คำว่า “อีกา” บางคนจะคิดไปว่าเป็นตัวนำโชคร้ายหายนะมาสู่ ชาวนาไม่ค่อยชอบหน้าผมสักเท่าใด กล่าวหาผมว่าไปทำลายนาข้าว จึงทำหุ่นไว้ไล่ผมอยู่ตามนา ธรรมชาติสร้างผมให้เป็นนกที่มีความเฉลียวฉลาด แต่เป็นความฉลาดแกมโกง มักก้าวร้าว อวดเบ่ง เจ้าคิดเจ้าแค้นมีความประพฤติไม่ค่อยดี เผลอเมื่อไรก็จะเข้ามาขโมยอาหารไปกินอย่างไม่เกรงใจเลยทีเดียว จึงได้ฉายาว่า “ไอ้ดำหัวขโมย” ผมเคยถูกมนุษย์เอาตะเกียบเคาะหัวโทษฐานขโมยขาไก่ย่างไปกิน ทำให้ผมอับอายและแค้นมากจึงแอบมาคาบเอาเศษกระดูกก้อนใหญ่ บินขึ้นไปเกาะยืนบนต้นไม้สูงให้ตรงกับเป้านิ่งที่เป็นศัตรู แล้วปล่อยกระดูกชิ้นนั้นลงมาแม่นทีเดียวถูกหัวศัตรูดังโป้ก ยังไม่พอต้องบินลงมาทำท่าก้มหัวพองขน ส่งสายตาที่ดุดันจ้องมอง เดินส่ายอาดๆ เข้าหาพร้อมกับขึ้นเหยียบไหล่จิกตีซ้ำ และส่งเสียงร้องดัง กา..กา..กา..จนสาแก่ใจจึงบินหนีไป แต่ก็ใช่ว่าผมจะมีนิสัยที่แย่ๆ เสียทีเดียว ใจผมนั้นไม่ดำเหมือนชื่อ บ่อยครั้งผมจะถูกหลอกให้เลี้ยงลูกเจ้ากาเหว่าที่มาไข่ทิ้งไว้ในรังอยู่เสมอ นอกจากนี้ผมยังสามารถเลียนเสียงคนและนกชนิดอื่นได้ ทุกวันนี้ผมได้รับความเอ็นดูจากท่านๆ เอาผมไปเลี้ยงไว้ก็แค่พูดว่า “สวัสดีครับคนสวย” และต่อด้วย “คุณพี่ครับผมหิวข้าวจัง” เท่านั้นเองชีวิตผมเปลี่ยนจากกาเป็นหงส์ทันที
อีกา Large-billed Crow เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยและรู้จักกันดี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Corvus macrorhynchos จัดอยู่ในวงศ์ย่อยอีกา (Corvidae) มีทั้งหมด 11 ชนิดด้วยกัน คือ นกกาน้อยหงอนยาว (Crested Jay) นกปีกลายสก๊อท (Eurasian Jay) นกสาลิกาเขียวหางสั้น (Eastern Magpie) นกสาลิกาเขียว (Green Magpie) นกขุนแผน (Blue Magpie) นกกะลิงเขียด (Rufous Treepie) นกกะลิงเขียดสีเทา (Grey Treepie) นกกาแวน (Racket-tailed Treepie) นกกาน้อยแถบปีกขาว (Black Magpie) และอีกา (Large-billed Crow)
อีกาวัดขนาดความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 50-52 ซม. ทั้งลำตัวขนสีดำเป็นเงาเหลือบน้ำเงิน ปากใหญ่ ปากบนงอโค้งลง หน้าผากตรงโคนปากมีขนสั้นๆ ฟูชัน ดวงตาสีน้ำตาลเข้มออกดำ มีปีกกว้างใหญ่ หางยาวปลายหางมน ขาและเท้าใหญ่สีดำ ที่หน้าแข้งขาเป็นเกล็ด ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน
โดยทั่วไปเราจะพบเห็นอีกาได้บ่อยทั่วทุกภาค จากที่ราบไปจนถึงบนภูเขาสูง ในเขตพื้นที่เกษตรกรรม ป่าต่างๆ ตามชนบทและในเมืองพื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาศัยหากินอยู่ตามถังขยะในสวนสาธารณะ กินอาหารทุกอย่างที่หาได้ เช่น ผลไม้สุก แมลง ตัวหนอน ข้าวสุก กบ เขียด กิ้งก่า ไข่นกบางชนิด และซากสัตว์ อีกาชอบนำอาหารที่หาได้มาหมกซ่อนไว้ตามซอก โพรงต้นไม้ ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน นกทั้งสองเพศจะช่วยกันสร้างรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่ รังทำด้วยกิ่งไม้วางทับซ้อนอย่างหยาบๆ ตรงกลางเป็นแอ่ง มีขนนกรองก้นรัง วางไข่ 4 - 6 ฟอง ไข่สีเขียวอมฟ้า มีลายขีดสีน้ำตาล ใช้เวลาในการกกไข่ 15-20 วัน เนื่องจากไข่อีกามีสีคล้ายกับไข่นกกาเหว่า จึงทำให้เจ้ากาเหว่าแอบมาเขี่ยไข่ของอีกาทิ้งไป 1-2 ฟอง แล้ววางไข่ตัวเองไว้แทน 1 ฟอง แม่กาที่ออกไปหาอาหารกลับมาที่รังไม่รู้เรื่องก็หลงกกไข่กาเหว่าจนเป็นตัวและเลี้ยงลูกนกกาเหว่าไปจนโต เห็นว่ารูปร่างลักษณะผิดแปลกไปจากตน จึงรู้ว่าไม่ใช่ลูกของตัวเอง นกชนิดนี้กฏหมายจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ปัญจพร ศรีบุญช่วย
ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี