เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เผย มีประเทศต่างๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจาทางการค้ามากกว่า 50 ประเทศแล้ว ทั้งกัมพูชา เวียดนาม และอิสราเอล ขณะที่นายกฯ สิงคโปร์แถลงต่อประชาชนให้เตรียมรับมือแรงกระแทกจากมาตรการภาษี ยืนยันเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป ไม่สนทำตลาดหุ้นดิ่งและเสี่ยงเกิดสงครามการค้าโลก
เควิน แฮสเซตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของทำเนียบขาวสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ เอบีซี นิวส์ ว่า นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน จนถึงตอนนี้ มีมากกว่า 50 ประเทศแล้วที่ติดต่อมายังทำเนียบขาวเพื่อขอการเจรจาทางการค้า เชื่อว่าประเทศต่างๆ ทำแบบนั้น เพราะเข้าใจว่าพวกเขากำลังแบกรับกำแพงภาษีปริมาณมหาศาล ขณะที่ สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยืนยันกับสถานีโทรทัศน์ ซีบีเอส นิวส์ ว่า เขาไม่เห็นเหตุผลที่จะคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ขณะที่การเทขายของนักลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองระยะสั้นเท่านั้น ยืนยันรัฐบาลสหรัฐฯ จะเดินหน้ามาตรการภาษีแบบครอบคลุมดังกล่าวต่อไป
สำหรับประเทศที่เริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ ทันที เช่น กัมพูชาและเวียดนามต่อรองกับผู้นำสหรัฐฯ ลดภาษีสินค้านำเข้า โดย ฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งหนังสือถึงประธานาธิบดีทรัมป์ เสนอขอเจรจาและขอให้สหรัฐฯ พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีดังกล่าวออกไปก่อน กัมพูชาจะสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยจะลดภาษีศุลกากรของสินค้าจากสหรัฐฯ ใน 19 หมวดหมู่ จากอัตราภาษีสูงสุดร้อยละ 35 เหลือเพียงร้อยละ 5 ทันที ขณะที่เวียดนาม ภาคธุรกิจเดินหน้าประเมินผลกระทบจากกำแพงภาษีที่สูงถึงร้อยละ 46 ล่าสุด ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าได้พูดคุยกับ โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้รับการเสนอว่าจะลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือร้อยละ 0 หากสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยเวียดนามมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ติดอันดับต้นๆ ของโลก
ด้าน ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แถลงผ่านสุนทรพจน์ ความยาว 5 นาที ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และสิงคโปร์ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับแรงกระแทกที่อาจจะตามมาจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ซึ่งไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการละทิ้งระเบียบการค้าโลกโดยสิ้นเชิง แม้สิงคโปร์จะถูกเรียกเก็บภาษี 10% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุด หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่หากประเทศอื่นๆ ทำตาม ไม่เอาองค์การการค้าโลกและตั้งกำแพงภาษี จะนำไปสู่ปัญหา โดยเฉพาะกับประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ที่พึ่งพาการค้า
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และภริยา เดินทางออกจากกรุงบูดาเปสต์เมื่อวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) หลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี เตรียมพบหารือกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาวในวันจันทร์ (7 เม.ย.) เรื่องภาษีสินค้านำเข้าที่อิสราเอลจะถูกสหรัฐฯ เก็บเพิ่มอีกร้อยละ 17 ถือเป็นตัวแทนรัฐบาลประเทศแรกที่เดินทางมายังสหรัฐฯ เพื่อหารือกับทรัมป์โดยตรงเกี่ยวกับประเด็นนี้
อย่างไรก็ดี บางประเทศและดินแดนที่ได้รับผลกระทบเลือกใช้วิธีเจรจามากกว่าอย่างเช่น อินโดนีเซียกับไต้หวัน ที่ระบุว่า พวกเขาจะไม่บังคับใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทนต่อสหรัฐฯ แต่จะใช้วิธียกเลิกกำแพงทางการค้า และค่อยๆ เพิ่มการลงทุนและความร่วมมือในสหรัฐฯ แทน
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่แล้ว (2 เม.ย.) ทรัมป์ประกาศมาตรการเก็บภาษีพื้นฐาน (baseline tariff) ในอัตราร้อยละ 10 ต่อสินค้าทั้งหมดจากทุกประเทศที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ และจะเก็บภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) ต่อหลายสิบประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าด้วยมากที่สุด ในอัตราแตกต่างกันไป มาตรการภาษีของทรัมป์ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลที่อาจตามมา ทั้งดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ที่อาจพุ่งสูงขึ้น และมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ซึ่งจนถึงตอนนี้ มีจีนกับแคนาดาที่ประกาศมาตรการตอบโต้ออกมาแล้ว ขณะที่สหราชอาณาจักรก็กำลังพิจารณาจะตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี