23 ม.ค. 2568 สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานข่าว Syria's interim FM promotes investment drive as UN envoy highlights main obstacles ระบุว่า ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 อาซาอัด ฮัสซัน อัล-ชิบานี (Asaad Hassan al-Shibani) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลเฉพาะกาลของซีเรีย เสนอโอกาสการลงทุนมหาศาล แม้จะต้องเผชิญกับความเสียหายจากสงครามที่ยาวนานกว่าทศวรรษ
ในการหารือกับ โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ อัล-ชิบานี กล่าวว่า ซีเรียให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบโทรคมนาคม ถนน ท่าเรือ การศึกษา การดูแลสุขภาพ และพลังงาน ซึ่งซีเรียไม่ต้องการพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ตั้งเป้าที่จะสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ โดยอ้างถึงความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซียเพื่อฟื้นฟูระบบไฟฟ้า
รมว.ต่างประเทศในรัฐบาลเฉพาะกาลของซีเรีย ยังเน้นย้ำถึงศักยภาพในการมีส่วนสนับสนุนของชาวซีเรียที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ พร้อมกับเรียกร้องนานาชาติให้ยุติการคว่ำบาตรซีเรีย เนื่องจากเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับชาวซีเรียทั่วไป และกล่าวว่าซีเรียมีเศรษฐกิจที่หลากหลาย เป็นภูมิศาสตร์ที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องการการลงทุนจากต่างประเทศในเงื่อนไขที่เป็นธรรมและโปร่งใส โดยซีเรียพร้อมเปิดประตูต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลก โดยอ้างถึงรูปแบบการพัฒนา เช่น สิงคโปร์ และวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดีอาระเบีย
และแม้จะรับทราบถึงความท้าทายที่เกิดจากการคว่ำบาตร ความจำเป็นในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศ และความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่ยังคงดำเนินอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ อัล-ชิบานี ก็เน้นย้ำว่า ซีเรียจะไม่ถูกแบ่งแยก และชาติที่เป็นหนึ่งเดียวและมั่นคงมีความจำเป็นต่อการดึงดูดการลงทุนและตอบสนองความต้องการของประชาชน
ขณะที่ในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เกียร์ เปเดอร์เซน (Geir Pedersen) ทูตพิเศษของสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจของซีเรีย และสนับสนุนให้มีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างเสถียรภาพที่กว้างขึ้น โดยสรุปความท้าทายสำคัญ 7 ประการที่ซีเรียต้องเผชิญ ได้แก่ 1.การรวมกลุ่มติดอาวุธ 2.การแก้ไขปัญหาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.การรับรองการคุ้มครองพลเมือง
4.การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 5.การส่งมอบความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน 6.การส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟู และ 7.การจัดการกับการปรากฏตัวของอิสราเอลบนที่ราบสูงโกลัน พร้อมกับย้ำว่า ทางออกทางการเมืองที่น่าเชื่อถือใดๆ จะต้องนำโดยซีเรียและเป็นของชาวซีเรีย โดยเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบครอบคลุม รวมถึงมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเลือกตั้งที่เสรี
อีกด้านหนึ่ง นสพ.Asahi Shimbun ของญี่ปุ่น รายงานข่าว Syrian refugees in Japan get to work rebuilding their homeland ระบุว่า ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น คาดหวังว่าจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีจากการทำงานในญี่ปุ่น กลับไปฟื้นฟูประเทศบ้านเกิด หลังยุคสมัยการปกครองแบบเผด็จการภายใต้การนำของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) สิ้นสุดลง
มาเฮอร์ อัล อายูบี (Maher Al Ayoubi) ชายชาวซีเรีย วัย 33 ปี ซึ่งทำงานบริษัทไอทีในกรุงโตเกียว เล่าว่า หลังจากซีเรียเข้าสู่สงครามกลางเมืองในปี 2554 ซึ่งเวลานั้นตนกำลังศึกษาเกี่ยวกับไอทีและการเขียนโปรแกรมที่มหาวิทยาลัยดามัสกัส แต่เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว จึงตัดสินใจออกจากซีเรียเข้าไปลี้ภัยในตุรกี กระทั่งในปี 2557 ตนจึงเดินทางเข้ามาในญี่ปุ่น และต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยไปโดยปริยาย
ระหว่างทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ อัล อายูบี ได้พบกับ ยูกิ ซาคาชิตะ (Yuki Sakashita) ชายชาวญี่ปุ่นวัย 37 ปี ที่องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัย ซึ่งจากการพูดคุยกัน ซาคาชิตะ เห็นว่า อัล อายูบี มีทักษะด้านไอทีในระดับที่ใช้การได้ จึงไม่ได้มองในฐานะผู้ลี้ภัย แต่เป็นหุ้นส่วนธุรกิจ และหลังจากนั้นยังมี อิสกันดาร์ ซาลามา (Iskandar Salama) วิศวกรวัย 32 ปี ที่เข้ามาในญี่ปุ่นผ่านโครงการขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) กระทั่งในปี 2562 ทั้ง 3 คน ได้ก่อตั้ง BonZuttner ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาระบบ
บริษัทรับโครงการจากบริษัทญี่ปุ่น โดยอาศัยวิศวกรชาวซีเรีย 4 คนที่พลัดถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในซีเรียหรือประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานจากระยะไกลเพื่อพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น และแม้ความแตกต่างในวัฒนธรรมและประเพณีบางครั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ด้วยการลองผิดลองถูก กลุ่มนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงและบันทึกทุกอย่างไว้
ระบอบการปกครองของอัสซาดล่มสลายในเดือน ธ.ค. 2567 ในขณะที่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้วิศวกรคนหนึ่งต้องย้ายออกจากกรุงดามัสกัสชั่วคราว แต่การดำเนินงานของบริษัทแทบไม่ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อใดที่มาตรการคว่ำบาตรซีเรียได้รับการผ่อนปรนหรือยกเลิก การสื่อสารระยะไกลและการโอนเงินจะราบรื่นขึ้น ทำให้การทำงานง่ายขึ้น และนอกเหนือจากการจ้างคนจากญี่ปุ่นแล้ว ทีมงานยังมุ่งหวังที่จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูซีเรีย
สำหรับ อัล อายูบี และซาลามา พวกเขาหวังมานานแล้วว่าจะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนอนาคตของซีเรีย โดยอัล อายูบี เปิดเผยว่า พ่อแม่ของตนกำลังจะออกจากตุรกีเพื่อกลับไปยังซีเรียเร็วๆ นี้ และหากเป็นไปได้ ตนก็อยากกลับไปเยือนซีเรียทุกปี ขณะที่ซาลามา กล่าวว่า ตนยังไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเทียบกับอดีตแล้วตนก็มองโลกในแง่ดี และตนอยากเป็นสะพานเชื่อมระหว่างญี่ปุ่นและซีเรียมาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ และหนทางข้างหน้าเป็นสิ่งสำคัญ
ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์
ขอบคุณเรื่องจาก
https://english.news.cn/20250123/fb86ae108e92414bb1321000e9ff590b/c.html
https://www.asahi.com/ajw/articles/15596815
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี