4 ก.พ. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอรายงานพิเศษ What is USAID and why has it become a target for Trump and Musk? ว่าด้วย หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนส่งมอบความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากสหรัฐอเมริกา ไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมาหลายทศวรรษ แต่ในมุมมองของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ดูเหมือนจะ “ไม่ปลื้ม” หน่วยงานดังกล่าว จึงมอบหมายให้มิตรสหายใกล้ชิดอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีซึ่งทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยงานปฏิรูประบบงานภาครัฐของสหรัฐฯ เข้าไปจัดระเบียบ
รายงานข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังหาทางควบรวม USAID เข้ากับกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะปรับลดจำนวนพนักงานและปรับการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ ขณะที่เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2568 ทรัมป์ กล่าวว่า USAID ถูกควบคุมโดยกลุ่มหัวรุนแรง ส่วนมัสก์ก็บอกว่า USAID เป็นองค์กรอาชญากรรมที่ต้องถูกจัดการให้สิ้นไป แต่ก็ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานใดๆ
USAID นั้นถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2504 ในยุคสมัยของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเวลานั้น “สงครามเย็น” ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจเสรีนิยมประชาธิปไตย อันมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ กับขั้วอำนาจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อันเป็นสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) เป็นผู้นำ กำลังลุกลามไปทั่วโลก โดยภารกิจของ USAID คือการประสานความช่วยเหลือของสหรัฐฯ กับต่างประเทศ อันเป็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในเวลานั้น ที่ต้องการสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์
ปัจจุบัน USAID บริหารความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 60 และจ่ายเงินไปแล้ว 43,790 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2566 ขณะที่ตามรายงานของ Congressional Research Service (CRS) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการของรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนนี้ ระบุว่า พนักงาน 10,000 คน ซึ่งประมาณ 2 ใน 3 ให้บริการในต่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ประมาณ 130 ประเทศ ทั้งนี้ USAID ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ โดยอิงตามคำร้องขอของฝ่ายบริหาร
CRS กล่าวว่า USAID ให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และประเทศที่อยู่ในภาวะขัดแย้ง เป็นผู้นำความพยายามของสหรัฐฯ ในการบรรเทาความยากจน โรคภัย และความต้องการด้านมนุษยธรรม และช่วยเหลือผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯ โดยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและสร้างศักยภาพของประเทศต่างๆ ในการมีส่วนร่วมในการค้าโลก ซึ่งข้อมูลในปี 2566 พบว่า ผู้รับความช่วยเหลือรายสำคัญคือ ยูเครน เอธิโอเปีย จอร์แดน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โซมาเลีย เยเมน อัฟกานิสถาน ไนจีเรีย ซูดานใต้ และซีเรีย
ในปีงบประมาณ 2566 สหรัฐฯ เบิกจ่ายงบประมาณทั้งหมด 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.52 แสนล้านบาท) ในการให้ความช่วยเหลือทั่วโลก และประมาณร้อยละ 42 ของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่ติดตามโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2567 เงินทุนครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่สุขภาพสตรีในพื้นที่ขัดแย้ง ไปจนถึงการเข้าถึงน้ำสะอาด การป้องกันและรักษาโรคเอดส์ (HIV) ความมั่นคงด้านพลังงาน และงานต่อต้านการทุจริต
ข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ โดย Brookings Institution องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันคลังสมองในสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2567 การใช้จ่ายความช่วยเหลือของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.33 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในขณะที่ช่วงพีคที่สุดของงบประมาณที่สหรัฐฯ ใช้ไปกับการช่วยเหลือต่างประเทศ เกิดขึ้นในยุค 1950 (ปี 2493-2502) อยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP ด้วยโครงการ Marshall Plan เพื่อช่วยบูรณะประเทศต่างๆ ในยุโรป ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ จัดงบประมารเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างร้อยละ 1 ถึงต่ำกว่าร้อยละ 0.5 เล็กน้อย
แต่ถึงสหรัฐฯ จะได้ชื่อว่าจัดงบประมาณช่วยเหลือนานาชาติในนามรัฐบาลมากกว่าประเทศอื่นใด ในความเป็นจริงกลับพบว่า เงินช่วยเหลือของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละของรายได้ประชาชาติกลับอยู่ท้ายสุดของรายชื่อประเทศร่ำรวยในปี 2563 ตามตัวเลขจากองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ขณะที่ในปี 2566 นอร์เวย์อยู่อันดับต้นๆ ของรายชื่อด้วยรายได้รวมประชาชาติ คือร้อยละ 1.09 ในขณะที่สหรัฐฯ ตามหลังที่ร้อยละ 0.24 ร่วมกับสโลวีเนีย สาธารณรัฐเช็กและสเปน
รายงานของ Brookings Institution พบว่า นักการเมืองสหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครต สนับสนุน USAID มากกว่าพรรครีพับลิกันมาตลอด แต่หากเจาะจงไปที่ประธานาธิบดี ไม่ว่าจะมาจากเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ล้วนสนับสนุน USAID ยกเว้นก็แต่ทรัมป์เพียงคนเดียวเท่านั้น โดยนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์เคยพยายามปรับลดงบประมาณกิจการระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ลง 1 ใน 3 แต่ถูกตีกลับ
เช่นเดียวกับความพยายามที่จะชะลอการพิจารณาของรัฐสภาเกี่ยวกับกฎหมายความช่วยเหลือต่างประเทศเพิ่มเติมในปี 2567 และในการลงคะแนนเสียงแบบสองพรรคในเดือน มิ.ย. 2567 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก มีถึงร้อยละ 80 ปฏิเสธการแก้ไขเพื่อขจัดความช่วยเหลือต่างประเทศออกจากงบประมาณปีงบประมาณ 2568
ก่อนหน้าทรัมป์จะกลับเข้าทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 ในยุคสมัยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) USAID อยู่ภายใต้การบริหารของ ซาแมนธา พาวเวอร์ (Samantha Power) นักการทูตชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช ผู้ประกาศตนเป็น “นักอุดมคตินิยม (Idealist)” และเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama)
ลำดับความสำคัญสูงสุดของ USAID ภายใต้กรอบนโยบาย ณ เดือน มี.ค. 2566 ได้แก่ วิกฤติสภาพอากาศ การหยุดยั้งกระแสอำนาจนิยม และการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและโอกาสที่เท่าเทียมกัน ในการสัมภาษณ์เดือนนี้ พาวเวอร์เน้นย้ำถึงบทบาทของ USAID ในการฉายภาพ “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” ของสหรัฐฯ และอ้างว่า หลักฐานที่ดีที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ USAID คือกระแสโฆษณาชวนเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย ที่โจมตี USAID และงานของ USAID ทั่วโลก
ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ซึ่งทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ ได้ลงนามคำสั่งระงับการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน โดยให้เหตุผลา อุตสาหกรรมความช่วยเหลือต่างประเทศและระบบงานภาครัฐของสหรัฐฯ ไม่ได้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และในหลายๆ กรณี ยังขัดต่อค่านิยมของสหรัฐฯ ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่ทำลายเสถียรภาพของสันติภาพโลก โดยส่งเสริมแนวคิดในต่างประเทศที่ตรงข้ามกับความสัมพันธ์ที่กลมกลืนและมั่นคงภายในและระหว่างประเทศ
ในบันทึกข้อความ ฝ่ายบริหารของทรัมป์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ USAID เข้าร่วมในความพยายามในการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรความช่วยเหลือ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ และขู่ว่าจะดำเนินการทางวินัยหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว แต่ท่าทีของทรัมป์ได้ส่งผลกระทบตั้งแต่ค่ายผู้ลี้ภัยในไทยไปจนถึงเขตสงครามในยูเครน โดยองค์กรด้านมนุษยธรรมและหน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุว่า อาจเผชิญกับข้อจำกัดอย่างรุนแรงในการกระจายอาหาร ที่พักพิง และการดูแลสุขภาพ
รอยเตอร์ทิ้งท้ายด้วยการอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ทราบเกี่ยวกับการทำงานของ USAID ที่ระบุว่า การผนวก USAID เข้ากับกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งในอดีต USAID สามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่สหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย เช่น อิหร่านและเกาหลีเหนือ ซึ่งบางครั้งสิ่งนี้ช่วยสร้างสะพานเชื่อม และอาจสูญเสียประโยชน์ในส่วนนี้ไปหากการทำงานของ USAID ผูกติดกับวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.reuters.com/world/what-is-usaid-why-has-it-become-target-trump-musk-2025-02-03/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/inter/858320 ปิดฉากหน่วยงานช่วยโลก? จนท.‘USAID’ถูกปลดอื้อเซ่นนโยบาย ‘ทรัมป์’
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี