วิเคราะห์เจาะลึก"เลือกตั้งเมียนมา" ชำแหละ"เบื้องหลัง-ความหวัง"รบ.ทหาร ปูทางสู่"รัฐบาลผสม"ที่กองทัพยังคุมเกม
รัฐบาลทหารเมียนมาเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 โดยการประกาศจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2568 - ต้นปี 2569 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีการออกแบบที่ค่อนข้างพิสดารจากความคุ้นชินเดิมๆ คือจะจัดการเลือกตั้งเป็น 2 ขยักใหญ่ 4 ขยักย่อย
แม้ว่าเมียนมาจะเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ หากแต่ในมุมมองของนักวิชาการธรรมศาสตร์ (มธ.) ยังเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่สะดุด นั่นเพราะกองทัพเมียนมามีการเตรียมการและการหวังผลทางการเมืองไว้แล้ว
--- แผ่นดินไหวไม่กระทบเลือกตั้งเมียนมา ---
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. มั่นใจว่า แม้ประเทศเมียนมาจะเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนเป็นอย่างมาก แต่จะไม่กระทบต่อกำหนดการหรือไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาในช่วงเดือนธันวาคมนี้และต้นปี 2569 อย่างแน่นอน นั่นเพราะรัฐบาลต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อสร้างการยอมรับจากนานาประเทศและลดแรงกดดันจากประชาคมโลก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมียนมาผ่านการเลือกตั้งนั้น เชื่อว่ายังจะเป็นไปในลักษณะที่กองทัพพม่าสามารถควบคุมและจัดการได้ โดยสิ่งที่กองทัพเมียนมาต้องการให้เกิดขึ้นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยพหุพรรคแบบมีระเบียบวินัย’ ที่แม้ว่าจะมีการแข่งขันจากหลากหลายพรรคการเมือง แต่จะไม่มีพรรคการเมืองใดที่โดดเด่นขึ้นมามากจนสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จได้ กล่าวคือจะต้องไม่เป็นเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ภายใต้การนำของ นางอองซาน ซูจี ในอดีต
“หากย้อนกลับไปศึกษาวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารเมียนมา จะพบว่าแม้ในปี 2551 เมียนมาจะถูกพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มจนเกิดความเสียหายรุนแรง แต่ทว่ารัฐบาลในเวลานั้นก็ยังคงเดินหน้าจัดให้มีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกองทัพต่อไป และนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งในปี 2553 ฉะนั้นเชื่อได้ว่าเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อไทม์ไลน์ในการจัดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว
--- คลายความตึงเครียด แต่ไม่คลายความขัดแย้ง ---
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาการเมืองเชิงเปรียบเทียบหลายประเทศรอบโลก พบว่าการเลือกตั้งสามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และสร้างผลประโยชน์ให้แก่บางฝ่ายทางการเมืองได้ในหลายๆ กรณี ฉะนั้นการเลือกตั้งของเมียนมาในช่วงปลายปีนี้ก็จะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดยืดเยื้อที่ดำเนินมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 ลงได้บ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะถูกคลี่คลายลงทั้งหมด
“หากจะคิดอยู่บนฐานที่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการปิดเกมส์ที่จะสามารถยุติได้ทุกอย่างก็คงจะไม่ใช่ และการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่พอเพียงที่จะช่วยระงับความขัดแย้งได้ เพราะหากจะยุติความขัดแย้งจริงๆ ยังคงมีภาระงานอื่นๆ ที่ต้องทำอีกมาก ทั้งการพัฒนากระบวนการสันติภาพ และแก้ไขเรื่องพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาในประเทศนี้ แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้แรงตึงเครียดจากความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อและยังไม่ปรากฏผู้แพ้ผู้ชนะอย่างชัดเจนเสียที ผ่อนคลายลงไปได้บ้าง” รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าว
--- หวังรัฐบาลผสมลดทอนกำลังฝ่ายต่อต้าน ---
รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาคาดการณ์จากการเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ ฝ่ายที่ต่อต้านจะถูกผ่าออกเป็น 2 ซีก หมายความว่าจะมีบางกลุ่มของฝ่ายต่อต้านที่เปลี่ยนใจยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้และยืนข้างกองทัพ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายต่อต้านที่เหลืออยู่มีพลังน้อยลง กองทัพต้องการที่จะให้เกิดรัฐบาลผสม ไม่ใช่แบบที่ NLD เคยทำ อาจจะเป็นพรรค USDP ของกองทัพผสมกับพรรคขนาดกลางของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยอมรับการเลือกตั้ง เป็นการปกครองที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยแต่ทหารยังมีอำนาจอยู่ต่อไปได้
มากไปกว่านั้น หากฝ่ายต่อต้านคือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่ผนึกกำลังร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ต้องการที่จะสกัดการเลือกตั้งในครั้งนี้เพราะมองว่าเป็นการฟอกขาวให้กับกองทัพเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง ฝ่ายต่อต้านอาจจะต้องยกระดับยุทธศาสตร์ในการยึดครองพื้นที่หรือเมืองที่สำคัญให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ก่อนจะถึงการเลือกตั้งปลายปีนี้ เพื่อสร้างเขตปลดปล่อย และสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ เพื่อเป็นศูนย์บริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล NUG
สิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดอำนาจในการบริหารประเทศสองศูนย์ที่จะแข่งขันกัน หนึ่งศูนย์นั้นจะอยู่ที่เนปิดอว์ ซึ่งเป็นของรัฐบาลทหารเมียนมา และอีกศูนย์อาจจะอยู่ที่มัณฑะเลย์หรือมาเกว ที่ฝ่ายต่อต้านยึดไว้ได้ แล้วก็ปักหลักการดำเนินนโยบายสาธารณะแข่งกับรัฐบาลกองทัพ หากทำเช่นนี้ได้จะทำให้ฝ่ายต่อต้านมีอำนาจในการแบ่งอธิปไตยในประเทศเมียนมาได้ และจะส่งผลให้ได้รับการยอมรับ (Recognize) จากเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งการที่ฝ่ายต่อต้านจะทำเช่นนี้ได้ จะต้องมีศักยภาพและความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่
--- เบื้องหลังการจัดเลือกตั้ง 2 ขยักใหญ่ 4 ขยักย่อย ---
เมื่อถามว่ารัฐบาลทหารเมียนมา จะจัดการเลือกตั้งปลายปีนี้ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะรัฐบาลทหารควบคุมพื้นได้เพียงราวครึ่งหนึ่งของประเทศเท่านั้น รศ.ดร.ดุลยภาค ให้ความเห็นว่า หากนับระยะเวลาตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปลายปี หากยังไม่มีการยกระดับยุทธศาสตร์ใดๆ จากฝ่ายต่อต้าน ก็มีแนวโน้มอย่างสูงที่ฝ่ายกองทัพจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้
ทั้งนี้ หากดูการวางกลยุทธ์ในการเลือกตั้ง ที่ถูกแบ่งวันเลือกตั้งออกเป็น 4 ครั้ง คือ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนธันวาคมปีนี้ และในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมปีหน้า การแบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 2 ขยักใหญ่ 4 ขยักย่อยแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมา และหลายประเทศก็ไม่มีใครเขาทำกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามหรือกฎหมายใดๆ เช่นกัน ซึ่งเป็นเทคนิคทางกลยุทธ์ที่ใส่เข้าไปในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้
“ที่มาของกลยุทธ์เหล่านี้คาดว่ามาจากกตัวชี้วัดสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้คือทาวน์ชิป ที่เปรียบเสมือนตำบลของไทย ซึ่งในเมียนมามีทาวน์ชิปอยู่ทั้งหมด 330 ทาวน์ชิป ที่เป็นบ่อเกิดของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภา 330 ที่นั่ง ดังนั้นจึงต้องมาวัดกันว่าฝ่ายต่อต้านหรือกองทัพ จะสามารถควบคุมทาวน์ชิปได้มากกว่ากัน ซึ่งขณะนี้ฝ่ายต่อต้านยึดครองไว้ได้เพียง 80–90 ทาวน์ชิป ส่วนที่เหลืออยู่ในการยึดครองของทหารเมียนมา ซึ่งนับจากนี้ไปก็ยังสามารถลุ้นได้ระดับนึงว่า หากกองทัพได้อาวุธเสริมความแข็งแกร่งจากรัสเซีย และเบลารุส จะทำให้กองทัพมีศักยภาพในการยึดคืนทาวน์ชิปมาได้เพิ่มเติม ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งมากขึ้นไปอีก” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว
ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง อาจทำให้ฝ่ายกองทัพสามารถเลือกจุดยุทธศาสตร์และเปิดให้มีการเลือกตั้งในพื้นที่และจำนวนทาน์ชิปที่ตนได้เปรียบก่อน แล้วค่อยๆ ทยอยช่วงชิงพื้นที่อื่นๆ มาเป็นระลอกๆ สิ่งเหล่านี้คือการข่มขวัญในเชิงจิตวิทยาเพื่อสร้างโมเมนตัมและบรรยากาศที่ดีในการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายกองทัพ ทั้งต่อบริบทภายในประเทศ และการยอมรับจากประชาคมโลก ซึ่งจะทำให้ผู้นำทหาร สามารถเก็บสะสมจำนวนทาวน์ชิปได้มากพอที่จะทำให้ตั้งรัฐบาลได้ในท้ายที่สุด
--- กองทัพนำ 110+56 เสียง ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ---
มากไปกว่านั้น ฝ่ายกองทัพยังคงมีความได้เปรียบด้วยจำนวนเสียงที่มีอยู่เดิม จากรูปแบบทางการเมืองที่มี ส.ส. ซึ่งเป็นทหาร และมาจากการแต่งตั้งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมีสัดส่วนถึง 25% ของสภา นั่นหมายความว่าหากการเมืองเลือกตั้งในครั้งนี้ คะแนนจากทาวน์ชิปไม่เป็นไปตามที่กองทัพหวัง ก็ยังคงมีตัวช่วยจาก ส.ส. ทหารที่กักตุนไว้ถึง 25% จนสามารถนำไปสู่การเปิดสภาได้เช่นกัน
รศ.ดร.ดุลยภาค ขยายความต่อไปว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ในเมียนมามีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ‘การเลือกตั้งสภาประชาชน’ ซึ่งจะเป็นการเลือกแบบระบบแบ่งเขต และ ‘การเลือกตั้งสภาชนชาติ’ ซึ่งคล้ายคลึงกับ สว. ของไทยสำหรับการเลือกตั้งสภาประชาชน มีจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 440 ที่นั่ง ซึ่ง 330 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งในทาวน์ชิปทั่วทั้งประเทศ ส่วนอีก 110 ที่นั่ง มาจากการแต่งตั้งของทหารเมียนมา นั่นหมายความว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย มีสต็อกอยู่ในมือแล้ว 110 คน
นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งการเลือกตั้งสภาชนชาติซึ่งมีที่นั่งทั้งหมด 224 ที่นั่ง และแน่นอนว่า มินอ่องลายก็มีตุนอยู่ในกระเป๋าโดยการแต่งตั้งไว้แล้วถึง 56 ที่นั่งเช่นกัน ส่วนอีก 168 มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเลือกด้วยระบบสัดส่วน นี่คือโควตาที่สร้างความได้เปรียบให้กองทัพ
“การกำหนดวันเลือกตั้งออกเป็น 4 ขยัก มันจะมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางการเมืองที่รัฐบาลทหารเมียนมาต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งให้มีทั้งการเลือกแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน เพื่อนำไปสู่รัฐบาลแบบผสม ที่กองทัพยังคงมีอำนาจนำ ไม่เกิดกรณีซ้ำรอยอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับพรรค NLD ซึ่งเป็นผู้ชนะเพียงพรรคเดียว แต่ให้เป็นรัฐบาลผสม แบบประชาธิปไตยพหุพรรคแบบมีระเบียบวินัย ดังที่กล่าวไปตอนต้น” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว
--- ความสัมพันธ์ชายแดนต่างจากเดิมไม่มาก ---
เมื่อถามอีกว่า หากการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้จริงตามที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศไว้ จะส่งผลดีต่อปัญหาความมั่นคงบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ได้บ้างหรือไม่ รศ.ดร.ดุลยภาค ให้ความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมืองและกลุ่มอำนาจของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรมากในบางจุด แต่ในบางจุดก็อาจจะส่งผลกระทบ
“ยกตัวอย่างพื้นที่ที่อยู่ตรงข้ามกับ จ.ตาก ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของมาเฟียท้องถิ่น อย่างกองกำลังกะเหรี่ยงต่างๆ เช่น KNU DKBA และกองกำลัง BGF ของ พ.อ.หม่อง ชิตตู ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ว่าในหมู่บ้านของพื้นที่ DKBA ยังไม่ได้มีการสำรวจสำมะโนประชากร หรือไม่มีรายชื่อของผู้มีสิทธิ์การเลือกตั้ง ตามข้อมูลทางการของเมียนมา นั่นหมายความว่าคงมีบางพื้นที่ ที่ทางการของเมียนมาจงใจปล่อยปละละเลยไปจริงๆ ดังนั้น ถ้ามันไม่ได้มีสถาบันทางการเมืองใหม่เกิดขึ้นในขอบเขตพื้นที่ชายแดน ยังคงเป็นผู้มีอำนาจเดิมๆ ที่ครองพื้นที่ การคาดหวังว่าปัญหาต่างๆ อย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะหมดไป มันจึงยังไม่ได้สัมพันธ์การเลือกตั้งมากนัก” รศ.ดร.ดุลยภาค ให้ภาพ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี