10 เม.ย. 2568 (ปักกิ่ง, ซินหัว) การค้นพบล่าสุดจากตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) ของจีนนำกลับมายังโลก เผยให้เห็นว่าชั้นแมนเทิลหรือชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์ในบริเวณด้านไกล มีน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับด้านใกล้ ซึ่งบ่งชี้ว่าซีกด้านไกลของดวงจันทร์ที่มักหันออกจากโลกนั้นมีแนวโน้มแห้งแล้งกว่ามาก
งานวิจัยใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์จีนที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 พบว่าชั้นหินหนา 1 กรัมข้างใต้พื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 2 ไมโครกรัม ซึ่งต่ำที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา โดยงานวิจัยตัวอย่างจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ก่อนหน้านี้พบว่าความเข้มข้นของน้ำอาจสูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อกรัม
หูเซิน ศาสตราจารย์จากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่าความเข้มข้นของน้ำในการศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้อยู่ที่ 1-1.5 ส่วนต่อล้านส่วน แม้แต่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดบนโลกยังมีน้ำอยู่ราว 2,000 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่พบบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์กว่าพันเท่า
ชุมชนวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าดวงจันทร์ก่อตัวขึ้นเมื่อวัตถุขนาดเท่าดาวอังคารพุ่งชนโลกเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ซึ่งเหตุการณ์การพุ่งชนที่ร้อนจัดนี้อาจทำให้น้ำและสารอินทรีย์ระเหยอื่นๆ บนดวงจันทร์หมดไป ขณะช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันว่าปริมาณน้ำในชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์มีอยู่มากหรือน้อย และการประมาณการที่เผยแพร่ทั้งหมดล้วนได้มาจากตัวอย่างด้านใกล้ของดวงจันทร์
ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ลงจอดที่แอ่งขั้วใต้-เอตเคนของดวงจันทร์ และกลับมายังโลกตอนปลายเดือนมิถุนายนพร้อมกับตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเป็นครั้งแรก จำนวนกว่า 1,935 กรัม
หูระบุว่าตัวอย่างดวงจันทร์ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มีน้ำหนัก 5 กรัม ประกอบด้วยอนุภาค 578 อนุภาคที่มีขนาดตั้งแต่ 0.1-1.5 มิลลิเมตร อนุภาคเหล่านี้ถูกนำมาคัดแยกและเลือกด้วยมืออย่างระมัดระวัง โดยร้อยละ 28 เป็นเศษหินบะซอลต์ ตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้สามารถตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของน้ำในชั้นเนื้อดาวด้านไกลของดวงจันทร์
ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้เพียงด้านเดียวเท่านั้น เนื่องจากดวงจันทร์ใช้เวลาในการหมุนรอบตัวเองหนึ่งครั้งเท่ากับที่โคจรรอบโลกหนึ่งรอบ นักวิทยาศาสตร์จึงแบ่งดวงจันทร์ออกเป็นสองซีก ได้แก่ ด้านที่หันเข้าหาโลกเสมอ (ด้านใกล้) และด้านที่หันออกจากโลกเสมอ (ด้านไกล)
หลายฝ่ายเชื่อว่าด้านไกลของดวงจันทร์แตกต่างจากด้านใกล้มาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งความแตกต่างในโครงสร้างทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศ องค์ประกอบทางเคมี และความหนาของเปลือกดาว ขณะที่หูและทีมงานมองว่าความแตกต่างด้านปริมาณน้ำภายในดวงจันทร์ที่เพิ่งค้นพบนี้อาจให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดวงจันทร์
หูกล่าวว่าปริมาณน้ำในหินบนดวงจันทร์มีบทบาทสำคัญในการทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของดวงจันทร์ เพราะหากชั้นหินมีความเข้มข้นของน้ำสูงถึง 200 ส่วน ก็อาจท้าทายสมมติฐานที่ว่าดวงจันทร์เกิดจากผลกระทบการพุ่งชน และนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องเสนอแบบจำลองใหม่เพื่อสำรวจจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของดวงจันทร์ อย่างไรก็ดี การศึกษาใหม่นี้เผยว่าปริมาณน้ำในดวงจันทร์ยังคงต่ำกว่าเกณฑ์ 200 ส่วนนี้ จึงสนับสนุนทฤษฎีการพุ่งชนในปัจจุบัน
จีนมีแผนดำเนินภารกิจเกี่ยวกับดวงจันทร์หลายภารกิจ ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานถาวรบนดวงจันทร์และการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ก่อนปี 2030 โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าผลการศึกษาใหม่ยังมีนัยสำคัญต่อภารกิจการสำรวจในอนาคต เนื่องจากน้ำบนดวงจันทร์เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในระยะยาว
(ภาพจากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน : ผลการวิจัยตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่นำกลับมาโดยยานฉางเอ๋อ-6 แสดงให้เห็นว่าชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์ในบริเวณด้านไกลนั้นแห้งแล้งกว่าในด้านใกล้)
043..
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี