วิกฤติมนุษยธรรม! ผู้รอดชีวิตแผ่นดินไหว‘เมียนมา’ขาดแคลนปัจจัยดำรงชีพทั้งอาหาร-น้ำ-ที่พัก-การแพทย์
1 เม.ย. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Survivors of Myanmar quake left without food, water and shelter, aid groups say ระบุว่า แม้จะรอดชีวิตจากแผ่นดินไหว แต่ขณะนี้ชาวเมียนมากำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำดื่มและที่พัก ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ยอดผู้เสียชีวิตในเมียนมาล่าสุดอยู่ที่มากกว่า 2,000 ราย โดยทีมกู้ภัยที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ได้พบเห็นความจำเป็นในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมหาศาล
ทีมงานของ คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (IRC) องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งลงพื้นที่เมืองมัณฑะเลย์ของเมียนมา เล่าว่า หลังจากเผชิญกับความหวาดกลัวจากแผ่นดินไหว ผู้คนเริ่มหวาดกลัวต่ออาฟเตอร์ช็อกและต้องนอนนอกบ้านบนถนนหรือในทุ่งโล่ง อย่างไรก็ตาม ในเมืองและเขตเมือง พื้นที่ปลอดภัยมีน้อย จำเป็นต้องมีเต็นท์อย่างเร่งด่วน เนื่องจากแม้แต่ผู้ที่บ้านเรือนยังคงอยู่ก็กลัวเกินกว่าจะกลับเข้าไปอยู่ในบ้าน อีกทั้งยังพบว่ายังมีผู้คนต้องการการดูแลทางการแพทย์ น้ำดื่ม และอาหารอย่างเร่งด่วน
หลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2564 ประเทศแห่งนี้ต้องเผชิญความรุนแรงจากสงครามกลางเมือง ซึ่งทำให้ความพยายามในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและไร้ที่อยู่อาศัยจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษของประเทศดังกล่าวมีความซับซ้อนมากขึ้น ในเมืองมัณฑะเลย์ ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าว่า ผู้คนต่างพยายามขุดร่างของผู้ถูกฝังใต้ซากปรักหักพังออกมาอย่างสิ้นหวัง เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์หรือทีมกู้ภัยเพียงพอ และคนในพื้นที่ก็ยังต้องระมัดระวังอาฟเตอร์ช็อกด้วย
“ผู้คนกลับเข้าไปในอาคารในเวลากลางวันแต่ก็ยังไม่กล้านอนในเวลากลางคืน ผู้คนยังคงนอนอยู่ข้างนอกและเริ่มป่วยเนื่องจากพื้นดินถูกแสงแดดส่องตลอดทั้งวัน ทำให้ร้อนอบอ้าว” ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์
สื่อของรัฐรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตในเมียนมาอยู่ที่ 2,065 ราย บาดเจ็บกว่า 3,900 ราย และสูญหายอย่างน้อย 270 ราย โดยรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศช่วงเวลาไว้อาลัยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ตั้งแต่วันจันทร์ แต่ความท้าทายของทีมกู้ภัยและบรรเทาทุกข์ คือการควบคุมอย่างเข้มงวดของคณะรัฐประหารต่อเครือข่ายการสื่อสาร รวมถึงความเสียหายต่อถนน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกิดจากแผ่นดินไหว
อีกด้านหนึ่ง แผ่นดินไหวดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปไกลถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย โดยในวันที่ 28 มี.ค. 2568 แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวทำให้อาคารแห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้างอยู่พังถล่มลงมา จนถึงขณะนี้ ทีมกู้ภัยก็ยังคงพยายามต่อไปเพื่อค้นหาสัญญาณผู้รอดชีวิต แม้จะผ่านไปเกือบ 4 วันแล้วก็ตาม มีการยืนยันผู้เสียชีวิต 13 รายที่บริเวณอาคาร และมีผู้สูญหายอีก 74 ราย ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมของไทย เปิดเผยผลการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งพบว่า ตัวอย่างเหล็กที่เก็บได้จากบริเวณอาคารที่ถล่มลงมามีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และรัฐบาลได้เริ่มการสอบสวนแล้ว
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
(รอยเตอร์) 31 มี.ค. 2568 ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา อาคารแห่งหนึ่งพังถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
(รอยเตอร์) 31 มี.ค. 2568 ที่เมืองสะกาย ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ผู้คนกำลังเข้าคิวรอรับสิ่งของบรรเทาทุกข์หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี