17 ก.พ. 2568 สำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติตั้งขึ้นเพื่อต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชียปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึง รายงานข่าว Myanmar junta frees nearly 1,000 Rohingya from prison, group says ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมา ปล่อยตัวชาวโรฮิงญาที่ถูกจำคุกเกือบ 1,000 คน โดยไม่ได้ให้เหตุผลในการปล่อยตัวดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การปล่อยตัวชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากศาลของประเทศอาร์เจนตินา ออกหมายจับนายทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวม 22 คน ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงเมื่อปี 2560 โดย Thike Htun Oo สมาชิกอาวุโสของกลุ่ม Political Prisoners Network Myanmar กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าคณะทหารต้องการปกปิดอาชญากรรมที่ก่อขึ้นต่อชาวโรฮิงญา
มีรายงานว่า ชาวโรฮิงญา 936 คน ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในเมืองย่างกุ้งเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2568 ซึ่งรวมถึงผู้หญิง 267 คนและเด็ก 67 คน โดยคนเหล่านี้ถูกจับกุมหลังจากที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2564 ซึ่ง Thike Htun Oo ระบุว่า ผู้ถูกปล่อยตัวเหล่านี้จะถูกส่งทางเรือจากย่างกุ้งไปยังเมืองสิตตเว เมืองหลวงของรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2568 เจ้าหน้าที่กรมตรวจคนเข้าเมืองของกองทัพได้เข้าไปในเรือนจำอินเส่งในย่างกุ้งเพื่อออกเอกสารประจำตัวให้กับชาวโรฮิงญา แต่ตนก็ไม่รู้ว่าเป็นเอกสารอะไร
ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับความผิดที่ทำให้ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ถูกจับ แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ถูกจำคุกเนื่องจากละเมิดข้อจำกัดในการเดินทาง โดย RFA พยายามโทรศัพท์หาโฆษกกรมราชทัณฑ์และสำนักงานรองอธิบดีกรมเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยตัว แต่ไม่ได้รับคำตอบ ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่มาจากรัฐยะไข่ และส่วนใหญ่เป็นคนไร้รัฐ ถือเป็นผู้อพยพจากเอเชียใต้ อีกทั้งไม่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ใดเลยที่จัดอยู่ในกลุ่มชนพื้นเมืองตามที่รัฐธรรมนูญของเมียนมารับรอง โดยประเทศดังกล่าวมีชาวพุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่
ในปี 2560 กองทัพเมียนมาได้ปราบปรามอย่างรุนแรงเพื่อตอบโต้กองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ที่บุกโจมตีหน่วยรักษาความปลอดภัยในพื้นที่รัฐยะไข่ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคน ต้องหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในบังกลาเทศ และส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่นั่นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ระบุว่า มีการสังหารและข่มขืนชาวโรฮิงญา ในลักษณะที่เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
จากนั้นในปี 2565 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ว่า ความรุนแรงที่กระทำต่อชาวโรฮิงญาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในขณะที่กองทัพเมียนมายืนยันว่า ได้ดำเนินการรักษาความปลอดภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลอาร์เจนตินาได้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ทหารในกองทัพเมียนมา 22 นาย ซึ่งรวมถึงพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) หัวหน้าคณะรัฐประหารด้วย ในข้อหาที่ก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา
อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศแรกที่เปิดการสอบสวนอาชญากรรมร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญาภายใต้หลักการของเขตอำนาจศาลสากล ซึ่งเป็นหลักการทางกฎหมายที่ให้สามารถดำเนินคดีอาชญากรรมร้ายแรงได้ไม่ว่าจะก่อขึ้นที่ใดก็ตาม ซึ่ง Than Soe Naing นักวิเคราะห์การเมือง มองว่า รัฐบาลทหารเมียนมาพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนตามคำตัดสินของศาลอาร์เจนตินา พวกเขาปล่อยตัวชาวโรฮิงญาเพื่อพยายามเรียกความยุติธรรมคืนจากฝ่ายพวกเขาเอง แต่จะไม่ประสบความสำเร็จในการปกปิดความผิดพลาดทางอาญา
อีกด้านหนึ่ง ผู้นำองค์กรสวัสดิการชาวโรฮิงญา กังวลว่า ชาวโรฮิงญาที่ถูกปล่อยตัวอาจถูกกดดันให้เข้าร่วมกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธอย่างกองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอิทธิพลในพื้นที่รัฐยะไข่ โดยที่ผ่านมา กลุ่ม AA ได้บีบให้ฝ่ายรัฐบาลทหารเข้าไปอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ไม่กี่แห่ง ซึ่งรวมถึงเมืองสิตตเวด้วย
Nay San Lwin ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มปลดปล่อยโรฮิงญา กล่าวว่า โดยปกติรัฐบาลทหารเมียนมาได้พยายามกดดันให้ชายชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองสิตตเวเข้าร่วมกองทัพอยู่แล้ว และนั่นทำให้ตนกังวลกับชะตากรรมของผู้ที่เพิ่งถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ ซึ่งเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา มีการเกณฑ์ชาวโรฮิงญาเข้าร่วมกองทัพรัฐบาลทหารเพื่อต่อสู้กับกลุ่ม AA อันเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวพุทธซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีรายงานจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ว่า กลุ่ม AA ได้สังหารชาวโรฮิงญาที่เป็นพลเรือน แต่กลุ่ม AA ปฏิเสธ
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.rfa.org/english/myanmar/2025/02/17/rohingya-freed/
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี