2 เม.ย. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Junta chief to leave quake-striken Myanmar for summit, aid groups clamour for access อ้างรายงานจากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมา (MRTV) ซึ่งเป็นสื่อของฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า รัฐบาลทหารได้ประกาศหยุดยิงชั่วคราวเป็นเวลา 20 วัน เพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว แต่ย้ำว่าพร้อมจะกลับมาสู้รบอีกครั้งหากกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านเปิดฉากโจมตี
นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในปี 2564 บรรดาผู้นำรัฐบาลทหารถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ขณะที่สถานการณ์สงครามกลางเมืองภายในประเทศก็กลับมารุนแรงอีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจและบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ รวมถึงบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้ แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษของเมียนมา สร้างความเสียหายกับพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของประชากร 28 ล้านคน อาคารบ้านเรือนพังถล่ม ชุมชนพังราบเป็นหน้ากลอง และผู้คนจำนวนมากไม่มีอาหาร น้ำดื่ม และที่พักพิง ขณะที่สื่อของรัฐบาลจีนรายงานโดยอ้างตัวเลขของทางการเมียนมา ว่ายอดผู้เสียชีวิตพุ่งเกิน 3,000 รายแล้ว
ในวันที่ 2 เม.ย. 2568 หน่วยงานบรรเทาทุกข์ให้ข้อมูลว่า ความเสียหายครั้งใหญ่และวิกฤติทางการแพทย์ในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมา ส่งผลให้โรงพยาบาลล้นมือ ยาขาดแคลน และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางน้ำเพิ่มมากขึ้น โดย โมฮัมเหม็ด รียาส (Mohammed Riyas) ผู้อำนวยการกาชาดสากลประจำเมียนมา กล่าวว่า ความต้องการด้านมนุษยธรรมนั้นเข้าขั้นน่าตระหนก
"อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่เราจะเข้าใจถึงขอบเขตความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ เนื่องจากเครือข่ายการสื่อสารขัดข้องและการคมนาคมขนส่งหยุดชะงัก ประชาชนต้องการการดูแลทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน น้ำดื่มสะอาด เต็นท์ อาหาร และสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ การจัดหาบริการด้านสุขภาพเพื่อช่วยชีวิตถือเป็นสิ่งสำคัญ” ริยาส กล่าว
มิคาเอล เดอ ซูซา (Mikhael De Souza) ผู้ประสานงานภาคสนามของหน่วยงานช่วยเหลือทางการแพทย์ MSF ในเมียนมาร กล่าวว่า ในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ อาคารประมาณ 500 หลังพังทลายลงมา และอีก 800 หลังได้รับความเสียหายบางส่วน ผู้คนจำนวนมากยังคงใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านในสภาพที่ย่ำแย่ และการขาดแคลนน้ำกำลังสร้างปัญหาต่อการดำรงชีวิตในทันที
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารทำให้ความพยายามด้านมนุษยธรรมล่าช้าลงโดยรักษามาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงบางแห่ง ในเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความท้าทายในการส่งมอบความช่วยเหลือในช่วงสงครามกลางเมือง รัฐบาลทหารกล่าวว่า กองกำลังของตนได้ยิงปืนเตือนหลังจากขบวนรถกาชาดจีนไม่สามารถหยุดรถได้ในขณะที่กำลังเดินทางในพื้นที่ขัดแย้ง ด้าน ซอ มิน ตุน (Zaw Min Tun) โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ชี้แจงว่า กลุ่มดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้ทางการทราบเกี่ยวกับการเดินทางของพวกเขา
จีนเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือเมียนมา โดยส่งทีมกู้ภัยไปช่วยเหลือในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดภัยพิบัติ และให้คำมั่นว่าจะมอบสิ่งของช่วยเหลือมูลค่า 100 ล้านหยวน (13.76 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 468 ล้านบาท) ซึ่ง กัวเจียคุน (Guo Jiakun) โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า ทีมกู้ภัยและสิ่งของช่วยเหลือปลอดภัย และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาดูแลความปลอดภัยของทีมกู้ภัย และเปิดเส้นทางการบรรเทาทุกข์ให้เปิดกว้างและไม่มีสิ่งกีดขวาง
ตามรายงานของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และองค์กรนิรโทษกรามสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) รัฐบาลทหารเมียนมายังคงเดินหน้าในภาวะสงครามท่ามกลางภัยพิบัติครั้งร้ายแรง โดยโจมตีทั้งทางอากาศและทางบกใกล้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อนึ่ง ในวันที่ 1 เม.ย. 2568 พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลทหารได้หยุดการโจมตีแล้ว แต่ฝ่ายต่อต้านกำลังวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากภัยพิบัติและเตรียมโจมตี ขณะที่ในวันเดียวกัน พันธมิตรหลักของกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ประกาศหยุดยิงเพื่อสนับสนุนความพยายามด้านสิทธิมนุษยชน
ข้อมูลที่ได้รับจากพื้นที่ต่างๆ เช่น เมืองสะกายในภาคกลางของเมียนมานั้นเป็นเรื่องยากมาช้านาน เนื่องจากรัฐบาลทหารได้สั่งระงับการใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง โดยกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวหลังจากเกิดแผ่นดินไหว นอกจากนั้น รัฐบาลทหารเมียนมายังได้ปฏิเสธคำขอจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ต้องการเข้าไปในพื้นที่เพื่อรายงานเกี่ยวกับความเสียหายจากแผ่นดินไหว โดยอ้างถึงการขาดแคลนน้ำ ไฟฟ้าและโรงแรม
ชายคนหนึ่งที่มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองสะกาย ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เล่าว่า ที่นั่นมีทหารประจำการอยู่ทุกที่ แต่ปฏิบัติการนั้นเน้นไปที่งานด้านความมั่นคง ไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือผู้คน มีการตรวจสอบรถที่จะเข้าไปทุกคัน ขณะที่หญิงอีกรายซึ่งอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ เล่าว่า แม้ว่าจะมีผู้คนจำนวนมากกลายเป็นคนไร้บ้าน และยังมีศพถูกทิ้งไว้ใต้ซากอาคารที่พังถล่ม แต่ทางการกลับกำลังสร้างเวทีสำหรับเตรียมงานเทศกาลน้ำติงจัน (Thingyan) ซึ่งเป็นเทศกาลเล่นสาดน้ำและฉลองปีใหม่ของชาวเมียนมา ในเดือนเมษายนของทุกปี (คล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย)
องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) เรียกร้องให้รัฐบาลทหารอนุญาตให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างอิสระ และยกเลิกข้อจำกัดที่ขัดขวางหน่วยงานช่วยเหลือ โดยระบุว่า ผู้บริจาคควรสามารถส่งความช่วยเหลือผ่านกลุ่มอิสระแทนที่จะส่งผ่านเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารเท่านั้น ซึ่ง ไบรโอนี เลา (Bryony Lau) รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ HRW กล่าวว่า ไม่สามารถไว้วางใจให้รัฐบาลทหารเมียนมาตอบสนองต่อภัยพิบัติระดับนี้ได้ และเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ กดดันรัฐบาลทหารให้อนุญาตให้เข้าถึงผู้รอดชีวิตได้อย่างเต็มที่และทันที ไม่ว่าผู้ประสบภัยเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย กรณีอาคารแห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้างในกรุงเทพฯ เกิดถล่มลงมาจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ล่าสุดในวันที่ 2 เม.ย. 2568 ความพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตยังคงดำเนินต่อไปแม้ผ่านมาแล้ว 5 วัน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมดังกล่างอยู่ที่ 15 ราย และมีผู้สูญหาย 72 ราย โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (Chadchart Sittipunt) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า มีการปรับเปลี่ยนแนวทางค้นหาผู้รอดชีวิต โดยกำลังขุดเส้นทางเพื่อให้ทีมกู้ภัยเข้าไปข้างในซากอาคารได้
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
(รอยเตอร์) 2 เม.ย. 2568 ที่เมืองสะกาย ประเทศเมียนมา ซึ่งใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว พระภิกษุสงฆ์นั่งและนอนพักอยู่ข้างอาคารที่ได้รับความเสียหายภายในบริเวณวัดหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี