1 ก.พ. 2568 นสพ.South China Morning Post ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ No way home for Myanmar migrants stuck in Thai limbo 4 years after coup usurped Aung San Suu Kyi ว่าด้วยครบรอบ 4 ปี กองทัพยึดอำนาจทำรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กับชะตากรรมของชาวเมียนมาที่หนีข้ามพรมแดนเข้าไปใช้ชีวิตในประเทศไทย ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อใดจะมีโอกาสได้กลับบ้าน แต่ขณะที่อยู่ในไทยก็สุ่มเสี่ยงกับการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงาน การถูกขู่กรรโชก และโอกาสทางการศึกษาที่หายไป
รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2566 ระบุว่า มีคนหนุ่ม-สาวชาวเมียนมา หนีข้ามพรมแดนไปฝั่งไทยราว 3.7 ล้านคน ทั้งเพื่อหนีภัยสงครามกลางเมืองและหนีคำสั่งบังคับเกณฑ์ทหาร แต่การหนีก็มีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งการติดสินบนเจ้าหน้าที่และจ่ายให้กับนายหน้า รวมถึงต้องเบียดเสียดกันบนยานพาหนะ ดังที่ ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล (Patima Tungpuchayakul) จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า พ่อแม่พาลูกๆ มาประเทศไทยเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัยและเสี่ยงต่อการที่เด็กๆ จะถูกบังคับเกณฑ์ทหารไปด้วย
ตามข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ร้อยละ 60 ของแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทยไม่ได้เข้าระบบการขึ้นทะเบียน ที่ผ่านมา ทางการไทยได้นำระบบใบอนุญาตทำงานชั่วคราวมาใช้เพื่อลดการหลั่งไหลของแรงงาน และตัดเครือข่ายนายหน้า ตัวแทน และเจ้าหน้าที่ผู้มีพฤติกรรมทุจริตซึ่งต้องได้รับ “ค่าหล่อลื่น (Grease)” เพื่อเข้าถึงงานและบริการ
แต่ในความเป็นจริง เมื่อมาถึงประเทศไทย แรงงานข้ามชาติจำนวนมากจากเมียนมามักจะถูกผลักไสให้เข้าสู่ “เศรษฐกิจเงา (Shadow Economy)” เพื่อเป็นแรงงานราคาถูกสำหรับไซต์ก่อสร้าง ฟาร์ม เรือประมง และตลาด โดย ปฏิมา กล่าวว่า เด็กบางคนปลอมอายุตนเองเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน ขณะที่เด็กบางคนพลาดโอกาสไปโรงเรียนโดยไปช่วยพ่อแม่ทำงานแทน
หลังการรัฐประหารในปี 2564 เศรษฐกิจของเมียนมาตกต่ำอย่างรวดเร็ว ในปี 2567 UN รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 25 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก็หดตัวลงร้อยละ 9 นับจากปี 2563 ซึ่งทำลายการเติบโตในทศวรรษก่อนหน้าไป ขณะที่โรงเรียนในมัยนมา อัตราการสมัครเข้าเรียนของเด็กและเยาวชนก็ลดลงเนื่องจากไฟสงครามและมรสุมเศรษฐกิจ เด็กและเยาวชนเข้าไปอยู่ในตลาดแรงงานแทนที่จะเป็นในสถานศึกษา โดยในช่วงปีการศึกษา 2566 – 2567 รายงานของ UN ระบุว่า เด็กมากกว่าร้อยละ 20 ไม่ได้ไปโรงเรียน
สถานการณ์อาจเลวร้ายลงในประเทศไทย แม้ว่าจะไม่มีสถิติที่ครอบคลุมประชากรที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ โดยชาวเมียนมาที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงการศึกษาในระบบ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนหลายแห่งปฏิเสธนักเรียนที่มีเงินน้อยแต่มีความต้องการสูง ซึ่งรวมถึงการเรียนภาษาไทย และเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว ผู้ปกครองชาวเมียนมาต้องจ่ายเงินค่าโรงเรียนนอกระบบและศูนย์การเรียนรู้ใกล้ตลาดและสถานที่ก่อสร้างที่ตนเองทำงาน
ดังตัวอย่างของ Wai เด็กชายวัย 11 ปี ที่อาศัยอยู่ใกล้ตลาดในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งแม่ของเขาทำงานอยู่ การได้เรียนหนังสืออย่างเป็นทางการเป็นเพียงความฝันที่ห่างไกล ขณะที่ศูนย์การศึกษาที่ได้รับทุนจากชุมชนก็เพิ่งถูกสั่งเมื่อปี 2567 เนื่องจากเปิดดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย โดยครูชาวเมียนมาถูกจับกุมและลงโทษปรับเป็นเงิน 20,000 บาท ชีวิตของเด็กชายต้องไปช่วยแม่เก็บและขายพริกแห้ง ถึงกระนั้นเขาก็ยังพยายามเก็บเงินเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อดิ้นรนให้ตนเองเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้
นอกจากชาวเมียนมาระดับฐานรากแล้ว แม้กระทั่งชาวเมียนมาที่มีทุนทรัพย์สูงก็ยังหนีเข้าไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยซื้อคอนโดมิเนียม ร้านค้า และร้านอาหารระดับกลางที่ปัจจุบันสามารถแข่งขันกับร้านอาหารท้องถิ่นของไทยบนถนนสายหลักในกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ แต่กับคนระดับล่าง เจ้าหนี้นอกระบบและตัวแทนจัดหางานที่น่าสงสัยยังคงคอยสอดส่องชุมชนผู้อพยพที่ยากจน โดยเสนองานหรือบัตรประจำตัวให้กับผู้อพยพในราคาแพงเกินจริง ซึ่งความกลัวการถูกจับกุมทำให้ผู้ที่ถูกหลอกลวงไม่กล้าขอความช่วยเหลือ
กระทรวงแรงงานของประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บเงินแพงเกินสมควรในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยประกาศค่าธรรมเนียมคงที่ 7,600 บาทสำหรับใบอนุญาตทำงานและการตรวจสุขภาพที่จำเป็นในการจ้างงาน นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกข้อกำหนดในการกลับประเทศก่อนต่ออายุใบอนุญาตทำงาน แต่อีกด้านหนึ่ง คนไทยยังมีทัศนคติที่ย้อนแย้ง กล่าวคือ พวกเขาดูถูกชาวเมียนมาที่ยากจน แต่ก็ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ในการขับเคลื่อนเมืองและภาคเกษตร
แน่นอนว่าสำหรับแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน นี่คือกลุ่มเปราะบางที่สุด ดังกรณีของ Sai ชายวัย 20 ปี ที่เสียแขนไปข้างหนึ่งในอุบัติเหตุจากการทำงานในไซต์งานก่อสร้าง นั่นหมายความว่าเขาไม่สามารถทำงานใช้แรงงานเพื่อชำระหนี้เงินกู้ 20,000 บาท (600 เหรียญสหรัฐ) ที่แม่ของเขาได้รับจากเพื่อนบ้านเพื่อช่วยเหลือเขาในการหลบหนีออกจากประเทศได้ ชายหนุ่มกล่าวว่า หากวันใดแผ่นดินเมียนมาสงบตนก็คงดินทางกลับบ้าน แต่ก็ยังไม่รู้ว่ากลับไปแล้วจะหางานทำได้หรือไม่
“ความฝันของผมคือการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กของตัวเองสักวันหนึ่ง บางทีหากผมสามารถเรียนรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์ได้ นั่นอาจเป็นโอกาสที่ดีก็ได้ แต่ผมออกจากโรงเรียนในเมียนมาตั้งแต่ตอนอายุ 11–12 ปี ดังนั้นผมจึงต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และทักษะใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับผม” Sai กล่าว
ถึงกระนั้น ผู้อพยพชาวเมียนมาก็ยังคงเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณของการล่มสลายของเมียนมาอย่างช้าๆ ขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารของเมียนมาเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักดีว่าวิกฤติด้านมนุษยธรรมกำลังลุกลามข้ามพรมแดนของประเทศ และสร้างความท้าทายระยะยาวให้กับพื้นที่ยากจนของเพื่อนบ้านอย่างไทย
บรรดาผุ้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งนำโดย มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ดูเหมือนจะไม่ยอมถอย แต่มุ่งมั่นที่จะปล่อยให้ประเทศของตนเองล่มสลายตราบเท่าที่ยังคงควบคุมสถานการณ์ได้ แม้พวกเขาจะปฏิเสธที่จะสละอำนาจ แต่การเกณฑ์ทหารได้ทำให้ธุรกิจของพวกลักลอบขนคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นตามแนวชายแดนไทยที่ยาวและไร้การควบคุม ผู้อพยพกล่าวว่าค่าใช้จ่ายในการขนส่งคนไปที่ชายแดนด้วยรถยนต์คนละ 600 เหรียญสหรัฐ จากนั้นต้องเดินป่าเป็นเวลา 2 วันเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบโดยเจ้าหน้าที่รักษาชายแดน แล้วอัดแน่นกันบนรถกระบะเมื่อเดินทางต่อในฝั่งไทย
รายงานของสื่อฮ่องกง ทิ้งท้ายด้วยความเห็นจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ LPN อย่าง Moe Moe ที่กล่าวว่า พ่อแม่ชาวเมียนมาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องส่งลูกๆ ของพวกเขาออกจากบ้านไป และเมื่อมาถึงประเทศไทยก็กลายเป็นแรงงานแม้จะอายุไม่ถึงเกณฑ์ก็ตาม ขณะที่ ปฏิมา กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหยุดยั้งการไหลทะลักของคนหนุ่ม-สาวชาวเมียนมาเข้าประเทศไทย เพราะพวกเขามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของที่นี่ ดังนั้นแทนทีจะกีดกัน ประเทศไทยควรจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย และอาเซียนก็ต้องช่วยกันหาทางออก
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี