19 เม.ย. 2568 สำนักข่าวออนไลน์ Jakarta Globe ของอินโดนีเซีย รายงานข่าว Indonesia Warns Job Seekers Against Accepting Jobs Offers in Cambodia, Myanmar, and Thailand ระบุว่า อับดุล กาเดร์ การ์ดิง (Abdul Kadir Karding) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคุ้มครองแรงงานข้ามชาติของอินโดนีเซีย ได้ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2568 ให้ประชาชนระมัดระวังการหางานทำในต่างประเทศ โดยระบุประเทศที่มีความเสี่ยง คือเมียนมา กัมพูชาและไทย โดยเฉพาะโฆษณาประกาศหางานที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์
“อินโดนีเซียไม่มีข้อตกลงการจัดหางานให้กับแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นทางการกับทั้ง 3 ประเทศ หากคุณได้รับข้อเสนองานจากประเทศเหล่านี้ โปรดใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นหลายกรณี เราจำเป็นต้องมีการตระหนักรู้ของสาธารณชนที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้มากขึ้น” อับดุล กล่าว
คำเตือนของ รมว.คุ้มครองแรงงานข้ามชาติอินโดนีเซีย อ้างถึงปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาส หลังเกิดกรณีการเสียชีวิตของชาวอินโดนีเซีย 2 คน คือ อิห์วาน ซาหับ (Ihwan Sahab) จากเมือง Bekasi และ ริซัล ซัมเปอร์นา (Rizal Sampurna) จากเมือง Banyuwangi ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำงานอย่างผิดกฎหมายในกัมพูชา โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ไม่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลกัมพูชา จึงเป็นไปได้ที่ทั้งคู่ลักลอบเข้าไปในกัมพูชาและหางานทำที่นั่น
การสอบสวนของรัฐบาลกัมพูชา ระบุว่า ริซัล เดินทางเข้ากัมพูชาในเดือน ต.ค. 2567 กระทั่งในวันที่ 13 มี.ค. 2568 ได้ติดต่อครอบครัวของเขาที่เมือง Banyuwangi เล่าว่าถูกบังคับให้เข้าร่วมขบวนการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมกับโพสต์ภาพที่มือทั้งสองข้างถูกใส่กุญแจมือ ต่อมาในวันที่ 6 เม.ย. 2568 เพื่อนร่วมงานได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของริซัลห้ครอบครัวทราบ แต่ไม่มีการจัดเตรียมเอกสารหรือหลักฐานภาพถ่ายใดๆ ซึ่ง อับดุล กล่าวว่า กำลังประสานงานกับสถานทูตอินโดนีเซียในกัมพูชาเพื่อนำร่างของริซัลกลับสู่อินโดนีเซีย
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า อิห์วาน ประสบอุบัติเหตุและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในกัมพูชาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2568 และเสียชีวิตหลังจากนั้น 9 วันจากการบาดเจ็บที่ศีรษะและมีเลือดออกภายใน ตามบันทึกทางการแพทย์ที่สถานทูตอ้างอิง ร่างของเขาถูกฝังในกัมพูชาโดยได้รับความยินยอมจากครอบครัว แต่การที่สถานทูตยอมรับว่าไม่สามารถระบุตัวนายจ้างของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ทำให้ความพยายามในการดำเนินคดีมีความซับซ้อนมากขึ้น
ในเดือน มี.ค. 2568 ภายใต้การสนับสนุนของทางการจีนและไทย ชาวอินโดนีเซีย 550 คน ได้เดินทางกลับบ้านหลังจากถูกกังขังอยู่ในฐานปฏิบัติการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา คนเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ “งานสบายรายได้ดี” โดยอ้างว่ามีงานให้ทำในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้หลอกลวงผู้อื่นทางออนไลน์
ปฏิบัติการร่วมระหว่างทางการจีน ไทย และกองกำลังติดอาวุธในเมียนมา ทำให้ผู้คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 7,700 คน ได้รับอิสรภาพ ซึ่งคนเหล่านี้ถูกกักตัวในฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ภายในเมืองเมียวดีของเมียนมา ขณะที่ข้อมูลของทางการอินโดนีเซีย พบว่า ช่วงปี 2563 -2566 มีชาวอินโดนีเซียมากกว่า 4,700 คนได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากฐานปฏิบัติการของอาชญากรรมไซเบอร์ข้ามชาติ ที่ตั้งอยู่ในเมียนมา กัมพูชา ลาวและเวียดนาม
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี