พีท เฮกเซธ เพิ่งสาบานตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ คนใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งได้แบบเฉียดฉิวชนิดต้องใช้เสียงของรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ในฐานะประธานวุฒิสภา ช่วยยกมือสนับสนุน เพื่อแก้ปัญหาคะแนนเสียงที่เท่ากัน ภายหลังจากวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน หันไปร่วมกับพรรคเดโมแครตในการลงมติคัดค้าน
เฮกเซธ อดีตผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ฟอกซ์ นิวส์ และเป็นทหารผ่านศึกที่ได้รับเหรียญกล้าหาญ ผู้ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกมากับมือให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม โดยมองข้ามนายทหารระดับสูงในกองทัพที่มีอยู่มากมาย เนื่องจากมองว่าเป็นผู้ต่อต้านจีนอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ดี การเข้ามารับตำแหน่งนี้เขาถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น จากประเด็นที่เป็นคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติและเรื่องส่วนตัวของเขา ภาวะอารมณ์ และความคิดเห็นเกี่ยวกับสตรีในสนามรบ
แต่ที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ที่สุด คือช่วงที่เฮกเซธตอบข้อซักคำถามต่อคณะกรรมาธิการด้านการทหารของวุฒิสภาเมื่อกลางเดือนมกราคม แทมมี ดักเวิร์ธ สว.เดโมแครต ยิงคำถามเฮกเซธว่า พันธมิตรของสหรัฐฯ ในอาเซียนมีใครบ้าง เขาตอบว่าไม่รู้จำนวนแน่ชัด แต่ยกตัวอย่างว่ามีญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอีกประเทศคือออสเตรเลียที่อยู่ในกรอบความร่วมมือ AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)
เฮกเซธอาจคิดว่า อาเซียนกับเอเชียคือสิ่งเดียวกัน นั่นจึงทำให้ สว.ดักเวิร์ธจากรัฐอิลลินอยส์ กล่าวโจมตีเฮกเสธว่าไม่ทำการบ้าน และตอบโดยที่ไม่มีความรู้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าขาดคุณสมบัติ ไร้จรรยาบรรณ และไม่เหมาะเป็นรัฐมนตรีกลาโหม
ไทย-อาเซียน ควรกังวลหรือไม่?
แน่นอนว่า ความไม่รอบรู้ในเรื่องอาเซียนของบุคคลระดับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ อาจทำให้ไทยและอาเซียนอาจต้องกังวลบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทะเลจีนใต้ ที่ชาติในอาเซียนหลายชาติเข้าไปมีส่วนขัดแย้งกับจีน คู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ โดยตรง ความไม่เข้าใจต่ออาเซียนในประเด็นนี้ อาจส่งผลลบต่ออาเซียนในระยะยาวได้
อย่างไรก็ดี ผู้สันทัดกรณีบางส่วนมองว่า ในกระทรวงกลาโหมเอง มีคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มากอยู่แล้ว อีกทั้งระบบรัฐสภาในสหรัฐฯ จะช่วยให้เขาทำงานดีขึ้น
ที่สำคัญ ประธานเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ คนปัจจุบันก็รู้จักไทยเป็นอย่างดี และพร้อมช่วยให้คำปรึกษา รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศก็จะมีบทบาทช่วยเฮกเซธด้วยอีกทาง โดยเฉพาะ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ที่น่าจะมีบทบาทนำ
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ร้ายที่สุด การแสดงความไม่รู้จักอาเซียนของเฮกเซธ ยิ่งแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือรับรู้การมีอยู่ของอาเซียนเป็นปกติอยู่แล้ว
นั่นยิ่งทำให้ไทย ควรอย่างยิ่งที่จะผูกมิตรกับจีนควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างสมดุลและรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี