กรุงเทพมหานครยุคนี้กำลังตกอยู่ภายใต้สภาวการณ์การแย่งชิงพื้นดินเพื่อก่อสร้างอาคารสูงระฟ้า นายทุนทั้งไทยและเทศต่างจับจ้องเฝ้ามองที่ดินย่านทำเลทองเพื่อจะเข้าไปครอบครองให้จงได้ นายทุนบางรายกว้านซื้อที่ดินเก็บไว้ราวกับว่าต้องการจะกินรวบกรุงเทพมหานครไว้แต่เพียงผู้เดียว ด้วยเหตุผลที่ว่า การได้ครอบครองที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ ก็เท่ากับครอบครองขุมทรัพย์ที่ประเมินค่ามิได้ไปโดยปริยาย แต่การครอบครองที่ดินเพียงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของเมือง คือการทำลายมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ
ที่ดินทำเลทองได้แก่ย่านสีลม สาทร สุริวงศ์ และรอบๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่เหล่านี้เปรียบเสมือนขุมทองคำหรือเหมืองเพชร ที่ดินในย่านดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจะมีสวนสาธารณะแห่งใหม่เกิดขึ้น เพราะทุกตารางนิ้วจะกลายเป็นตึกสูงเสียดฟ้า อนิจา! กรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นป่าคอนกรีตที่แห้งแล้ง ปราศจากธรรมชาติ ไร้สิ้นซึ้งต้นไม้ใหญ่ที่คอยให้ความร่มเย็น
นี่คือกรุงเทพฯ ในยุคมหาเศรษฐีไร้สำนึกสาธารณะกำลังไล่ล่ากว้านซื้อที่ดินอย่างบ้าคลั่ง และเอาเป็นเอาตาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กรุงเทพฯ ในอนาคตจะเป็นเช่นไร ตึกเก่าที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์จะหลงเหลือได้อย่างไร ในอีกไม่ช้ากรุงเทพฯ คงไม่มีตึกโบราณให้เห็นอีกแล้ว
หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์
หนึ่งในอาคารเก่าแก่ที่มีความสูง 2 ชั้น สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยคือ อาคารไทยลายทอง ถนนสุรวงศ์ อาคารนี้กำลังตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีข่าวว่าอาจถูกทุบทำลายรื้อทิ้งในอนาคตอันใกล้ แต่บางกระแสก็เห็นว่า คณะกรรมการบริหารสภากาชาดไทยชุดปัจจุบันคงจะไม่ทำลายอาคารหลังนี้ เพราะผู้ทรงมอบที่ดินผืนนี้ให้สภากาชาดไทยก็คือ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์
อาคารไทยลายทองตั้งอยู่ใกล้ปากทางถนนสุริวงศ์ ติดโรงแรมมณเฑียร อาคารนี้เป็นที่สะดุดตาของผู้พบเห็น เพราะหลังคาเป็นรูปแบบซ้อนลดหลั่นสามชั้น มีหน้าบันเป็นรูปเทวดาลวดลายสีทอง มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ดูเผิน ๆ หลายคนอาจนึกว่าเป็นโบถส์หรือวิหารในพุทธศาสนา
ผู้ออกแบบอาคารไทยลายทองคือ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ครูช่างสถาปัตยกรรมไทย ท่านผู้นี้คือผู้ออกแบบ เขียนแบบ และควบคุมการก่อสร้างที่ประทับในพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ (ร่วมกับหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร) และตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ รวมถึงพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทจำลอง ซึ่งนำไปแสดง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยได้รับการชื่นชมอย่างมากจากนานาชาติ แล้วยังออกแบบเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ที่ใช้ในการพระราชพิธีพระศพตราบจนปัจจุบัน (อันที่จริงแล้วท่านได้ออกแบบอาคารในประเทศไทยอีกมากมาย แต่ขอยกตัวอย่างมาประกอบ ณ ที่นี่โดยสังเขปเท่านั้น)
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณยังออกแบบตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่ง หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ได้ประทานเงินในการก่อสร้างทั้งหมด หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีคือพระธิดาใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ พระราชโอรสลำดับที่ 63 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบัว
ตึกหน้าอาคารไทยลายทอง อาคารสีขาวด้านหลัง คือ โรงแรมมณเฑียร,หมู่ตึกหลังคาสีแดง คือ อาคารไทยลายทอง
ความเป็นมาของอาคารไทยลายทอง
หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีทรงเห็นว่าประเทศไทยในยุคสมัยที่ท่านทรงยังมีพระชนม์อยู่นั้น บ้านเรือนต่างๆ มักจะสร้างโดยลอกเลียนแบบกันโดยทำเป็นห้องแถวที่ไม่มีความสวยงาม ทั้งๆ ที่ไทยมีสถาปัตยกรรมอันเป็นแบบฉบับของตน แต่การสร้างอาคารที่คงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโดยแท้ก็อาจจะทำได้โดยไม่ง่ายนัก เพราะต้องอาศัยฝีมือช่างชั้นสูง และต้องลงทุนมาก ท่านทรงต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยไว้ให้คงอยู่ เพื่อให้คนไทยได้ภาคภูมิใจ และชาวต่างชาติได้เห็นว่าสถาปัตยกรรมไทยที่แท้จริงนั้นสามารถใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวัน
ครั้งหนึ่งเมื่อท่านเสด็จกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีทรงสังเกตเห็นว่าฝรั่งเศสยังคงรักษาสถาปัตยกรรมของตนเองไว้ได้อย่างดี สถาปัตยกรรมแบบบาร็อก (Baroque) ในกรุงปารีสสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกไปเที่ยวกรุงปารีสได้มากมายมหาศาล ดังนั้นประเทศไทยก็น่าจะต้องมีอาคารที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบไทยปรากฏอยู่ในเขตพระนคร โดยอาคารที่ว่านี้จะต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง มิใช่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเพียงอนุสาวรีย์เท่านั้น
ดังนั้นเมื่อท่านเสด็จกลับจากกรุงปารีสถึงประเทศไทย ท่านจึงทรงให้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณออกแบบอาคารตึกไทยลายทอง แล้วได้ทรงทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2508 ระหว่างท่านกับบริษัท ตันตกิตติ์ จำกัด โดยให้ก่อสร้างโรงแรมชั้นหนึ่งและอาคารไทยลายทอง
ข้อความหนึ่งในสัญญาระบุชัดว่า “ผู้ให้เช่าตกลงต่อไปอีกว่า ภายหลังที่ได้ก่อสร้างโรงแรมและอาคารดังกล่าวเสร็จแล้ว หากผู้เช่ามีความจำเป็นและเห็นสมควรจะรื้อส่วนหนึ่งส่วนใดลงเพื่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่นหรือปลูกสร้างเพิ่มเติมอีก ถ้าการนั้นเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นและไม่ทำให้โรงแรมและอาคารลดขนาดหรือคุณภาพลง ก็ให้ผู้เช่าทำได้ทั้งสิ้น”
นี่คือส่วนหนึ่งของความตั้งพระทัยที่หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีทรงมีต่ออาคารไทยลายทอง บัดนี้แม้กาลเวลาจะผ่านผันเลยล่วงไป แต่ความตั้งพระทัยของท่านมิเคยเสื่อมคลายไป ท่านทรงต้องการให้อาคารไทยลายทองเป็นสิ่งปลูกสร้างที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมชั้นสูงของไทย
คณะกรรมการสภากาชาดไทยคงได้รับรู้ถึงความในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และคงจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้อาคารไทยลายทองนี้ดำรงอยู่ต่อไปตามพระประสงค์ของหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ผู้ทรงบริจาคที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารนี้ให้กับสภากาชาดไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี