9 เม.ย. 2568 สำนักข่าว ABC ของออสเตรเลีย เสนอรายงานพิเศษ Who is Trump adviser Peter Navarro and why is he feuding with Elon Musk? ว่าด้วยประวัติของ ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาทางการค้าซึ่งทำงานให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และว่ากันว่าเป็นผู้เสนอนโยบาย “กำแพงภาษี” ให้ทรัมป์ใช้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกจนปั่นป่วนไปทั่วทั้งในสหรัฐฯ และทั้งโลกในขณะนี้ กระทั่งล่าสุดเขาได้เปิดศึกกับ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐี ซีอีโอของ Tesla , SpaceX และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ X ซึ่งเข้าไปช่วยงานทรัมป์ด้านการจัดระเบียบและเพิ่มประสิทธิภาพงานภาครัฐในส่วนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (DOGE) เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องนโยบายดังกล่าว
ปีเตอร์ นาวาร์โร ปัจจุบันอายุ 75 ปี จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัฟต์ส และไปต่อจนได้วุฒิ ป.เอก ในด้านเดียวกันที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับความไว้วางใจจากทรัมป์ตั้งแต่สมัยแรกของการเป็นประธานาธิบดี โดยเวลานั้นทรัมป์แต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารสภาการค้าแห่งชาติที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และต่อมาเป็นสำนักงานนโยบายการค้าและการผลิต และเมื่อทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในสมัยที่ 2 ก็แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิต
นาวาร์โร เคยถูกจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน เนื่องจากปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามหมายเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่สอบสวนเหตุการณ์กรณีเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์บุกโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งเวลานั้น ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับ โจ ไบเดน (Joe Biden) ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต จึงต้องเว้นวรรคทางการเมืองไป 4 ปี โดยไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกปล่อยตัว นาวาร์โรได้กล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุมใหญ่แห่งชาติของพรรครีพับลิกันในเมืองมิลวอกี ซึ่งเขาได้รับเสียงปรบมือจากฝูงชนเป็นเวลานาน
ยังมีเรื่องอื้อฉาวในปี 2562 นาวาร์โรถูกจับได้ว่าอ้างถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่จบจากฮาร์วาร์ดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนังสือที่ไม่มีอยู่จริง จากหนังสือที่เจ้าตัวตีพิมพ์ 13 เล่ม ผู้เชี่ยวชาญอย่างรอน วารา (Ron Vara) ได้ปรากฏตัวในฐานะเสียงแห่งภูมิปัญญาด้านเศรษฐศาสตร์ใน 6 เล่ม รวมถึงในหนังสือ Death By China ของเขาในปี 2554 จนกระทั่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ได้สืบสวนเพิ่มเติม ความจริงจึงถูกเปิดเผยว่า วาราเป็นตัวตนที่แต่งขึ้น โดยชื่อรอน วารา เป็นอักษรผสมของชื่อของนาวาร์โร
เทสซา มอร์ริส-ซูซูกิ (Tessa Morris-Suzuki) นักวิชาการจาก ANU ที่ออกมาเปิดโปงเรื่องดังกล่าวในปี 2562 เล่าว่า ตนค้นพบเรื่องนี้โดยบังเอิญระหว่างทำการวิจัยเพื่อเขียนบล็อกเกี่ยวกับวาทกรรมต่อต้านจีน ซึ่งคำพูดบางส่วนของวาราที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มหนึ่งนั้นน่ากังวลมาก จึงได้ลองค้นหาชื่อของเขาใน Google และโทรศัพท์ไปสอบถามที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อยืนยันว่าเขาเป็นนักศึกษาที่นั่น และได้รับรู้จากทาง ม.ฮาร์วาร์ด ว่าไม่มีบันทึกประวัติการเข้าเรียนของรอน วารา
เมื่อเรื่องนี้แดงขึ้นมา นาวาร์โรก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด แต่ก็ให้นิยามการกระทำของตนเองว่าเป็น “กลอุบายที่ประหลาด (Whimsical Device)” พร้อมกับแก้ตัวว่านั่นเป็นเพียง “นามปากกา (หรือนามแฝง)” เพื่อแสดงความคิดเห็นและเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อเท็จจริง แถมเจ้าตัวยังทำให้ดูเป็นเรื่องเบาๆ ขำๆ อีกต่างหากด้วยการบอกว่า เป็นการทบทวนว่ามีคนในที่สุดก็สามารถไขเรื่องตลกภายในที่แอบซ่อนอยู่ในที่แจ้งชัดได้เสียที ขณะที่ จาเร็ด มอนด์เชน (Jared Mondschein) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่ United States Studies Centre กล่าวว่า นาวาร์โรใช้อักษรผสมเพื่อแสดงถึงใครบางคนที่เห็นด้วยกับวาระของเขา
ปีเตอร์ นาวาร์โร ถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่กระตือรือร้นที่สุดในการคงภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไว้ในระยะยาว แผนการค้าของเขาเป็นพื้นฐานสำหรับครึ่งหนึ่งของบทใน Project 2025 ซึ่งเป็นแนวทางนโยบายที่เผยแพร่โดย Heritage Foundation ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยแนวอนุรักษ์นิยม นาวาร์โรเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันเล็งเป้าไปที่ประเทศที่ค้าขายได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ค่อนข้างมากและใช้ภาษีนำเข้าสินค้าที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน อินเดีย ไทย ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU)
ในวันที่ 2 เม.ย. 2568 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ (หรือเช้ามืดของวันที่ 3 เม.ย. 2568 ตามเวลาประเทศไทย) ทรัมป์ได้ประกาศมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแบบชุดใหญ่ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น “วันปลดปล่อย (Liberation Day)” ทั้ง 7 ชาติและอีก 1 กลุ่มภูมิภาค/ทวีปข้างต้นที่นาวาร์โรหมายหัวขึ้นบัญชีไว้ ล้วนเจอมาตรการดังกล่าวอย่างถ้วนหน้า เช่น เวียดนามโดนไปอัตราร้อยละ 46 หรือ EU ที่อัตราร้อยละ 20 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แผนกำแพงภาษีของนาวาร์โรซึ่งพุ่งเป้าไปที่การปิดกั้นสินค้าจากจีน ได้ทำให้ “สงครามการค้า” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น โดยเมื่อจีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ที่อัตราร้อยละ 34 ทรัมป์ก็ตอบโต้กลับไปอีกด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากจีนที่อัตราร้อยละ 104 ทั้งนี้ มอนด์เชน กล่าวว่า แนวทางของนาวาร์โรเป็นที่ทราบกันดีมานานหลายทศวรรษ ซึ่งไม่ใช่แนวทางแบบเดิมๆ และแม้นาวาร์โรจะเรียนจบจากฮาร์วาร์ด แต่ตนก็ไม่รู้จักนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ที่จบจากฮาร์วาร์ดแล้วเห็นด้วยกับชายผู้นี้เลย
ถึงกระนั้น มอนด์เชน ก็มองว่า หากใครจะคิดว่าไอเดียเรื่องกำแพงภาษีมาจากนาวาร์โรเพียงคนเดียวก็คงจะผิดไปหน่อย เพราะจริงๆ แล้ว ทรัมป์เองก็คงคิดเดียวกันด้วย เพราะแม้ทรัมป์จะมีเรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่ไม่สม่ำเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่สม่ำเสมอสำหรับเขาแน่ๆ คือเรื่องการค้า กล่าวคือ แม้นาวาร์โรจะมอบประสบการณ์ด้านนี้ให้กับทรัมป์มากกว่า แต่ถึงจะไม่มีนาวาร์โร ทรัมป์ก็คงเดินหน้าต่อไปอยู่ดี
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า นโยบายภาษีศุลกากรที่ทรัมป์ใช้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูการผลิตของสหรัฐฯ และเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ แต่กลับทำให้ตลาดได้รับผลกระทบและทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเกิดความไม่แน่นอน กระทั่งล่าสุดกลายเป็นวิวาทะระหว่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร และอีลอน มัสก์ ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นทีมงานระดับคนสนิท หรือ “วงใน” ของทรัมป์
กำแพงภาษีที่ถูกเรียกว่าเป็นวันปลดปล่อยตามการประกาศของทรัมป์ ถือเป็นชัยชนะทางนโยบายของนาวาร์โร ซึ่งสนับสนุนมาตรการนี้โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการผลิตในสหรัฐฯ แต่ ไม่นานหลังจากนั้น มัสก์ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X ว่า การได้รับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ดเป็นเรื่องแย่ ไม่ใช่สิ่งที่ดี ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงวุฒิการศึกษาของนาวาร์โร
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ของสหรัฐฯ นาวาร์โร พาดพิงถึงมัสก์ ที่พูดถึงเรื่องแนวคิด “ภาษีเป็นศูนย์” ว่า ไม่น่าแปลกใจเมื่อพิจารณาจากบทบาทของมัสก์ในฐานะคนในวงการรถยนต์ ซึ่งเมื่อพูดถึงภาษีศุลกากรและการค้า ทุกคนในทำเนียบขาวเข้าใจดีว่ามัสก์เป็นผู้ผลิตรถยนต์ อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วมัสก์ไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์ (Manufacturer) แต่เป็นเพียงผู้ประกอบรถยนต์ (Assembler) ต่างหาก ดังนั้นมัสก์จึงต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ราคาถูกจากต่างประเทศ
ซึ่งเมื่อมัสก์ทราบเรื่องก็ไม่พอใจ มีการออกมาตอบโต้โดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรงกับนาวาร์โรว่า “คนโง่อย่างแท้จริง (truly a moron)” และยังล้อเลียนเรื่องอื้อฉาวกรณีนามปากกา รอน วารา ของนาวาร์โรอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 เม.ย. 2568 ตามเวลาสหรัฐฯ แคโรไลน์ ลีวิตต์ (Karoline Leavitt) โฆษกทำเนียบขาว ได้กล่าวถึงวิวาทะของทั้ง 2 คนว่า มีมุมมองที่แตกต่างกันเรื่องนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มๆ เขา และเราก็จะปล่อยให้พวกเขาถกเถียงกันต่อหน้าสาธารณชนต่อไป
แต่การทะเลาะกันภายในรัฐบาลทรัมป์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด อย่างที่ มอนด์เชน กล่าวว่า ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรกของทรัมป์ มีการทะเลาะวิวาทกันมาก และที่น่าแปลกใจก็คือการทะเลาะกันอย่างเปิดเผยใช้เวลานานขนาดนี้
ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์
ขอบคุณเรื่องจาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/inter/876183 2ทีมงานคนสนิท‘ทรัมป์’ซัดกันนัว! วิวาทะ‘มัสก์-นาวาร์โร’เห็นต่างเรื่องกำแพงภาษี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี