20 ก.พ. 2568 นสพ.The Jakarta Post ของอินโดนีเซีย เผยแพร่บทความ China pushes Thailand to act on scam centers ซึ่งเขียนโดย ศ.แซคคารี อาบูซา (Prof.Zachary Abuza) อาจารย์ประจำวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ (National War College) และอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เนื้อหาดังนี้
ในเดือน ม.ค. 2568 หวังซิง (Wang Xing) นักแสดงชาวจีนที่บินไปกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยเพื่อทำงาน ถูกพาตัวข้ามชายแดนจากประเทศไทยไปยังเมียนมา ข้อความที่ชายหนุ่มส่งถึงแฟนสาวทำให้เกิดกระแสเรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นำไปสู่การที่หวังถูกปล่อยตัว อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น มีกระแสจากจีนกดดันมายังไทย สื่อที่ควบคุมโดยรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่ฐานปฏิบัติการของกลุ่มอาชญากรรมฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และความไม่เข้มงวดทางกฎหมายของไทยซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ที่ทำกำไรมหาศาล
ทางการไทยได้รับความดังกล่าว และหวังก็ได้รับการช่วยเหลือภายใน 4 วัน ซึ่งดูเหมือนประเทศไทยจะมีอิทธิพลต่อกลุ่มแก๊งเหล่านั้นมากกว่าที่เคยแสดงออกมาในช่วงก่อนหน้า จากนั้นในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2568 แพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เดินทางเยือนจีน เธอให้คำมั่นว่าไทยจะสนับสนุนการจัดการกับฐานปฏิบัติการมิจฉาชีพเหล่านี้ ตามด้วยกระทรวงต่างประเทศของไทยกล่าวว่าการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำไทยแสดงท่าทีชัดเจนว่าฐานปฏิบัติการเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทย และจากนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของไทยก็จัดการตัดกระแสไฟฟ้าใน 5 จุด
5 ก.พ. 2568 (รอยเตอร์) มุมมองจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ฝั่งไทย มองไปยังเมืองชเวก๊กโก ซึ่งเป็นกาสิโน สถานบันเทิง และแหล่งท่องเที่ยวในเมียนมา โดยในวันดังกล่าว ไทยได้เริ่มงดจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังบางพื้นที่ของเมืองตามแนวชายแดนเมียนมา - ไทย เพื่อปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมฉ้อโกงทางโทรคมนาคม ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อสถานที่ผิดกฎหมายที่หลอกหลอนผู้คนจำนวนมากจากหลายสัญชาติ
มีเหตุผลมากมายที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ความร่วมมือของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน
นับตั้งแต่ที่กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาเข้ายึดเมืองชายแดนเกือบทุกเมืองที่ติดกับจีน กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ได้แสดงท่าทีว่าได้สั่งปิดฐานปฏิบัติการของมิจฉาชีพฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของจีน มีชาวจีนหลายร้อยคนถูกส่งตัวกลับประเทศ รวมถึงผู้ต้องสงสัยว่าเป็นหัวหน้าแก๊งอาชญากรรมที่ทางการจีนต้องการตัว
แต่การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เหล่ามิจฉาชีพย้ายจากชายแดนเมียนมา – จีน มาตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณชายแดนเมียนมา – ไทย อาชญากรรมฉ้อโกงทางโทรคมนาคม หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เริ่มดำเนินการใหม่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่าง อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย กับเมืองเมียวดีของเมียนมา โดยมีเพียงแม่น้ำเมยที่แคบและตื้นกั้นกลางระหว่าง 2 ประเทศ ในขณะที่ฐานปฏิบัติการเหล่านั้นใช้ไฟฟ้าและอินเตอร์เน็ตจากฝั่งไทยมานานหลายปี
ทางการไทยเคยระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้ามาแล้วหนหนึ่งเมื่อช่วงกลางปี 2566 แต่ดำเนินการหลังจากแจ้งเจตนารมณ์แล้วเท่านั้น ผลคือทำให้องค์กรอาชญากรรมมีเวลาซื้อเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันมีราว 20 รายที่ยังคงเปิดไฟอยู่ นอกจากนั้นการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมอย่าง Starlink ทำให้ฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์แห่งมีแผนสำรองสำหรับการเชื่อมต่อ
การตัดไฟของไทยในเวลานั้นใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ชเวก๊กโก ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเมืองใหม่ในเมืองเมียวดีของเมียนมาก็ทำข้อตกลงเรื่องการผลิตไฟฟ้า 8,000 กิโลวัตต์กับซัพพลายเออร์ชาวไทยได้ และไฟฟ้าก็กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง หากให้สรุปง่ายๆ ก็คือมีชาวไทยมากเกินไป ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐด้วยที่มองผลกำไรจากเรื่องนี้ และถึงจะตัดไฟฟ้ากับอินเตอร์เน็ต แต่วัสดุก่อสร้าง อาหารและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยังคงไปจากประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยดูเหมือนจะทำงานภายใต้แรงกดดัน
ในเดือน ก.พ. 2568 หลังจากที่ สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีของจีน กล่าวขอบคุณนายกฯ แพทองธาร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้ไปเยือน อ.แม่สอด เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนจะไม่ยอมรับความหย่อนยานของไทย ในวันที่ 5 ก.พ. 2568 สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย ประกาศว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ในจำนวนนี้เป็นนายตำรวจยศพลตรี 1 นาย ใน จ.ตาก ซึ่งมีทรัพย์สินที่ไม่ทราบที่มา
ในวันเดียวกัน กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ส่งชาวต่างชาติทั้งที่เป็นชาวจีนและสัญชาติอื่นๆ 261 คน ให้กับทางการไทย แม้ว่าภาพของเรือเฟอร์รี่ที่เต็มไปด้วยผู้คนจะสะดุดตา แต่ก็เป็นเพียงตัวเลขเล็กน้อยเช่นกัน โดยคาดว่ามีคนประมาณ 17,000 คนอยู่ในฐานปฏิบัติการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา ทั้งนี้ แม้ DKBA กล่าวว่าจะส่งตัวชาวต่างชาติประมาณ 8,000 คนออกจากฐานเหล่านี้ แต่พวกเขาจะยังคงส่งคนอื่นๆ เข้าไปทดแทนต่อไป
12 ก.พ. 2568 (รอยเตอร์) เหยื่อที่ถูกหลอกไปทำงานในฐานปฏิบัติการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมในเมียนมา ถูกส่งตัวข้ามชายแดนกลับมายังฝั่งไทย ที่ อ.พบพระ จ.ตาก
สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าทางการไทยกำลังให้ความร่วมมือคือเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งเป็นหน่วยงานสืบสวนของกระทรวงยุติธรรมของไทย ได้ประกาศว่าจะขอหมายจับแกนนำกลุ่ม DKBA จำนวน 3 คน หนึ่งในนั้นคือ พ.อ.ซอชิตตู (Saw Chit Thu หรือที่สื่อไทยเรียก “หม่องชิตตู”) หัวหน้ากลุ่ม DKBA ซึ่งควบคุมเมืองชเวก๊กโก ตามรายงานของ นสพ. Bangkok Post สื่อท้องถิ่นของไทย การตัดสินใจน่าจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังหวังความร่วมมือจากรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ซอชิตตูก็เป็นบุคคลที่จัดหาแหล่งเงินทุนที่จำเป็นให้กับรัฐบาลทหารท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ตกต่ำ ซอชิตตูมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมา ทำให้ DKBA มีอำนาจปกครองในเมืองชเวก๊กโก ตั้งแต่ที่ซอชิตตู แยกตัวออกมาจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกลุ่ม DKBA ได้ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพเมียนมาในปี 2537
รัฐบาลทหารเมียนมาถูกจีนกดดันให้ต้องทำอะไรบางอย่างกับกลุ่มอาชญากรรมฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และเมื่อพิจารณาจากการพึ่งพาทางการทหาร เศรษฐกิจ และการทูตกับจีน รัฐบาลทหารอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำตาม ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้แสดงความร่วมมือเพียงเล็กน้อยด้วยการระงับการส่งน้ำมันดีเซลไปยังพื้นที่ตั้งของฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ในสายตาของจีนถือว่ายังไม่เพียงพอ ทั้งหมดนี้ทำให้เราย้อนกลับไปว่าความร่วมมือของไทยจะยั่งยืนหรือไม่
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังคงตามหลังคู่แข่งในภุมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลายราย อัตราความเหลื่อมล้ำที่สูงอยู่แล้วยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การเติบโตของไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ราวร้อยละ 2.8 - 2.9 ซึ่งน้อยกว่าเวียดนามถึงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งการเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินจากจีน ทั้งในส่วนของนักลงทุนที่จีนครองสัดส่วนรายใหญ่นับตั้งแต่ปี 2566 และนักท่องเที่ยวที่ชาวจีนเป็นคนกลุ่มใหญ่ซึ่งไปพักผ่อนในไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนจากจีนมีอิทธิพลเหนือภาคการผลิต ชาวจีนเป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯ หรือรีสอร์ทริมชายหาด เช่น ภูเก็ต ขณะที่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 ก่อนจะถึงวันนั้น นายกฯ แพทองธาร จำเป็นต้องสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากทำไม่ได้ รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยอาจแตกหักไปก่อนหน้านั้น เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ ก็กำลังวางแผนกลยุทธ์เตรียมรับการเลือกตั้ง
ในวันที่ 27 ก.พ. 2568 จะเป็นอีกวันที่ต้องจับตามองการกดดันทางการทูตของจีนต่อไทย กรณี เสอจื้อเจียง (She Zhijiang) ประธานบริษัท Yatai International Holding Group ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับซอชิตตู ในการลงทุนที่ชเวก๊กโก เสอนั้นเป็นชาวจีนที่ต่อมาได้รับสัญชาติกัมพูชา ถูกจับกุมที่ประเทศไทยในปี 2565 ตามหมายจับของตำรวจสากล และพยายามต่อสู้เพื่อไม่ให้ไทยส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่จีน โดยทางการจีนได้ตั้งข้อหาประกอบกิจการการพนันออนไลน์โดยผิดกฎหมายและเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลอกลวงทางโทรคมนาคม แต่เสอมีเพื่อนในกรุงเทพฯ หลายคนที่ไม่ค่อยเชื่อหลักฐานดังกล่าว
“ในที่สุดกระแสก็เปลี่ยนในประเทศไทยแล้วหรือยัง?” ผู้เขียนบทความ กล่าวในตอนท้าย
ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.thejakartapost.com/opinion/2025/02/20/china-pushes-thailand-to-act-on-scam-centers.html
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี