยกเลิกทันทีหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2568 ผู้คนราว 280,000 คนได้เข้าสู่ระบบแอปเพื่อจองนัดหมายทุกวัน
ผู้ย้ายถิ่นฐานที่กำลังรออยู่ในเมือง ซิวแดด ฮัวเรซ ต้องดิ้นรนหาที่พักระยะสั้น ซื้อตั๋วรถบัส และโทรเรียกสมาชิกในครอบครัวกลับบ้าน หนึ่งในตัวอย่างของผู้ต้องการอพยพ ดาอินนา เดล วัลเล (Daynna del Valle) หญิงวัย 40 ปี ชาวเวเนซุเอลา ใช้เวลา 8 เดือนในเม็กซิโกเพื่อรอการนัดหมายที่ควรจะมาถึงในวันที่ 21 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมาทำงานในร้านทำเล็บแต่มีรายได้น้อยมากจนแทบไม่สามารถส่งเงินกลับไปให้แม่ในโคลอมเบียได้ ซึ่งแม่เป็นผู้ป่วยมะเร็งและต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์สำหรับความดันโลหิต เธอกล่าวว่า ตอนนี้ไม่รู้แล้วว่าจะต้องไปที่ไหนและทำอย่างไร
เดเนีย เมนเดซ (Denia Mendez) หญิงชาวฮอนดูรัส นั่งอยู่ในลานของศูนย์พักพิงผู้อพยพในเมืองเปียดรัสเนกราสของเม็กซิโก ตรงข้ามกับอีเกิลพาส รัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เปิดกล่องจดหมายอีเมลของเธอ 30 นาทีหลังจากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เธอจ้องอีเมลอยู่หลายนาที อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนที่น้ำตาจะคลอเบ้า เมื่อพบว่าการนัดหมายของตนถูกยกเลิก และทำได้เพียงปลอบ โซเฟีย (Sofia) ลูกสาววัย 15 ปี ที่พยายามเข้าแอปฯ CBP One
รายงานของรอยเตอร์ยังกล่าวด้วยว่า ทรัมป์ต้องการยกเลิกสิทธิการได้สัญชาติสหรัฐฯ กับเด็กต่างด้าวที่เกิดในสหรัฐฯ ซึ่งไม่มีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นพลเมืองสหรัฐฯ หรือเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐฯ ได้อย่างถาวร โดยคาดหวังว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 30 วัน ซึ่งแนวคิดนี้ของทรัมป์ นำไปสู่การที่ ACLU และกลุ่มอื่นๆ ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางในรัฐนิวแฮมป์เชียร์อย่างรวดเร็ว
บรรดาผู้เห็นต่างกับทรัมป์ โต้แย้งว่า นโยบายดังกล่าวละเมิดสิทธิของบุคคลใดๆ ที่เกิดในสหรัฐฯ ในการได้รับการพิจารณาให้เป็นพลเมือง ซึ่งบรรจุอยู่ในเงื่อนไขการเป็นพลเมืองของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บทแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 โดย แอนโธนี โรเมโร (Anthony Romero) ผู้อำนวยการบริหารของ ACLU ออกแถลงการณ์ ระบุว่า การปฏิเสธสิทธิพลเมืองแก่เด็กที่เกิดในสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังเป็นการปฏิเสธค่านิยมแบบอเมริกันอย่างไม่รอบคอบและไร้ความปราณีอีกด้วย
ในคำสั่งอื่นๆ ทรัมป์ได้สั่งระงับการตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และสั่งให้ทบทวนความปลอดภัยเพื่อดูว่านักเดินทางจากประเทศบางประเทศควรอยู่ภายใต้การห้ามเดินทางหรือไม่ มีการยกเลิกแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรของสหรัฐฯ (ICE) ซึ่งให้ความสำคัญกับอาชญากรร้ายแรงเป็นอันดับแรก และขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการกำหนดเป้าหมายผู้อพยพด้วยคำสั่งเนรเทศขั้นสุดท้าย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มการขับไล่ได้
แหล่งข่าว 3 ราย ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลทรัมป์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ดำเนินการเพื่อควบคุมศาลตรวจคนเข้าเมืองของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ โดยไล่เจ้าหน้าที่ศาลตรวจคนเข้าเมืองระดับสูง 4 คนออก นอกจากนั้น ยังเริ่มกระบวนการที่จะกำหนดให้ขบวนการค้ายาเสพติดถูกขึ้นบัญชีในฐานะกลุ่มก่อการร้าย และใช้กฎหมายปี 1341 ที่รู้จักกันในชื่อ Alien Enemies Act (กฎหมายว่าด้วยบุคคลต่างด้าวที่เป็นศัตรู) กับสมาชิกแก๊งที่เป็นชาวต่างชาติ
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี