13 มี.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Pakistan PM visits Quetta as militants behind train hijack say standoff still on ระบุว่า เกิดเหตุ กองทัพปลดปล่อยบาลูจิสถาน (BLA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ทำสงครามกับรัฐบาลปากีสถาน ลอบวางระเบิดรางรถไฟและกราดยิงรถไฟ ขบวนรถด่วนจาฟฟาร์ ขณะกำลังมุ่งหน้าจากเมืองเควตตา เมืองหลวงของจังหวัดบาลูจิสถาน ไปยังเมืองเปชาวาร์ในจังหวัดไคเบอร์ปัคตุนควา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา
ในปฏิบัติการตอบโต้และช่วยเหลือตัวประกันที่กินเวลาข้ามวัน มีรายงานแนวร่วมกลุ่ม BLA ถูกสังหาร 33 ราย โดยฝ่ายกองทัพปากีสถาน รายงานจำนวนตัวประกัน 21 รายและเจ้าหน้าที่ 4 นาย เสียชีวิต ขณะที่ฝ่าย BLA อ้างว่า มีตัวประกันเสียชีวิตถึง 50 ราย ทั้งนี้ BLA เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวมานานหลายทศวรรษ เพื่อเรียกร้องเอกราชจากจังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการขนาดใหญ่ทั้งท่าเรือ เหมืองทองคำและทองแดง โดยมีชาวจีนเป็นนักลงทุน
ในวันที่ 13 มี.ค. 2568 เชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เดินทางเยือน จ.บาลูจิสถาน โดยมีประชาชนหลายสิบคนที่ได้รับการช่วยเหลือจากขบวนรถไฟดังกล่าวมารอต้อนรับ โดยรัฐบาลเปิดเผยว่า นายกฯ ชารีฟจะเดินทางไปเยือนเมืองเควตตาเป็นเวลา 1 วัน โดยในระหว่างนั้นจะได้รับข้อมูลสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค ขณะที่กลุ่ม BLA ประกาศว่าการต่อสู้ยังไม่จบ และอ้างว่ายังมีตัวประกันอยู่ในการควบคุม ส่วนตัวประกันที่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าช่วยเหลือได้นั้น BLA ก็เป็นฝ่ายปล่อยไปเอง
ในวันที่ 12 มี.ค. 2568 นายกฯ ชารีฟ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ประณามการก่อเหตุ โดยเรียกการกระทำของกลุ่ม BLA ว่าขี้ขลาดและจะไม่ทำให้ความมุ่งมั่นเพื่อสันติภาพของปากีสถานสั่นคลอน จากนั้นในวันที่ 13 มี.ค. 2568 กลุ่ม BLA ออกแถลงการณ์ที่ใช้ชื่อของ จียันด์ บาลูจ (Jeeyand Baloch) โฆษกของกลุ่ม BLA เนื้อหาโจมตีฝ่ายรัฐบาลปากีสถานว่าทำให้ตัวประกันเสียชีวิตและต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น ทั้งนี้ ในการก่อเหตุครั้งล่าสุดของกลุ่ม BLA มีการกำหนดเส้นตาย 48 ชั่วโมง เรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวบาลูจ ตลอดจนนักเคลื่อนไหวและบุคคลอื่นๆ ที่สูญหาย ซึ่ง BLA เชื่อว่าเป็นฝีมือของกองทัพปากีสถาน ไม่เช่นนั้นจะเริ่มสังหารตัวประกัน
อาร์สลาน ยูซาฟ (Arslan Yousaf) หนึ่งในตัวประกันที่รอดชีวิต เล่าว่า กลุ่มติดอาวุธที่มีทั้งปืนและเครื่องยิงจรวด บุกโจมตีรถไฟ กราดยิงผู้คน และจับตัวประกันในขบวนรถไฟโดยแบ่งตามภูมิภาค และหากพบว่าเป็นทหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยงานอื่นๆ ที่กำลังเดินทางในช่วงวันหยุดพักผ่อน หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีความแค้นเป็นการส่วนตัว ก็จะลงมือสังหารคนเหล่านั้น
มูฮัมหมัด ทันเวียร์ (Muhammad Tanveer) ตัวประกันอีกรายที่รอดชีวิต เล่าว่า ตัวประกันได้รับเพียงน้ำดื่มเท่านั้นในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัว ขณะที่ อัมจาด (Amjad) คนขับรถไฟ เล่าว่า ผู้ก่อการร้ายบุกเข้ามาในรถไฟโดยทุบกระจก แต่เข้าใจผิดคิดว่าตนตายแล้ว เวลานั้นตนกระโดดลงไปที่พื้นรถเพื่อหาที่กำบังเมื่อกลุ่มคนร้ายเปิดฉากยิง และนอนอยู่ตรงนั่นนานถึง 27 ชั่วโมงเพื่อเอาชีวิตรอด
(รอยเตอร์) 13 มี.ค. 2568 พิธีศพที่เมืองเควตตา ประเทศปากีสถาน ผู้คนแบกโลงศพของชายคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตหลังจากขบวนรถไฟถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโจมตีในเมืองโบลัน
สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอรายงานพิเศษ Who are the BLA – the group behind Pakistan’s deadly train hijack? ว่าด้วยที่มาที่ไปของกองทัพปลดปล่อยบาลูจิสถาน (BLA) ซึ่งเมื่อปากีสถานก่อตั้งประเทศในปี 2490 โดยแยกออกมาจากอินเดีย จ.บาลูจิสถาน ในปี 2491 ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน ทั้งนี้ บาลูจิสถาน เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่มากที่สุดแต่มีประชากรเบาบางที่สุด
แม้ว่าจะมีทรัพยากรล้ำค่ามากมาย เช่น ถ่านหิน ทองคำ ทองแดงและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลให้กับรัฐบาลกลางของปากีสถาน แต่กับคนท้องถิ่นนั้นตรงกันข้าม โดยข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 2566 บาลูจิสถานซึ่งมีประชากรประมาณ 15 ล้านคน จากชาวปากีสถานทั้งประเทศ 240 ล้านคน ยังคงเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุด ดังนั้นชาวบาลูจกลุ่มที่มีแนวคิดเชื้อชาตินิยม จึงมองว่ารัฐบาลกลางมุ่งแต่กอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรแต่ปล่อยให้ผู้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ นำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว
นับตั้งแต่ปากีสถานก่อตั้งประเทศ ในพื้นที่ จ.บาลูจิสถาน มีความพยายามก่อการแบ่งแยกดินแดนมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง ระลอกล่าสุดเริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 (ปี 2543 – 2552) โดยในช่วงแรกนั้นมุ่งเน้นที่การรักษาส่วนแบ่งทรัพยากรของจังหวัดให้มากขึ้นสำหรับคนท้องถิ่น แต่ไม่นานก็กลายเป็นการเรียกร้องให้มีเอกราชโดยสมบูรณ์ อนึ่ง จังหวัดดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกแห่งหนึ่งที่สำคัญของปากีสถานที่เมืองกวาดาร์ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญสำหรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) มูลค่า 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับทะเลอาหรับผ่านปากีสถาน
ด้วยความไม่พอใจรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น BLA จึงก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 (ปี 2533 –2542) และต้นทศวรรษ 2000 (ปี 2543 – 2552) นักวิเคราะห์ที่ศึกษาขบวนการของชาวบาลูจ ระบุว่า BLA มีผู้นำคือ บาลาจ มาร์รี (Balach Marri) บุตรชายของ นาวาบ คาเอียร์ บัคห์ มาร์รี (Nawab Khair Bakhsh Marri) ผู้นำชาตินิยมชาวบาลูจผู้มากประสบการณ์
(รอยเตอร์) 12 มี.ค. 2568 ที่สถานีรถไฟในเมืองมุชกาฟ จังหวัดบาลูจิสถาน ประเทศปากีสถาน เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินตรวจตราขบวนรถไฟซึ่งเป็นขบวนรถกู้ภัย หลังเกิดเหตุกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโจมตีรถไฟในเมืองโบลัน
การกบฏรุนแรงขึ้นในปี 2549 หลังจากที่รัฐบาลปากีสถานภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี เปอร์เวซ มูชาราฟ (Pervez Musharraf) ได้สังหาร นาวาบ อัคบาร์ บักตี (Nawab Akbar Bugti) ผู้นำชาตินิยมชาวบาลูจที่มีชื่อเสียง จากนั้นในอีก 1 ปีต่อมา บาลาจ มาร์รี ก็ถูกสังหาร ตามด้วยรัฐบาลประกาศห้ามกลุ่ม BLA ทำกิจกรรมต่างๆ กระทั่งในเดือน ธ.ค. 2557 นาวาบ คาเอียร์ บัคห์ มาร์รี ก็เสียชีวิต
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา BLA ได้สร้างความโดดเด่นให้กับตนเองในฐานะกลุ่มที่มุ่งมั่นเพื่อเอกราชของบาลูจิสถานจากปากีสถานโดยสมบูรณ์ และการที่ BLA ไม่เคยแสวงหาจุดยืนแนวสายกลาง ทำให้แตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ในพื้นที่ ที่เรียกร้องเพียงการให้ จ.บาลูจิสถาน เป็นเขตปกครองพิเศษ โดย มาลิค สิราช อัคบาร์ (Malik Siraj Akbar) นักวิจัยที่สนใจการเคลื่อนไหวของกลุ่ม BLA กล่าวว่า แม้เป้าหมายหลักของ BLA สำหรับบาลูจิสถานที่เป็นอิสระจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผู้นำ ภูมิศาสตร์ในการปฏิบัติงาน และกลยุทธ์ต่างๆ ของ BLA ก็ได้พัฒนาไปตามกาลเวลา
“ปัจจุบัน BLA ดำเนินงานโดยแทบไม่ได้รับอิทธิพลจากชนเผ่ามาร์รีเลย ในทางกลับกัน ผู้นำได้หันไปหาบุคคลที่มีการศึกษาชาวบาลูจ ซึ่งหลายคนเคยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนักศึกษาบาลูจ (BSO) ที่ไม่ใช้ความรุนแรง” นักวิจัยผู้นี้ ระบุ
มาลิค สิราช อัคบาร์ กล่าวต่อไปว่า ในอดีต BLA ถือเป็น “กลุ่มปิดลับ” เคลื่อนไหวแบบไม่เปิดเผยตัวตน แต่ระยะหลังๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแกนนำกลุ่มจากชนเผ่ามาร์รีไปเป็นชนชั้นกลางชาวบาลูจ ก็เริ่มมีการโฆษณาชวนเชื่อประกาศแสนยานุภาพของกลุ่มผ่านสื่อมากขึ้น ในบรรดาผู้นำเหล่านี้ บุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ อัสลัม บาลูจ (Aslam Baloch) ซึ่งถูกสังหารในภายหลังในปี 2561 และล่าสุดคือ บาชีร์ ซาอิบ (Bashir Zaib) อดีตผู้นำนักศึกษากลุ่ม BSO
ในปี 2553 BLA ได้จัดตั้งหน่วยกล้าตายของตนเองขึ้น ตั้งชื่อว่า “กองพันมาจีด (Majeed Brigade)” และเริ่มมีบทบาทโดดเด่นขึ้นในปี 2561 เมื่อ อัสลัม บาลูจ ส่งลูกชายของตนเองไปโจมตีวิศวกรชาวจีนที่ทำงานในเมืองดัลบันดิน ในพื้นที่ จ.บาลูจิสถาน ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย รวมถึงชาวจีน 3 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ยกเว้นลูกชายของอัสลัม และเหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดชนวนให้ BLA พุ่งเป้าไปที่บุคคลและสถานที่ของจีนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อาทิ ในเดือน พ.ย. 2561 BLA ได้โจมตีสถานกงสุลจีนในเมืองการาจี ซึ่งเป็นช่วงเวลา 1 เดือนเดือนก่อนที่ อัสลัม บาลูจ จะเสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย รวมถึงตำรวจ 2 นาย ในขณะที่เจ้าหน้าที่ชาวจีนยังคงปลอดภัย โดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยสามารถระงับการโจมตีได้ภายใน 1 ชั่วโมง และสังหารผู้ก่อเหตุทั้ง 3 คน แต่เหตุการณ์ที่ทำให้กลุ่ม BLA และกองพันมาจีด ได้รับความสนใจจากโลก คือเหตุการณ์ที่ ชารี บาลูจ (Shari Baloch) ผู้หญิงที่เป็นหนึ่งในมือระเบิดฆ่าตัวตายหของกลุ่ม โจมตีพลเมืองจีนที่มหาวิทยาลัยการาจีในปี 2565 ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวจีน 3 ราย
“การคัดเลือกคนหนุ่ม-สาวที่มีการศึกษาดีเข้าเป็นแนวร่วมของ BLA ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากกลุ่มนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวบาลูจรุ่นใหม่ แม้ว่าปฏิบัติการของกลุ่มจะมีลักษณะที่ขัดแย้งกันก็ตาม แม้กลุ่มจะรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพลเรือน รวมถึงชาวบาลูจเองด้วย และการใช้ผู้หญิงทำหน้าที่มือระเบิดฆ่าตัวตาย แต่กลยุทธ์ดังกล่าวกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในทางกลับกัน แรงดึงดูดนี้กลับเติบโตขึ้นในหมู่เยาวรุ่นชาวชาวบาลูจ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นหนทางเดียวที่เป็นไปได้สำหรับการอยู่รอดของประชาชนของตน” มาลิค สิราช อัคบาร์ ระบุ
และแม้ที่ผ่านมา รัฐบาลปากีสถานมักกล่าวโทษเพื่อนบ้านอย่างอินเดียว่าเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ BLA แต่นักวิจัยผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่า แกนนำส่วนใหญ่ของ BLA อยู่ในปากีสถานหลังจากใช้เวลาหลายปีก่อนหน้านั้นในอัฟกานิสถาน ข้อกล่าวหานี้จึงยากที่จะยอมรับได้เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นรุปธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนคือ BLA มีผู้สนับสนุนที่มีเงินทุนหนา และนักรบของ BLA ได้รับการฝึกฝนอย่างมืออาชีพสำหรับทำปฏิบัติการก่อความไม่สงบโดยเฉพาะ
(อัลจาซีรา) แผนที่อธิบายเหตุ กองทัพปลดปล่อยบาลูจิสถาน (BLA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน บุกโจมตีและยึดขบวนรถไฟขบวนรถด่วนจาฟฟาร์ ขณะกำลังมุ่งหน้าจากเมืองเควตตา เมืองหลวงของจังหวัดบาลูจิสถาน ไปยังเมืองเปชาวาร์ในจังหวัดไคเบอร์ปัคตุนควา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568
แหล่งเงินทุนของ BLA นั้นยังไม่ชัดเจน โดยบรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่ามาจากหลายแหล่ง รวมถึงกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น ขู่กรรโชกทรัพย์ ลักลอบขนของเถื่อนและค้ายาเสพติด ขณะที่ อิมเทียซ บาลูจ (Imtiaz Baloch) นักวิจัยจาก The Khorasan Diary (TKD) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ติดตามความมั่นคงในภูมิภาค เชื่อว่า รายได้จากเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ใน จ.บาลูจิสถาน เป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักของกลุ่ม
อิมเทียซ บาลูจ ยังอธิบายว่า เหตุที่กลุ่ม BLA ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ ทั้งนโยบายที่หละหลาม การปกครองที่ย่ำแย่ การขาดความรับผิดชอบ รวมถึงเหตุ “อุ้มหาย” ปัจจัยเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้ BLA ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) นักวิเคราะห์ข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ส่งผลให้ BLA เข้าถึงและมีอิทธิพลในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นด้วย
“ปฏิบัติการล่าสุดของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนชาวบาลูจิสถานมีประสิทธิผลอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาใช้อาวุธของสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก หลังจากกองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไปจากอัฟกานิสถานในปี 2564 ก็สามารถจัดหาอาวุธเหล่านี้ได้ง่ายจากชายแดนอัฟกานิสถาน – ปากีสถาน ที่เหมือนกับรูพรุน” อิมเทียซ บาลูจ กล่าว
ฟาฮัด นาบิล (Fahad Nabeel) ผู้นำบริษัทที่ปรึกษาการวิจัย Geopolitical Insights ในกรุงอิสลามาบัดของปากีสถาน เชื่อว่า แกนนำ BLA ส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในอิหร่านและอัฟกานิสถาน และกลุ่มนี้หาเงินจากกิจกรรมผิดกฎหมายหลายอย่าง ตั้งแต่การค้ายาเสพติดไปจนถึงการลักพาตัวผู้คนเพื่อเรียกค่าไถ่ รวมถึงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากชาวบาลูจิสถานที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ
“พวกเขาได้รับการฝึกในอิหร่าน อัฟกานิสถาน และบางส่วนของบาลูจิสถาน ในขณะที่อาวุธจัดหามาจากตลาดมืดที่ดำเนินการในอิหร่านและอัฟกานิสถาน รวมถึงอาวุธที่เหลืออยู่ของสหรัฐฯ ด้วย” ฟาฮัด นาบิล กล่าว
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี