31 มี.ค. 2568 องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ WHO flash appeal: earthquake response in Myanmar ระบุว่า แผ่นดินไหวรุนแรง 2 ครั้งได้สร้างความเสียหายให้กับภาคกลางของเมียนมา ทำให้บริการด้านสาธารณสุขหยุดชะงัก และผู้คนนับพันเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและโรคระบาดที่คุกคามชีวิต ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำลังตอบสนองด้วยระดับสูงสุดของการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยส่งอุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉินเกือบ 3 ตันภายใน 24 ชั่วโมง และประสานงานกับทีมแพทย์ฉุกเฉินทั่วโลก
“องค์การอนามัยโลกต้องการเงิน 8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 272 ล้านบาท) อย่างเร่งด่วนเพื่อส่งมอบการดูแลผู้บาดเจ็บที่ช่วยชีวิต ป้องกันการระบาดของโรค และฟื้นฟูบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นภายใน 30 วันข้างหน้า การสนับสนุนของคุณมีความสำคัญอย่างยิ่ง เราสามารถร่วมกันช่วยชีวิตและให้การดูแลที่สำคัญในที่ที่จำเป็นที่สุดได้” WHO ระบุบนหน้าเว็บไซต์
ด้านองค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ Myanmar earthquake: Search and rescue efforts continue in race against time อ้างข้อมูลจากรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 อยู่ที่ 1,700 ราย และผู้บาดเจ็บอีกราว 3,400 คน รวมถึงยังมีผู้สูญหายอีกหลายร้อยราย การค้นหาและกู้ภัยในเมียนมามุ่งเน้นไปที่เมืองใหญ่ๆ อย่างมัณฑะเลย์และเมืองหลวงอย่างกรุงเนปิดอว์ ผู้รอดชีวิตบางส่วนยังคงได้รับการช่วยเหลือออกมาจากซากปรักหักพัง และทีมกู้ภัยจากนานาชาติได้เดินทางไปถึงพื้นที่ประสบภัยแล้ว แม้ว่าความพยายามช่วยเหลือจะล่าช้าเนื่องจากสนามบินได้รับความเสียหาย
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OHCA) รายงานผ่านบัญชีแพลตฟอร์ม X ระบุว่า ผู้คนต้องการที่พักพิง การดูแลทางการแพทย์ น้ำ และการสนับสนุนด้านสุขอนามัยอย่างเร่งด่วน ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ประชาชนที่เปราะบางอยู่แล้วต้องเผชิญกับวิกฤตที่น่าตกใจมากขึ้น
ชาวเมียนมาต้องเผชิญสถานการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพของรัฐบาลทหารและกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากที่เป็นฝ่ายต่อต้าน ซึ่งนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในเดือน ก.พ. 2564 มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 3 ล้านคนจากการสู้รบดังกล่าว ทั้งนี้หลังเกิดแผ่นดินไหว กลุ่ม NUG ซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารของชาวเมียนมาที่เรียกร้องประชาธิปไตย ประกาศขอความร่วมมือกองกำลังต่างๆ ของฝ่ายต่อต้าน หยุดยิง 2 สัปดาห์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปถึงผู้ที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าฝ่ายรัฐบาลทหารยังคงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อไป แม้ในพื้นที่ที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่ง ทอม แอนดรูส์ (Tom Andrews) ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขอให้ฝ่ายรัฐบาลทหารหยุดยิงเช่นกัน นอกจากนั้นควรระงับการเกณฑ์ทหาร เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ไม่ควรต้องกลัวการถูกจับกุม และไม่ควรมีสิ่งกีดขวางในการให้ความช่วยเหลือไปยังที่ที่ต้องการมากที่สุด เพราะทุกนาทีมีค่า
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานภาคสนามอย่างเร่งด่วนร่วมกับพันธมิตรและชุมชนท้องถิ่นเพื่อประเมินความต้องการที่สำคัญและส่งมอบความช่วยเหลือที่ช่วยชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสตรีและเด็กผู้หญิง โดยล่าสุดการประเมินในระยะเริ่มต้นได้เน้นย้ำถึงความเสียหายอย่างสำคัญต่อสถานพยาบาล การอพยพของประชากร และการหยุดชะงักของบริการที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการดูแลสุขอนามัยทางเพศและการเจริญพันธุ์
ไฮเม นาดาล โรอิก (Jaime Nadal Roig) ผู้แทน UNFPA ประจำเมียนมา กล่าวว่า ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การเข้าถึงการดูแลสุขภาพมารดาที่ช่วยชีวิตไว้ไม่ได้ ไปจนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความรุนแรงทางเพศ ซึ่ง UNFPA มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามในการบรรเทาทุกข์ โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของสตรีและเด็กผู้หญิง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ แม่ และวัยรุ่น เป็นหัวใจสำคัญของความพยายามตอบสนองด้านมนุษยธรรมของเรา
Ko Sai ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประจำเมียนมา โพสต์ข้อความผ่านบัญชีแพลตฟอร์ม X จากเมืองมัณฑะเลย์ ว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นหายนะครั้งใหญ่สำหรับเด็กๆ ในภูมิภาคนี้ โดยยังมีเยาวชนและครอบครัวจำนวนมากในเมืองมัณฑะเลย์ที่ยังสูญหาย เราต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ ซึ่งมักได้รับความทุกข์ทรมานมากที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดส่งเวชภัณฑ์เกือบ 3 ตันจากคลังสำรองฉุกเฉินในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ไปยังโรงพยาบาลในเมืองมัณฑะเลย์และเนปิดอว์ นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 ยังประกาศขอรับบริจาคเงิน 8 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปฏิบัติการที่เร่งด่วนในห้วงเวลา 30 วัน เพื่อใช้ในการดูแลผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์รุนแรง ป้องกันการระบาดของโรค และฟื้นฟูบริการที่จำเป็นซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
ไมเคิล ดันฟอร์ด (Michael Dunford) ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (WFP) ประจำเมียนมา กล่าวว่า หน่วยงานได้ดำเนินการแจกจ่ายอาหารฉุกเฉินครั้งแรกในกรุงเนปิดอว์เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 ซึ่งรวมถึงบิสกิตพลังงานสูง และกำลังจะยกระดับความช่วยเหลือ
ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.who.int/publications/m/item/who-flash-appeal--earthquake-response-in-myanmar
https://news.un.org/en/story/2025/03/1161716
043...
(รอยเตอร์) 31 มี.ค. 2568 เที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ทีมกู้ภัยยังคงดำเนินการค้นหาที่บริเวณอาคารที่ถล่ม หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี