3 เม.ย. 2568 นสพ.The Washington Times สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ Collapse of China-built Bangkok tower raises concerns about Belt and Road construction practices ระบุว่า กรณีอาคารซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย พังถล่มลงมาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา และเป็นอาคารแห่งเดียวที่ได้รับผลกระทบรุนแรงดังกล่าว ทำให้ยุทธศาสตร์ “1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt & Road Initiative หรือ BRI)” ของจีนในการสร้าง “การทูตละมุน (Soft Diplomacy)” กับนานาชาติถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดขึ้น
อาคารสูง 30 ชั้นซึ่งพังถล่มลงมาในประเทศไทย เผยให้เห็นสิ่งที่นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่าเป็นหลักฐานของการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เหล็กเส้นที่ถูกเปิดเผยในเหตุถล่มดูเหมือนจะหักเนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นปัจจัยทำให้อาคารที่บริษัทร่วมทุนระหว่างจีนกับไทยกำลังก่อสร้างให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของไทย พังทลายลงมาเหลือเพียงกองเศษหินขนาดใหญ่ ซึ่งเบื้องต้นยืนยันผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้แล้ว 15 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 72 ราย
แพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ตนได้ดูคลิปวีดีโออาคารถล่มจากหลายมุม ซึ่งจากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตนไม่เคยเห็นปัญหาแบบนี้มาก่อน ซึ่งต้องสืบสวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพราะงบประมาณส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไว้ และกำหนดเส้นตายของการก่อสร้างก็ถูกเลื่อนออกไป
แต่การสืบสวนเริ่มต้นด้วยภาพที่น่าประหลาดใจและน่าวิตกกังวล โดย 2 วันหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ปรากฏภาพของชาวจีน 4 คน พยายามขนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยได้ควบคุมตัว สอบปากคำก่อนจะปล่อยตัวไป จากนั้นสถานทูตจีนในกรุงเทพฯ และกระทรวงมหาดไทยของไทย ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ตึกถล่ม อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
“ภาพลักษณ์ของจีนในไทยมีความสำคัญต่อจีน ซึ่งแข่งขันกับสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการมาหลายทศวรรษเพื่อมีอิทธิพลต่อการทูต การเมือง เศรษฐกิจ และการทหารของไทย จีนส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยผ่านการศึกษา การลงทุน การท่องเที่ยว และความช่วยเหลือทางการเงิน” รายงานของ The Washington Times ระบุ
ทีมสืบสวนได้แยกเหล็กเส้นเสริมแรง 2 ประเภทออกจากเศษซากตึกที่ถล่ม เหล็กเส้นเหล่านี้คาดว่าจะใช้รองรับอาคารในขณะที่หุ้มด้วยเสาซีเมนต์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหว สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยได้ค้นพบว่าองค์ประกอบทางเคมี มวล และความแข็งแรงของเหล็กเส้นกลมนั้นดูเหมือนจะไม่ผ่านการทดสอบ ภาพที่สื่อท้องถิ่นของไทยรายงาน เผยให้เห็นให้เห็นชื่อยี่ห้อที่ประทับบนเหล็กเส้นที่ขุดออกมาจากซากอาคารซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัทผลิตเหล็กของจีน ขณะที่ชาวไทยบางส่วนคนไทยกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนต่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวที่ซับซ้อนของไทย ตลาดคอนโดมิเนียมและการก่อสร้างมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทประกันภัย และภาคส่วนอื่นๆ ได้รับผลกระทบนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แห่งนี้จะสูญเสียมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) จากแผ่นดินไหว ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองของไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ว่าอาคารสูงอย่างน้อย 30 แห่งในประเทศไทย ได้รับความเสียหายและถือว่าไม่สามารถอยู่อาศัยได้
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสัญญาก่อสร้าง แบบแปลน และวัสดุก่อสร้างว่าไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะแก้ไขปัญหาของตึกที่พังถล่มลงมา อีกทั้งยังมองเป็นเรื่อง “ตลกร้าย (Grim Irony)” เมื่ออาคารแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหว เป็นอาคารของหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีสัญญาปลอมและเรื่องไม่ชอบมาพากลต่างๆ เกิดขึ้นในโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ
“บริษัทร่วมทุนที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าว ฝั่งหนึ่งเป็นบริษัทในเครือ CREC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และเป็นหนึ่งในกิจการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทยและอาเซียน โดย CREC นั้นมีบทบาทในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาและขยายกิจการระหว่างประเทศที่กว้างขวางของจีน เช่น โครงการรถไฟเส้นทางมอมบาซา-ไนโรบีในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกที่วิ่งผ่านเคนยา รวมถึงโครงการในจีนเอง เช่น โครงการรถไฟเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ และเส้นทางชิงไห่-ทิเบต” รายงานของ The Washington Times กล่าว
CREC เป็นองค์กรที่เป็นเจ้าของโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนและได้ดำเนินโครงการอื่นๆ ในประเทศไทยแล้วเสร็จ รวมทั้งเส้นทางรถไฟสำหรับเชื่อมต่อสิ่งที่จะกลายเป็นเส้นทางความเร็วสูงที่เชื่อมต่อปักกิ่งและสิงคโปร์ผ่านกรุงเทพฯ นอกจากนี้ CREC ยังช่วยสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดินสายหนึ่งของกรุงเทพฯ และเสนอราคาสำหรับเส้นทางอื่นๆ ด้วย ซึ่งหน่วยงานของไทยทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร ตำรวจในส่วนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้เริ่มตรวจสอบอีกกว่า 10 โครงการในไทยที่อาจเชื่อมโยงกับบริษัทสัญชาติจีนดังกล่าว
ก่อนเกิดแผ่นดินไหว CREC ได้กล่าวถึงโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของไทยอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นโครงการก่อสร้างอาคารสูงแห่งแรกที่ดำเนินการในต่างประเทศ ซึ่ง ฟิลิป เจ. คันนิงแฮม (Philip J. Cunningham) นักวิจัยด้านการเมืองเอเชียในสื่อ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวและอาคารดังกล่าวพังถล่มลงมา CREC ได้ลบภาพและข้อมูลทุกอย่างของโครงการนี้ออกไปจากเว็บไซต์
ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์ , กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ขอบคุณเรื่องจาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/likesara/874664 เสียงสัญญาณพูด‘ช่วยด้วย’ ตอบรับจนท.จากโซนB‘ตึก สตง.’ถล่ม เร่งค้นหาผู้รอดชีวิต (มีคลิป)
https://www.naewna.com/local/874428 ศรต.ยผ.สั่งระงับใช้ 34 อาคาร เหตุได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว
(รอยเตอร์) 2 เม.ย. 2568 กรุงเทพฯ ประเทศไทย อาคารที่พังทลายลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมา
(กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2556 มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเร่งพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทำให้เกิดการเชิื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง สร้างโอกาสทางการค้า กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มช่องทางและโอกาสในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี