23 เม.ย. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Trump looking at cutting US drug prices to international levels, sources say อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว 2 ราย ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กำลังหาแนวทางลดราคายารักษาโรคที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ลงมาโดยอิงจากราคาในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ
แหล่งข่าวรายแรกกล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลแจ้งกับตนโดยตรงว่ากำลังพิจารณานโยบายดังกล่าว พร้อมกับอธิบายว่าเป็นลำดับความสำคัญระดับกลางของรัฐบาลทรัมป์ เนื่องจากพยายามลดราคาขายยา แหล่งข่าวทั้งสองรายยังกล่าวด้วยว่า นโยบายนี้สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมมากกว่าการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งรวมถึงภาษีนำเข้ายา โดยแหล่งข่าวรายแรกกล่าวว่านโยบายนี้เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุด
ตามบันทึกของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปี 2568 กลุ่มการค้าอุตสาหกรรม PhRMA พยายามล็อบบี้ต่อรัฐสภาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งบางครั้งเรียกว่าการกำหนดราคาอ้างอิงระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ชาวอเมริกันมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคแพงที่สุดในโลก และโดยเฉลี่ยคือแพงกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 3 เท่า ทำให้ทรัมป์ต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการอย่างไร
ย้อนไปในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก (ปี 2560 – 2563) ทรัมป์เคยเสนอโปรแกรมราคาอ้างอิงระหว่างประเทศ แต่แนวคิดของเขาถูกศาลสั่งระงับ ข้อเสนอที่ครอบคลุมของทรัมป์ในเวลานั้น รัฐบาลของเขาคาดการณ์ว่าจะช่วยให้ผู้เสียภาษีประหยัดเงินได้มากกว่า 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลา 7 ปี และส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคในสหรัฐฯ ต่อปีลดลงกว่า 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งข่าวรายแรกกล่าวว่า ตนไม่คิดว่ารัฐบาลเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่านโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อนวัตกรรมในสหรัฐฯ อย่างไร ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการดูแลสุขภาพทั้งหมด ไม่ใช่แค่ยาเท่านั้น พร้อมกับกล่าวด้วยว่า ตนคาดหวังว่าหน่วยงาน Medicare จะเปิดตัวโครงการนำร่อง หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวว่าพวกเขากำลังทดสอบข้อเสนอเกี่ยวกับราคาของยาบางอย่าง อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาว กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ (HHS) ซึ่งกำกับดูแล Medicare รวมถึง PhRMA ไม่ได้ตอบรับการขอให้แสดงความคิดเห็น
การกำหนดราคายาและโครงการนำร่องอื่นๆ มักจะดำเนินการภายในศูนย์นวัตกรรมของศูนย์บริการ Medicare และ Medicaid หรือที่เรียกว่า CMMI และสามารถขยายเวลาได้หลายปีสำหรับ Medicare, Medicaid หรือทั้งสองอย่าง ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่ได้พูดถึงแนวคิดการกำหนดราคาอ้างอิงต่อสาธารณะตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง แต่สถาบันวิจัยแนวอนุรักษ์นิยม America First Policy Institute ได้เสนอแนวคิดดังกล่าว ในเอกสารที่เผยแพร่กันอย่างแพร่หลายเมื่อเดือน มี.ค. 2568 ระบุว่านโยบายดังกล่าวสามารถนำไปปฏิบัติได้ภายในการเจรจาราคายาของ Medicare
ในยุคสมัยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden , ปี 2564 - 2567) มีการออกกฎหมายว่าด้วยการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถต่อรองราคายาที่มีราคาแพงที่สุดได้ อย่างไรก็ตาม ราคาของยาตามใบสั่งแพทย์ 10 รายการแรกที่เจรจาต่อรองยังคงสูงกว่าราคาเฉลี่ย 2 เท่า และในบางกรณีสูงกว่าราคาที่ผู้ผลิตยาตกลงกันในประเทศรายได้สูงอีก 4 ประเทศถึง 5 เท่า ตามที่สำนักข่าวรอยเตอร์เคยรายงานก่อนหน้านี้
ยาละลายลิ่มเลือดที่ขายดีที่สุดอย่าง Eliquis จากบริษัท Bristol Myers Squibb มีราคาขายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 606 เหรียญสหรัฐ (ราว 2 หมื่นบาท) สำหรับปริมาณยาใช้ 1 เดือน ซึ่งแม้รัฐบาลของไบเดนจะเจรจาราคาให้ลดลงมาเหลือ 295 เหรียญสหรัฐ (ราว 1 หมื่นบาท) สำหรับ Medicare ซึ่งจะใช้ตั้งแต่ปี 2569 แต่ก็ยังแพงกว่าในต่างประเทศ เช่น ในสวีเดนอยู่ที่ 114 เหรียญสหรัฐ (ราว 3,900 บาท) และในญี่ปุ่นอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐ (ราว 680 บาท)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คำสั่งฝ่ายบริหารด้านการดูแลสุขภาพของทรัมป์ไม่มีการกำหนดราคาอ้างอิง แต่ผู้วิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่าการสั่งให้รัฐบาลจัดหายาที่ Medicare ครอบคลุมในราคาที่เหมาะสมกว่านี้อาจเปิดประตูสู่การใช้นโยบายดังกล่าว ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ารัฐบาลของทรัมป์จะต้องเผชิญกับอุปสรรคในการดำเนินการตามข้อเสนอที่จำกัด อาทิ แอนนา คัลเทนโบค (Anna Kaltenboeck) นักเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพจาก Verdant Research กล่าวว่า Centers for Medicare & Medicaid Services มีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด และการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติอาจต้องใช้กำลังคนจำนวนมากพอสมควร ซึ่งจะประสบปัญหาในการระดมกำลังคน
แผนการเลิกจ้างหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐบาลทรัมป์หลายแห่งรวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน Medicare ประมาณ 300 คนจากทั้งหมด 10,000 คนที่ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ (Robert F. Kennedy Jr.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าไว้ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่อีก 10,000 คนที่ลาออกหลังจากตัดสินใจซื้อกิจการและเกษียณอายุก่อนกำหนด ตามรายงานของ HHS ซึ่ง คัลเทนโบค มองว่า รัฐบาลของทรัมป์จะเผชิญกับความท้าทายในการพยายามนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติในวงกว้างมากขึ้น
เรนา คอนติ (Rena Conti) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ในสหรัฐฯ มียาที่ได้รับการอนุมัติแล้วหลายพันชนิด ซึ่งบางชนิดไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองหรือยังไม่ได้วางจำหน่ายในประเทศอ้างอิงต่างๆ ซึ่งบางครั้งประเทศเหล่านั้นอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการเจรจาต่อรองราคาของยา
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA) เมื่อปี 2565 พบว่า จากการเก็บข้อมูลยาใหม่เกือบ 600 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติในสหรัฐฯ หรือเยอรมนี พบร้อยละ 92 มีจำหน่ายในสหรัฐฯ ในขณะที่ร้อยละ 80 มีจำหน่ายในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม บางประเทศไม่เปิดเผยราคายาที่จ่าย ซึ่ง คอนติ กล่าวว่า รัฐบาลสามารถประมาณราคายาได้โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ไม่นับส่วนลดเพิ่มเติมที่รัฐบาลเหล่านั้นเจรจากันไว้ ทั้งนี้ ผู้ผลิตยาอาจตอบสนองโดยการเจรจาสัญญาใหม่กับประเทศอ้างอิงเพื่อขึ้นราคา เพิ่มมาตรฐานราคาในสหรัฐฯ และสร้างรายได้ที่สูงขึ้นในต่างประเทศ
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี