31 มี.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Trump says reciprocal tariffs will target all countries อ้างคำกล่าวของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 ว่า ในวันที่ 2 เม.ย. 2568 ตนจะเปิดแผนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “วันแห่งการปลดปล่อย (Liberation Day)” และจะครอบคลุมทุกประเทศ ไม่ใช่แค่กลุ่ม 10 – 15 ประเทศที่มีการค้ากับสหรัฐฯ ไม่สมดุลมากที่สุดเท่านั้น โดยทรัมป์ได้กำหนดภาษีศุลกากรต่ออะลูมิเนียม เหล็ก และรถยนต์แล้ว รวมถึงเพิ่มภาษีศุลกากรต่อสินค้าทั้งหมดจากจีน
ก่อนหน้านี้ เควิน แฮสเซตต์ (Kevin Hassett) ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว เคยเปิดเผยกับสื่อว่า รัฐบาลจะเน้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 10 ถึง 15 ประเทศที่มีความไม่สมดุลทางการค้าเลวร้ายที่สุด แต่ไม่ได้ระบุรายชื่อ ซึ่งทรัมป์มองว่าการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเป็นวิธีการปกป้องเศรษฐกิจในประเทศจากการแข่งขันระดับโลกที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการต่อรองเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ากำลังสร้างความกังวลให้กับตลาดและสร้างความหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ
ทรัมป์กล่าวว่า ตนจะกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศต่างๆ ที่เรียกเก็บภาษีสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ โดยสัญญาว่าจะกำหนดอัตราภาษีให้เท่ากับที่ประเทศเหล่านั้นกำหนด โดยในเดือน ก.พ. 2568 ทรัมป์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ด้านการค้าของสหรัฐฯ เดินทางไปยังประเทศต่างๆ และจัดทำรายการมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า ตนอาจปรับลดแผนการตอบโต้ โดยอาจกำหนดอัตราภาษีศุลกากรในบางกรณีที่ต่ำกว่าอัตราที่ประเทศต่างๆ เรียกเก็บจากสหรัฐฯ
สำนักข่าวรอยเตอร์ ยังรายงานข่าว Trump says he is not joking about third presidential term ระบุว่า ในวันที่ 30 มี.ค. 2568 ทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC เปรยว่าตนอยากลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 3 แม้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จะไม่อนุญาตให้ทำได้ก็ตาม โดยย้ำว่าไมได้เป็นการพูดเล่นๆ แต่ก็ยอมรับว่ายังเร็วเกินไปที่จะคิดถึงเรื่องดังกล่าวในเวลานี้ โดยทรัมป์เพิ่งรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มี.ต. 2568 ถึงกระนั้น ทรัมป์บอกว่ามีวิธีที่สามารถทำได้ แต่ก็ไมได้ให้รายละเอียดว่าจะทำอย่างไร
ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 22 ได้กำหนดให้ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ โดยจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ นอกจากจะต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 จากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) แล้วยังต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ 3 ใน 4 จากทั้งหมด 50 มลรัฐของสหรัฐฯ
พันธมิตรของทรัมป์บางคนเสนอแนวคิดที่จะให้ทรัมป์อยู่ในทำเนียบขาวต่อไปหลังปี 2571 และประธานาธิบดียังเสนอแนวคิดนี้หลายครั้งในลักษณะที่ดูเหมือนจะเหน็บแนมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขา ทั้งนี้ ปัจจุบันทรัมป์มีอายุ 78 ปี ถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุด ณ ช่วงเวลาที่เข้ารับตำแหน่ง และจะอายุครบ 82 ปี หากดำรงตำแหน่งต่ออีก 4 ปีหลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2571
ย้อนไปในปี 2339 จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้วางหลักการเรื่องประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และกลายเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาจนถึงปี 2483 เมื่อ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าว และดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 3 สมัย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2488 หลังดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 4 ได้เพียงไม่กี่เดือน นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2494 เพื่อทำให้หลักการนี้ชัดเจนขึ้น
สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) ที่ปรึกษาคนสำคัญของทรัมป์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ NewsNation เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 ว่า ตนเชื่อว่าทรัมป์จะลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯอีกครั้งในปี 2571 ซึ่งตนและคนอื่นๆ กำลังหาวิธีที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ รวมถึงการตรวจสอบคำจำกัดความของข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี