4 เม.ย. 2568 นิตยสาร Time สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว New Southeast Asia Survey Shows Greater Trust in the U.S. Than China This Year—but There’s a Catch อ้างรายงาน State of Southeast Asia Survey ฉบับล่าสุดของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยในสิงคโปร์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 ว่าด้วยมุมมองของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อชาติมหาอำนาจต่างๆ
รายงานดังกล่าวระบุถึงผลสำรวจซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างรวม 2,023 คน ครอบคลุม 10 ประเทศอาเซียน ในคำถามที่ว่า “คุณมั่นใจแค่ไหนว่าสหรัฐฯ และจีนจะทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อสันติภาพ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และธรรมาภิบาลของโลก” ซึ่งพบว่า ใน 10 ชาติอาเซียน ระดับความไว้วางใจที่มีต่อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42.4 เมื่อปี 2567 เป็น 47.2% ในปี 2568 และระดับความไม่ไว้วางใจลดลงจากร้อยละ 37.6 เป็นร้อยละ 33.0
แม้ว่าระดับความไว้วางใจที่มีต่อสหรัฐฯ ลดลงในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม แต่ความไว้วางใจที่มีต่อสหรัฐฯ ยังคงมากกว่าความไม่ไว้วางใจที่มีต่อสหรัฐฯ ใน 7 ใน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม แต่ในกรณีของสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย พบว่า 3 ประเทศนี้ความไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ มีมากกว่าความไว้วางใจ ขณะที่เมื่อปี 2567 ความไว้วางใจสหรัฐฯ มีมากกว่าความไม่ไว้วางใจในเพียง 5 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม
ในเวลาเดียวกัน ความไว้วางใจของประเทศต่างๆ ที่มีต่อจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในระดับความไว้วางใจเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ จากร้อยละ 24.8 ในปี 2567 เป็นร้อยละ 36.6 ในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามจากกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อยแสดงความไม่ไว้วางใจมากกว่าความไว้วางใจที่มีต่อจีน ความไว้วางใจที่มีต่อจีนนั้นสูงกว่าความไม่ไว้วางใจในประเทศเพียง 4 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว และไทย
แบบสำรวจประจำปีประกอบด้วยผู้ตอบแบบสอบถาม 5 ประเภท ได้แก่ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรนอกภาครัฐหรือผู้แทนสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคลากรขององค์กรระดับภูมิภาคหรือระหว่างประเทศ โดยให้น้ำหนักเท่ากันร้อยละ 10 แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยแต่ละประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงเท่าเทียมกันในการตัดสินใจของประชาคม
ผู้ตอบแบบสอบถามถูกถามเกี่ยวกับความไว้วางใจโดยใช้มาตราส่วน 5 ระดับ ได้แก่ "ไม่ไว้วางใจ" "มั่นใจเล็กน้อย" "ไม่มีความคิดเห็น" "มั่นใจ" และ "มั่นใจมาก" โดยความไม่ไว้วางใจจะคำนวณจากผลรวมของ "ไม่ไว้วางใจ" และ "มั่นใจเล็กน้อย" ในขณะที่ความไว้วางใจจะรวมถึง "มั่นใจ" และ "มั่นใจมาก"
ในคำถามที่ว่า หากอาเซียนถูกบังคับให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ หรือจีน พบว่า กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม หรือร้อยละ 52.3 ของผู้ตอบแบบสอบถามในภาพรวมของ 10 ชาติอาเซียน สนับสนุนสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามอาเซียน ร้อยละ 50.5 หรือ 7 ใน 10 ประเทศ สนับสนุนจีนมากขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม มีจำนวนน้อยลงที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในปี2568 เมื่อเทียบกับปี 2567
จาเอี๋ยนชง (Ja Ian Chong) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และนักวิชาการนอกประเทศของคาร์เนกีไชน่า กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของความต้องการระหว่างจีนและสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวทีสำหรับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้ง 2 ชาติ แม้จะมีความปรารถนาที่จะไม่เลือกข้างในภูมิภาคนี้ก็ตาม
ผลการสำรวจนี้เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3 ม.ค. – 15 ก.พ. 2568 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) กับ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) โดย ชง กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยุคไบเดนได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ในเอเชีย ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้สหรัฐฯ ยืนหยัดได้แม้ว่าประเทศต่างๆ จะเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของทรัมป์ก็ตาม
“มีการคาดการณ์ว่าการบริหารของทรัมป์สมัยที่ 2 จะคล้ายกับสมัยแรก ซึ่งไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจแบบเดิมของสหรัฐฯ มากนัก เศรษฐกิจหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการส่งเสริมจากการย้ายบริษัทออกจากจีนอันเนื่องมาจากสงครามการค้าในช่วงการบริหารของทรัมป์สมัยแรก” ชง กล่าว
ชารอน ซีห์ (Sharon Seah) นักวิจัยอาวุโสและผู้ประสานงานศูนย์การศึกษาอาเซียนของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak และเป็นหนึ่งในคณะผู้ทำงานสำรวจชิ้นนี้ กล่าวว่า การหันเหจากจีนกลับมาหาสหรัฐฯ ของชาติอาเซียนในปี 2568 น่าจะเกิดจากการที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการที่รัฐบาลทรัมป์เริ่มใช้มาตรการ "ยับยั้ง (Restraint)" กับจีน
ความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนอาจใช้พลังทางเศรษฐกิจและการทหารเพื่อคุกคามผลประโยชน์และอำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากความไม่ไว้วางใจจีนที่สูงกว่าในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่เคยมีเรื่องขัดแย้งโดยตรงกับจีนเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ แซงหน้าความกังวลเกี่ยวกับสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซาซึ่งนำไปสู่สงครามเมื่อปี 2567
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าผลลัพธ์ดังกล่าวอาจไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา โดย มาร์ก เอส. โคแกน (Mark S. Cogan) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสันติภาพและการศึกษาความขัดแย้งที่มหาวิทยาลัยคันไซไกไดของญี่ปุ่น กล่าวว่า แบบสำรวจมักจะมีอายุการใช้งานเมื่อทำการสำรวจ นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ยังไม่หยั่งรากลึก และปัจจุบันนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะผันผวนอย่างมาก
การที่ทรัมป์หยุดให้ความช่วยเหลือต่างประเทศเริ่มขึ้นในช่วงกลางของการสำรวจความคิดเห็น แต่ผลกระทบหลายอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมารและส่งผลกระทบถึงไทยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่ง ซีห์ ระบุว่า ผลกระทบในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชัดเจนขึ้นแล้ว ขณะที่ โคแกน ยังชี้ให้เห็นถึงการทำลายโครงการกำจัดทุ่นระเบิดในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจระหว่างประเทศเหล่านั้นกับสหรัฐฯ โดยโคแกนกล่าวว่า ความไว้วางใจดังกล่าวถูกกัดกร่อนลงแล้ว การฟื้นคืนความสัมพันธ์ดังกล่าวและการทำงานเพื่อสร้างความไว้วางใจอีกครั้งจะต้องใช้เวลานานมาก
ประเทศในอาเซียนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาษีศุลกากรแบบ “ตอบโต้” ของทรัมป์ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 โดยกัมพูชาเผชิญกับภาษีศุลกากรร้อยละ 49 ลาว ร้อยละ 48 เวียดนาม ร้อยละ 46 เมียนมาร ร้อยละ 44 ส่วนไทย อินโดนีเซีย บรูไน และมาเลเซีย ต่างเผชิญกับภาษีศุลกากรมากกว่าร้อยละ 20
ทั้งไทยและเวียดนามต่างก็พยายามสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ทั้งในสมัยรัฐบาลทรัมป์ชุดแรกและชุดที่สอง แต่โคแกนกล่าวว่า เนื่องจากจีนเพิ่มการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษทางการค้า ประเทศต่างๆ จึงอาจสงสัยว่ามีแรงจูงใจอะไรอีก นอกจากการแสวงหาหลักประกันที่มากขึ้นโดยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับจีนมากขึ้น โคแกนยังกล่าวด้วยว่า ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ มีโอกาสที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็บ่งชี้ว่ากำลังถอยกลับ
อย่างไรก็ตาม ซีห์ เตือนว่า อาจเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการขึ้นภาษีครั้งล่าสุดของทรัมป์จะมีผลกระทบอย่างไร เนื่องจากหลายประเทศกำลังเจรจากับสหรัฐฯ โดย ซีห์ กล่าวว่า ว่าจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Xi Jinping) นั้นคาดเดาได้ง่ายกว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ซึ่งอาเซียนรู้เส้นแบ่งของจีนและเข้าใจว่าระบบการปกครองของจีนทำงานอย่างไร ความกังวลที่สหรัฐฯ เสียสมาธิกับการเมืองภายในและไม่สามารถรับมือกับปัญหาโลกได้ ซึ่งการสำรวจพบว่าเป็นสาเหตุหลักของการไม่ไว้วางใจในอำนาจ
มหาอำนาจทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU) และอินเดีย พบว่าความไว้วางใจจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด และระดับความไว้วางใจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.9 เป็นร้อยละ 66.8 สหภาพยุโรปขึ้นมาเป็นอันดับสอง ตามด้วยสหรัฐฯ จีน และอินเดียตามลำดับ
ซีห์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นทำงานร่วมกับอาเซียนมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยญี่ปุ่นค่อยๆ สร้างความน่าเชื่อถือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อเวลาผ่านไป การมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องกับภูมิภาคนี้ในด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนก็ได้รับผลตอบแทน เช่นเดียวกับ โคแกน ที่กล่าวว่า สหรัฐฯ สามารถเรียนรู้จากแนวทางที่สม่ำเสมอและมั่นคงของญี่ปุ่นได้ เพราะบางครั้งอิทธิพลก็ไม่ได้มาจากปากกระบอกปืน แต่พบได้จากการสร้างความไว้วางใจ ความสามัคคีทางสังคม ความผูกพัน และชื่อเสียงที่สะสมมาาหลายสิบปี
ขอบคุณเรื่องจาก
https://time.com/7274803/southeast-asia-2025-survey-us-china-trust-asean-iseas-trump/
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี