6 เม.ย. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Rains add to challenge for Myanmar quake relief, toll at 3,471 อ้างรายงานล่าสดจากสื่อของทางการเมียนมา ที่ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในเมียนมาจากแผ่นดินไหวรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 28 มี.ค. 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 3,471 ราย ขณะที่ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บสะสมอยู่ที่ 4,671 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 214 ราย นอกจากนั้น หน่วยงานบรรเทาทุกข์ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ฝนที่ตกผิดฤดูและอากาศที่ร้อนจัดอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงอหิวาตกโรคในหมู่ผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวที่ตั้งค่ายพักพิงอยู่กลางแจ้ง
ทอม เฟล็ตเชอร์ (Tom Fletcher) หัวหน้าฝ่ายบรรเทาทุกข์ขององค์การสประชาชาติ (UN) ที่เดินทางลงพื้นที่เมียนมา บรรยายสิ่งที่พบเห็นไว้บนแพลตฟอร์ม X ว่า ครอบครัวต่างๆ นอนอยู่ข้างนอกซากปรักหักพังของบ้านของพวกเขา ขณะที่ร่างของคนที่รักกำลังถูกดึงออกมาจากซากนั้น ความกลัวต่อแผ่นดินไหวอีกครั้งนั้นมีอยู่จริง เราจำเป็นต้องจัดหาเต็นท์และความหวังให้แก่ผู้รอดชีวิตในขณะที่พวกเขาสร้างชีวิตที่แตกสลายของตนขึ้นมาใหม่ การดำเนินการที่เข้มแข็งและประสานงานกันเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยชีวิตผู้คนให้ได้มากที่สุด
เพื่อนบ้านของเมียนมา เช่น จีน อินเดีย และบรรดาชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นกลุ่มประเทศที่ส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์และทีมกู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือเมียนมาในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 28 ล้านคนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้บริจาคด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงินอย่างน้อย 9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 306 ล้านบาท) ให้เมียนมา เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งในปัจจุบันและอดีตกล่าวว่า การยุติโครงการช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการตอบสนองของสหรัฐฯ ดังการเปิดเผยของ มาร์เซีย หว่อง (Marcia Wong) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของ USAID 3 คน ซึ่งลงพื้นที่เมียนมาหลังเกิดเผ่นดินไหว ได้รับแจ้งว่าจะถูกเลิกจ้าง โดย หว่อง กล่าวว่า ทีมงานนี้ทำงานกันหนักมาก โดยมุ่งเน้นที่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นการได้รับข่าวการสิ้นสุดในหน้าที่การงานในเร็วๆ นี้ จะไม่ทำให้พวกเขาเสียขวัญกำลังใจได้อย่างไร
รัฐบาลทหารเมียนมาต้องดิ้นรนเพื่อบริหารประเทศนับตั้งแต่ปี 2564 ที่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของ อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากการรัฐประหารดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจและบริการพื้นฐาน รวมถึงการดูแลสุขภาพอยู่ในสภาพย่ำแย่ และยิ่งเลวร้ายลงจากแผ่นดินไหว ขณะที่สหประชาชาติ ชี้ว่าสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาตามมาทำให้ผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน เนื่องจากขาดแคลนอาหาร และประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
แม้จะมีการประกาศหยุดยิงในวันที่ 2 เม.ย. 2568 แต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) กล่าวเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2568 ว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังจำกัดความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ไม่สนับสนุนการปกครองของตน นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า กำลังสอบสวนรายงานการโจมตีโดยกองทัพของรัฐบาลทหารต่อฝ่ายตรงข้ามภายหลังการหยุดยิง
โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้ตอบรับสายที่โทรมาขอความเห็น ด้านกลุ่ม Free Burma Rangers ซึ่งเป็นกลุ่มบรรเทาทุกข์ กล่าวเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2568 ว่า กองทัพได้ทิ้งระเบิดในรัฐคะเรนนีและรัฐฉานช่วงวันที่ 3 – 4 เม.ย. 2568 แม้จะมีการประกาศหยุดยิงก็ตาม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย โดยเหยื่อรวมถึงพลเรือนด้วย ตามคำบอกเล่าของเดวิด ยูแบงก์ (David Eubank) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ซึ่งระบุว่ามีการโจมตีทางทหารในลักษณะดังกล่าวอย่างน้อย 7 ครั้งนับตั้งแต่มีการหยุดยิง
รายงานข่าวยังกล่าวด้วยว่า อีกด้านหนึ่ง ที่ประเทศไทย ยอดผู้เสียชีวิตจากอาคารในกรุงเทพฯ ที่กำลังก่อสร้างอยู่พังถล่มลงมาในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา ล่าสุดอยู่ที่ 17 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 77 ราย
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
(รอยเตอร์) 4 เม.ย. 2568 ที่อำเภออมรปุระ ประเทศเมียนมา พระพุทธรูปหักพังอยู่ภายในเจดีย์ที่ได้รับความเสียหายภายหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี